คนของโลก : อี คุน ฮี ผู้นำ “ซัมซุง” สู่บริษัทระดับโลก

อีคุน ฮี ประธานบริษัทซัมซุงเพิ่งเสียชีวิตไปด้วยวัย 78 ปี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เปลี่ยนผ่านบริษัท “ซัมซุง” ให้กลายเป็นบริษัทระดับโลกอย่างทุกวันนี้

อีแม้จะเป็นประธานบริษัทผู้สันโดษไม่ค่อยปรากฏตัวในที่สาธารณะเท่าใดนัก แต่ก็มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เฉียบคม

อีเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารซัมซุง หลังจากอี บยุง ชุล พ่อผู้ก่อตั้งบริษัทซัมซุงเสียชีวิตในปี 1987 จากนั้นอีก็เริ่มต้นปรับภาพลักษณ์บริษัทที่ถูกมองว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพต่ำในทันที

ในปี 1983 อีประกาศกับพนักงานว่า “เรามาเปลี่ยนทุกอย่าง ยกเว้นภรรยาและลูกของพวกเรากัน”

 

เหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนด้านภาพลักษณ์ของซัมซุง เริ่มต้นจากการที่ประธานอีตัดสินใจใช้พนักงานบริษัทราว 2,000 คน สวมผ้าคาดหน้าผากที่เขียนคำว่า “คุณภาพต้องมาก่อน” ใช้ค้อนทุบทำลายโทรศัพท์มือถือที่ผลิตในยุคนั้นจำนวนกว่า 150,000 เครื่อง ก่อนโกยไปเผาทำลายทิ้งทั้งหมดจนไม่เหลือซาก

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนคำประกาศจุดเริ่มต้นเพื่อนำคำว่า “คุณภาพ” ให้อยู่คู่กับแบรนด์ให้ได้ ก่อนนำไปสู่การเปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่น Anycall สมาร์ตโฟนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรุ่นหนึ่งของซัมซุง

ไม่นานจากนั้น อีสั่งสินค้าเทคโนโลยีจีนเข้ามาจัดแสดงที่อาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทเพื่อเตือนสติพนักงานให้รู้ว่า จีนมีเทคโนโลยีการผลิตที่ไล่ตามมาเร็วเพียงใด เพื่อย้ำเตือนว่าหากหยุดพัฒนาเมื่อใดซัมซุงจะตกเป็นผู้ตามในทันที

จากนั้นซัมซังก็ทะยานกลายเป็นบริษัท “แชร์โบล” ยักษ์ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศเกาหลี จากซากปรักหักพังจากสงครามไปสู่การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลกได้

ขณะที่ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ในเวลานี้กลายเป็นผู้พัฒนาและผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ สมาร์ตโฟน และจอแอลซีดีชั้นนำของโลกไปแล้ว

 

อีบยุง ชุล ผู้ก่อตั้งบริษัทซัมซุงที่เดิมเป็นบริษัทส่งออกปลาและผลไม้ ก่อนจะผันตัวมาผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและธุรกิจการก่อสร้าง มีอี คุน ฮี เป็นลูกชายคนที่ 3

อีเติบโตและเริ่มต้นชีวิตวัยเรียนตั้งแต่อายุ 11 ปีในประเทศญี่ปุ่น จบมหาวิทยาลัยวาเซดะ มหาวิทยาลัยชั้นนำในญี่ปุ่น ก่อนจะจบปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

อีก้าวขึ้นเป็นรองประธานบริษัทลูกของซัมซุงที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างและการนำเข้าส่งออกด้วยวัยเพียง 36 ปี ก่อนจะกลายเป็นประธานกลุ่มบริษัทซัมซุงในอีก 9 ปีต่อมา หลังจากพ่อเสียชีวิตลง

ชีวิตการบริหารบริษัทของอีต้องด่างพร้อยเมื่อในปี 1996 อีถูกตัดสินให้มีความผิดฐานจ่ายสินบนให้กับโร แท อู อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เพื่อให้ออกนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์กับบริษัทซัมซุง

นอกจากนี้ อียังถูกตัดสินให้มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์และเลี่ยงภาษี ในงบประมาณอื้อฉาวเมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคดีศาลตัดสินให้รอลงอาญา ทำให้ไม่ต้องรับโทษจำคุก และในเวลาต่อมา อีก็ได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีเกาหลีใต้ 2 ครั้ง

และนำซัมซุงในการเป็นผู้นำเพื่อคว้าสิทธิการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวให้เกาหลีใต้ได้ในปี 2018 ที่ผ่านมา

 

แม้อีจะไม่ชอบออกสื่อจนได้รับฉายาว่า “ราชาผู้สันโดษ” แต่การออกมากล่าวถ้อยแถลงต่อพนักงานบริษัทแต่ละครั้งก็จะได้รับการจับตามองเสมอ โดยเฉพาะการเข้าประชุมกับผู้ใต้บังคับบัญชา รวมไปถึงการให้สัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นน้อยครั้งมากๆ อีมักจะให้ความสำคัญกับการเปิดใจให้กว้างในการทำธุรกิจแม้จะเผชิญปัญหาก็ตาม

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันไม่มีอะไรน่ากลัวหากเรามีพรสวรรค์ที่ยอดเยี่ยม” อีระบุ

“ในยุคที่การแข่งขันไม่สิ้นสุด การจะชนะหรือแพ้ขึ้นอยู่กับอัจฉริยะกลุ่มหนึ่ง…และคนอัจฉริยะ 1 คนสามารถเลี้ยงคน 100,000 คนได้”

อีล้มป่วยด้วยโรคหัวใจครั้งแรกในปี 2014 โดยสื่อคาดว่าสุขภาพของอีย่ำแย่ลงนับตั้งแต่นั้นจนกระทั่งเสียชีวิต

จากนี้คงต้องติดตามประเด็นการส่งต่อมรดกมูลค่ามหาศาล รวมไปถึงการส่งต่อตำแหน่งประธานบริษัทซัมซุงต่อให้กับทายาทรุ่นต่อไปด้วย