วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ธุรกิจระดับโลก

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมาย เกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ กับสังคมธุรกิจไทย จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

มุมมองเฉพาะสังคมธุรกิจไทยช่วงเวลาซีพีขยายตัวอย่างตื่นเต้นเมื่อราว 2 ทศวรรษก่อน อยู่ท่ามกลางและเป็นไปในกระแส

ตามดัชนีอ้างอิงสำคัญๆ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP (ปี 2531) ทะยานขึ้นเป็นประวัติการณ์ 13.2% แรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต ขณะผู้คนในสังคมธุรกิจมักโฟกัสที่ตลาดหุ้น ดัชนีตลาดหุ้นเติบโตอย่างน่าทึ่งต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี ด้วยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากเม็ดเงินต่างประเทศทะลักเข้ามาลงทุนและเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง จากระดับ 100,000 ล้านบาท (ปี 2534) จนทะลุ 800,000 ล้านบาท (ปี 2538)

เรื่องราวผู้นำทางธุรกิจคนสำคัญคนหนึ่งซึ่งอยู่ในวัย 50 ต้นๆ ดูไม่ใช่เรื่องเดียวที่ตื่นเต้น ธนินท์ เจียรวนนท์ กับอาณาจักรธุรกิจซีพี มีกิจการในตลาดหุ้นไทยพอสมควร ช่วงปี 2527-2531 มีกิจการด้านการเกษตรและอาหารสัตว์ เข้าตลาดหุ้นถึง 4 บริษัท และอีก 2 แห่งตามมาภายหลัง ได้แก่ เทเลคอมเอเซีย หรือทรู คอร์ปอเรชั่น ในปัจจุบัน (2536) และสยามแม็คโคร (ปี 2537)

ด้วยมีเรื่องราวครึกโครมของ “พวกหน้าใหม่” โดยเฉพาะกรณีเอกธนกิจของปิ่น จักกะพาก กับกลุ่มชินวัตรของทักษิณ ชินวัตร

ปิ่น จักกะพาก เปิดฉากโฉมหน้าสังคมธุรกิจไทยให้เร้าใจอีกครั้งในปี 2531 เมื่อเอกธนกิจเข้าตลาดหุ้น ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามแผนการนำกิจการพาเหรดเข้าตลาดหุ้นต่อเนื่องอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะมีเครือข่ายค้าหลักทรัพย์ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย (มีกิจการค้าหลักทรัพย์ถึง 4 แห่ง) ทั้งหลายทั้งปวงมาจากแผนการเดินทางลัด เทกโอเวอร์กิจการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ช่วงปี 2529-2539 สินทรัพย์กลุ่มเอกธนกิจได้ขยายตัวอย่างมหัศจรรย์เกือบ 50 เท่า จากระดับสองพันล้านบาท ทะลุหนึ่งแสนล้านบาท

ส่วนทักษิณ ชินวัตร เชื่อกันว่าเป็นผู้ได้ประโยชน์มหาศาลจากระบบสัมปทานสื่อสารยุคใหม่ ซึ่งมีโอกาสและจังหวะก่อนใครๆ ในช่วงปี 2533-2534 โดยเฉพาะธุรกิจสื่อสารไร้สายกับดาวเทียม ขณะมีกิจการในตลาดหุ้นหลายบริษัท ส่วนใหญ่กลายเป็นหุ้นโดดเด่น

ขนาดสื่อยักษ์ใหญ่ในเครือข่ายแห่งตลาดหุ้นนิวยอร์ก-Asian Wall Street Journal ได้ยกทักษิณ ชินวัตร เป็นนักธุรกิจดาวรุ่ง (ปี 2534)

ขณะเดียวกันนั้นธุรกิจรากฐานดั้งเดิม ไม่ว่าเครือซิเมนต์ไทย หรือธนาคารไทยพาณิชย์ ดำเนินแผนการอย่างโลดโผนขยายเครือข่ายธุรกิจอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง

โดยเฉพาะปรากฏการณ์ปรากฏตัวของนักบริหารมืออาชีพ ผู้มีโปรไฟล์โดดเด่น ชุมพล ณ ลำเลียง แห่งเครือซิเมนต์ไทย และธารินทร์ นิมมานเหมินท์ แห่งธนาคารไทยพาณิชย์

 

ช่วงเวลาเป็นไปนั้น เรื่องราวหน้าฉาก ซีพีกับแผนการลงทุนใหม่ๆ มีความครึกโครมพอสมควรในเมืองไทย ไม่ว่าการเข้าสู่ระบบสัมปทานรัฐครั้งแรก การลงทุนในอุตสาหกรรมแชมเปี้ยนใหม่ กรณีปิโตรเคมี เป็นโครงการใหญ่มูลค่ากว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปจนถึงการร่วมทุนกับธุรกิจระดับโลกในธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจค้าปลีก ไปจนถึงถือหุ้นเพียงเล็กน้อยในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ร่วมทุนกับ Minebea แห่งญี่ปุ่นในปี 2531)

ส่วนเบื้องหลังฉากนั้น เป็นจังหวะที่น่าสนใจ เมื่อซีพีปรับโครงสร้างการบริหารให้ทันสมัยมากขึ้น ปรับตัวเข้ากับสังคมธุรกิจโลก ว่ากันว่าธนินท์ เจียรวนนท์ ในวัย 50 ปี (ปี 2532) มีตำแหน่งใหม่ดังเช่นในกิจการระดับโลกที่เรียกกันว่า Chief Executive Officer (CEO) สะท้อนยุคผู้นำอย่างแท้จริง ขณะบทบาทเชิงบริหารพี่ชายของเขาได้ลดลงอย่างมาก

เสียงสะท้อนความสำเร็จของซีพีภายใต้การนำของธนินท์ เจียรวนนท์ แตกต่างจากเครือข่ายใหญ่ธุรกิจไทย ดังที่นำเสนอมาแล้วในตอนต้นๆ โดยเฉพาะเป็นความต่อเนื่องจากแผนการขยายธุรกิจระดับภูมิภาค มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ (ปี 2522) ตามมาด้วยแผนการใหม่ๆ ซึ่งสัมพันธ์ สอดคล้องกับกระแสภูมิภาค

ไม่เพียงเป็น “ผู้เล่น” ในตลาดหุ้นไทย หากขยายสู่ไต้หวัน (Taiwan Stock Exchange Corporation หรือ TWSE) และที่สำคัญสู่ตลาดหุ้นหลักของภูมิภาคที่ฮ่องกง-Hong Kong Stock Exchange (HKEx)

 

ภาพหนึ่งซึ่งเป็นกระแสจับต้องได้ เมื่อสื่อในโลกตะวันตกให้ความสนใจ กล่าวถึงธนินท์ เจียรวนนท์ กับเครือข่ายธุรกิจซีพีอย่างต่อเนื่อง อาจกล่าวได้ว่าเวลานั้นเขาเป็นผู้นำธุรกิจไทยคนแรกๆ ซึ่งสื่อระดับโลกกล่าวถึงอย่างมากมาย

จุดพลุโดย Far Eastern Economic Review หรือ FEER (2533) นิตยสารรายสัปดาห์ภาษาอังกฤษมีชื่อเสียงเก่าแก่แห่งภูมิภาคเอเชีย ขณะนั้นอยู่ในเครือข่าย Dow Jones แห่งสหรัฐมีสำนักงานอยู่ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (ได้ปิดฉากไปแล้วเมื่อปี 2552) อันที่จริง FEER เสนอเรื่องราวซีพีหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งหนึ่งซึ่งอ้างอิงกัน ในปี 2537 ได้จัดอันดับให้ซีพีเป็นเครือข่ายธุรกิจซึ่งมีสินทรัพย์มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีมากกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 1.5 แสนล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) เมื่อเปรียบเทียบเครือซิเมนต์ไทย พิจารณาข้อมูลผ่านบริษัทปูนซิเมนต์ไทยในตลาดหุ้น มีสินทรัพย์ขณะนั้น (ปี 2537) ยังไม่ทะลุ 1 แสนล้านบาท (อ้างจากข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2539)

จากนั้นตามมาด้วยนิตยสารธุรกิจทรงอิทธิพลในสหรัฐ อย่าง Forbes (ปี 2534) และ Fortune (ปี 2535) รวมทั้งสื่อสำคัญทรงอิทธิพลในตลาดหุ้นลอนดอน-Financial Times (ปัจจุบันอยู่ในเครือข่าย Nikkei Group แห่งญี่ปุ่น) ที่สำคัญในปีเดียวกันนั้น (2535) Harvard Business School สถาบันการศึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของโลกได้ทำกรณีศึกษาเกี่ยวกับซีพีเป็นครั้งแรก

ว่ากันเฉพาะ Harvard Business School แล้ว มีการนำเสนอกรณีศึกษา (Case study) เกี่ยวกับซีพีถึง 2 ครั้งในช่วงนั้น นำเสนอภาพใหญ่ที่จับต้องได้มากขึ้น ได้มากกว่าข้อมูลเฉพาะส่วนหรือบางชิ้นส่วนซึ่งเสนอต่อสาธารณชน ผ่านกิจการซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้น

“ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้พัฒนากิจการค้าเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ของครอบครัวให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการเกษตรระดับโลก… ด้วยวิสัยทัศน์ซึ่งหลอมมาจากแนวทางผู้นำแห่งโลกทุนทนิยม อย่าง Rockefeller และ Morgan…” บางตอนจากกรณีศึกษาฉบับแรก (ปี 2533) ซึ่งโฟกัสบทบาทธนินท์ เจียรวนนท์ ทั้งประเมินด้วยว่า ตัวเขาเองมีความมั่งคั่ง (personal fortune) อย่างน้อย 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 3 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน)

ในเวลานั้น เครือข่ายธุรกิจซีพี (ตามข้อมูล Harvard Business School ปี 2533) มีธุรกิจครอบคุลมทั้งการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เมล็ดพันธุ์และปุ๋ย การค้าระหว่างประเทศ อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ค้าส่ง-ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และสื่อสาร มีบริษัทหลักๆ ในเครือข่ายเกือบๆ 30 แห่ง มีพันธมิตรธุรกิจระดับโลกราวๆ 20 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอเมริกันและญี่ปุ่น

อีกครั้งผ่านไปแค่ 3 ปี Harvard Business School นำเสนอกรณีศึกษาเรื่อง Charoen Pokphand : The New Conglomerate (ปี 2538) ถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเฟื่องฟู เป็นการศึกษาเปิดกว้างขึ้น มีบทสนทนาวงกว้างขึ้นกับธนินท์ เจียรวนนท์ กับทีมบริหารบางคน ซีพีได้เปิดเผยตัวเลขรายได้ (revenue) รวมทั้งเครือข่ายเป็นครั้งแรกในปี 2538 มีราว 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือเกือบๆ 2 แสนล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ซึ่งเครือข่ายธุรกิจรวมกัน 10 กลุ่ม ประกอบด้วยบริษัทย่อยๆ นับร้อยแห่ง ทั้งระบุว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจากกิจการนอกประเทศไทย โดยเฉพาะมาจากเครือข่ายธุรกิจซีพีในสาธารณรัฐประชาชนจีน

ขณะนั้นมีสัญญาณบางอย่างให้ความสนใจเครือข่ายธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น