นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ความอีหลักอีเหลื่อของการศึกษาไทย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

“ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” แล้วจะ “ดัด” กันอย่างไร วิธีคือ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”

โดยยังไม่ได้สำรวจอย่างจริงจังทั่วถึง ผมอยากด่วนสรุปว่า คำขวัญและแนวคิดอย่างนี้ไม่ปรากฏในวรรณกรรมอยุธยา ทั้งไม่ปรากฏในวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ด้วย จนถึงยุคปลายๆ เท่านั้น ที่อาจปรากฏแนวคิดทำนองนี้ขึ้นบ้างในวรรณกรรม

ตามความเข้าใจของผม แนวคิดเรื่องครอบครัวต้องปลูกฝังอบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนเก่ง เพิ่งจะแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงไทย ต่อเมื่อได้สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับตะวันตกในสมัย ร.5 นี่เอง พระราชหัตถเลขาของพระองค์ถึงพระราชโอรสดูจะเป็นเอกสารชิ้นแรกๆ ที่เผยแพร่แนวคิดอย่างนี้

วัฒนธรรมเลี้ยงลูกอย่างฝรั่งเช่นนี้ขยายจากชนชั้นสูงไปยังกระฎุมพีในกรุงเทพฯ ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการจัดการศึกษามวลชนแบบใหม่ที่ลอกเลียนมาจากตะวันตก และขยายไปยังคนไทยจำนวนมากในเวลาต่อมา

ก็ไม่แปลกอะไรใช่ไหมครับ การให้การศึกษาแก่เด็กแบบนี้ตั้งอยู่บนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมสองอย่าง หนึ่งก็คือครอบครัวได้แปรเปลี่ยนมาเป็นครอบครัวเดี่ยวเต็มรูป จนกระทั่งภาระให้การศึกษาแก่ลูกเป็นของพ่อ-แม่เท่านั้น ชุมชนไม่เกี่ยว

สองเป็นเรื่องซับซ้อนกว่าหนึ่ง นั่นคือทฤษฎีหรือความเห็นว่า ธรรมชาติของเด็กย่อมขาดวินัย ทั้งวินัยส่วนตัวและวินัยทางสังคม จะแปรเปลี่ยนธรรมชาติของเด็กให้กลายเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไร วิธีก็คือบังคับเคี่ยวเข็ญให้เด็กมีวินัยจนคุ้นเคยเป็นนิสัย เปลี่ยนธรรมชาติ “ป่าเถื่อน” ของเด็กให้กลายเป็นผู้มี “อารยธรรม” แน่นอนว่าต้องฝึกฝนทักษะอาชีพที่จำเป็นแก่การเลี้ยงชีพด้วย

ทำไมจึงต้องสอนด้วยการบังคับเคี่ยวเข็ญ? ผมค่อนข้างจะเชื่อว่า เพราะสังคมยุโรปตะวันตกสมัยนั้นเห็นว่าต้องให้การศึกษาภายใต้หลักสูตรเร่งรัด เพื่อให้เด็กเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ในเวลารวดเร็ว คือเมื่อร่างกายพร้อมแล้ว กล่าวโดยสรุปก็คือ การศึกษาตามหลักสูตรเร่งรัดนี้ตอบสนองต่อความแปรเปลี่ยนเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของยุโรปตะวันตกที่ขยายไปทั่วโลก

จะเห็นได้นะครับว่า สังคมไทยแม้ในสมัยที่เริ่มนำเอาการศึกษาแบบยุโรปเข้ามานั้น ก็ยังห่างไกลจากความเป็นสังคมอุตสาหกรรม อีกทั้งคนไทยก็ไม่เคยคิดว่าเด็กขาดวินัยเหมือนคนป่า

ตรงกันข้ามกับที่กล่าวข้างต้น ในสังคมเกษตรยังชีพแบบไทย ผู้ที่ให้การศึกษาแก่เด็กคือครอบครัวและชุมชน เช่นส่วนหนึ่งของการศึกษาของเด็ก (ผู้ชาย) อยู่ที่วัด อันเป็นสถาบันของชุมชน แต่บทบาทของชุมชนยังมีมากกว่าวัดเป็นอันมาก เช่น เด็กอาจถูกชาวบ้านดุว่า หรือถึงไล่เตะ ถ้าอุตริปีนบ่อน้ำสาธารณะลงไปเล่นน้ำในบ่อ หรือครอบครัวอาจต้องเดือดร้อนทำพิธีบางอย่างเพื่อขอขมาผีที่เฝ้าบ่อน้ำสาธารณะ ยังไม่รวมการนินทาและการล้อเลียนอีกนานาชนิดที่เด็กได้เรียนรู้การมีชีวิตในชุมชนของตน

ส่วนครอบครัว (พ่อ-แม่และญาติผู้ใหญ่) มีภาระฝึกเด็กเข้าสู่อาชีพเพื่อให้สามารถทำมาหากินเองได้ นับตั้งแต่หัดเลี้ยงควายไปจนถึงทำไร่ไถนา ทั้งในด้านเทคนิควิธีและด้านความสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงผลิต (เช่น ลงแขกหรือทำบุญ)

ทั้งหมดของกระบวนการศึกษานี้ทำโดยไม่ต้องมีการบังคับเคี่ยวเข็ญ เพราะการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตและใช้ชีวิต ไม่ได้แยกออกเป็น “วิชา” เพื่อเล่าเรียนกันโดยเฉพาะเจาะจง

ผมอยากให้สังเกตด้วยว่า ครอบครัวและชุมชนในสังคมเกษตรของไทยโบราณนั้นไม่ได้แยกขาดจากกันเหมือนปัจจุบัน เพราะชุมชนแหลมเข้ามาในครอบครัวเสมอ อย่างที่มีสถาปนิกบางคนกล่าวว่า เรือนไทยนั้นเปิดกว้างให้แก่คนนอกทะลุทะลวงเข้ามาได้ง่าย นับตั้งแต่มองเห็นไปจนถึงเข้ามานั่งสนทนาหรือกินข้าวด้วย มีส่วนเดียวที่ปิดลับแก่สายตาหรือการปรากฏตัวของคนนอกคือห้องนอน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนเกษตรยังชีพนั้น แทบไม่ได้แยกชีวิตส่วนตัวกับชีวิตสาธารณะออกจากกัน

ระบบการศึกษาแบบนี้จะมีข้อดีหรือเสียอย่างไรยกไว้ก่อน แต่เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนเกษตรขนาดเล็กแน่ ปัญหามาอยู่ที่ “ผู้ดี” ซึ่งอยู่ในเขตเมือง และสัมพันธ์กับรัฐบาลอย่างใดอย่างหนึ่ง ลูกเจ้าและลูกนายจึงขาดทั้งครอบครัวและชุมชนในการให้การศึกษา ชีวิตสาธารณะเข้ามาครอบงำตำหนักหรือเรือนของพ่อจนแทบจะหมดสิ้นเชิงเลย เพราะบ้านเรือนคือออฟฟิศของพ่อด้วย

ยิ่งครอบครัวที่พ่อมีเมียหลายคน ชีวิตในครอบครัวก็ยิ่งเป็นชีวิตสาธารณะมากขึ้น

ส่วนชุมชนของ “ผู้ดี” ก็ยากจะให้การศึกษาแก่เด็กได้ เพราะในชุมชนที่ขาดความเสมอภาคขนาดนั้น การว่ากล่าวตักเตือนลูกของผู้ที่อยู่ในช่วงชั้นสูงกว่า ก็เท่ากับเป็นการล่วงเกินผู้ใหญ่ไปด้วย

ดูเหมือนจะเป็นพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ที่กล่าวถึงพฤติกรรมของเจ้านายบางองค์ว่าเที่ยวฉุดคร่าลูกสาวชาวบ้าน แต่ก็ไม่มีใครกล้าฟ้องร้องกราบทูล พฤติกรรมที่ผิดทำนองคลองธรรมของลูก “ผู้ดี” เช่นนี้คงแพร่หลายเป็นปรกติ จนถึง ร.4 และ ร.5 ที่เริ่มการศึกษาแผนใหม่ และคอยบังคับควบคุมพฤติกรรมของลูก “ผู้ดี” มากขึ้น

ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งรู้เรื่องของเจ้านายดีเคยพูดว่า เจ้าไทยนั้นเลี้ยงลูกให้ดีได้ยาก อันที่จริงก็ไม่ต่างจากเจ้าฝรั่งก่อนสมัยใหม่นัก หากไปอ่านประวัติศาสตร์ยุโรปของหลายราชสำนัก ก็มีกล่าวถึงพฤติกรรมที่ถือกันว่า “ไม่ดี” ของเจ้าชายอยู่บ่อยๆ บางพระองค์เคยสำมะเลเทเมาจนเลื่องลือ แต่ครั้นได้ครองราชย์ กลับกลายเป็นกษัตริย์ที่ดีและได้รับการยกย่องก็มี

ผมคิดว่า “ผู้ดี” กลุ่มแรกในสังคมไทยที่ได้พบชีวิตครอบครัวที่แยกออกจากชีวิตสาธารณะได้อย่างเด็ดขาด คือกระฎุมพี อันได้แก่ เจ้าสัวพ่อค้าและข้าราชการในระบบราชการแบบใหม่ ซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นใน ร.5 และคนกลุ่มนี้แหละที่อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ชี้ให้เห็นว่าคือผู้ตอบสนองต่อการศึกษาแผนใหม่ที่รัฐนำเข้ามาอย่างคึกคัก เสียยิ่งกว่าบุตรหลานของชนชั้นสูงซึ่งเป็นเป้าหมายของนโยบายการศึกษาของรัฐเสียอีก (The Rise and Decline of Thai Absolutism)

แต่คนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการเตรียมลูกหลานเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม หากต้องการให้ลูกหลานได้จับจองตำแหน่งแหล่งที่ระดับสูงในสังคมศักดินา ดังนั้น “วินัย” ที่พวกเขาต้องการเตรียมลูกหลานเข้าสู่สังคมไทยสมัยใหม่ คือความคุ้นเคยจนเป็นนิสัยในความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีช่วงชั้นสูงต่ำต่างกัน การรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ เป็นหนทางแห่งความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

ในขณะที่การศึกษาแผนใหม่ของยุโรปมุ่งเตรียมเด็กให้เคยชินกับ “วินัย” ที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เช่น เชื่อฟังหวูดโรงงานที่ให้สัญญาณเริ่มงานและเลิกงานโดยพร้อมเพรียงกัน แต่การศึกษาแผนใหม่ไทยมุ่งฝึก “วินัย” ให้เด็กรู้จักเชื่อฟังกฎที่ใช้บังคับแก่คนแต่ละสถานภาพต่างกัน

ในระยะแรก โรงเรียนไทยอาจใช้การบังคับเคี่ยวเข็ญอย่างที่รับมาจากฝรั่งสมัยนั้น ทำให้ครูเชื่อว่าไม้เรียวนี่แหละที่สร้างคนเก่งคนดีให้แก่ชาติมามากมาย พ่อ-แม่กระฎุมพีไทยก็พอใจที่โรงเรียนรับภาระการเตรียมเด็กเข้าสู่สังคมศักดินาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็เลยเป็นประเพณีการศึกษาที่ขาดไม่ได้ในโรงเรียนไทยไปเลย แม้ว่าโรงเรียนฝรั่งในเมืองฝรั่งได้เลิกธรรมเนียมนี้ไปแล้ว (พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมของตะวันตกไปสู่อุตสาหกรรมที่อาศัยฐานความรู้มากขึ้น ในขณะที่ “วินัย” แบบเดิมที่โรงเรียนต้องสอน ก็ไม่ต้องสอนแล้ว เพราะกลายเป็นแบบปฏิบัติปรกติในสังคมทั่วไป นับตั้งแต่การตรงต่อเวลาไปจนถึงการเข้าคิว)

ครึ่งศตวรรษผ่านไปนับตั้งแต่การศึกษาแผนใหม่เริ่มขึ้นในเมืองไทย เศรษฐกิจ-สังคมไทยจึงเปลี่ยนอย่างมโหฬารหลัง 2500 อุตสาหกรรมโบราณที่ไม่ต้องใช้ฐานความรู้สูงนักขยายตัวในเมืองไทยอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ก่อให้เกิดกระฎุมพีรุ่นที่สองซึ่งมีจำนวนมาก

กระฎุมพีรุ่นนี้ไม่ต้องการเตรียมลูกหลานเข้าสู่สังคมศักดินาเต็มรูปแบบ กล่าวคือ ก็ยอมรับอยู่ว่าวัฒนธรรมศักดินายังมีพลังในสังคมอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในระบบราชการของรัฐ แต่ความสำเร็จในอาชีพการงานไม่ได้อยู่ที่การรู้ที่ต่ำที่สูงเพียงอย่างเดียว ความฉลาดรอบรู้ในเรื่องอื่นๆ ก็สำคัญหรือสำคัญกว่าเสียอีก แม้ว่าในชีวิตจริงของพ่อ-แม่กระฎุมพี ยังต้องจำนนต่อช่วงชั้นที่ไม่เท่าเทียมกันโดยดุษณีก็ตาม

ผมคิดว่าการศึกษาไทยในเวลานี้เผชิญกับความอีหลักอีเหลื่ออย่างนี้แหละ คือด้านหนึ่งผู้ปกครองนักเรียนก็อยากให้ลูกหลานรอบรู้ คิดเองเป็น รู้ทันคนและสถานการณ์ต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการเห็นลูกหลานแหลมออกมาต่อสู้กับระบบช่วงชั้นของศักดินา เพราะเห็นว่าเป็นอันตราย ไม่ในระยะสั้นก็ระยะยาว

ด้านหนึ่งก็ยอมรับ “วินัย” ของสังคมศักดินา แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้ว่า “วินัย” เช่นนี้เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถนำพาลูกหลานให้ประสบความสำเร็จไปได้ไกลนัก ในสังคมอุตสาหกรรมของไทย แม้เป็นอุตสาหกรรมโบราณก็ตาม ครั้นจะให้ฝึก “วินัย” ของสังคมอุตสาหกรรมแทน ก็เกรงว่าจะทำให้ลูกหลานต้องเผชิญอันตรายต่างๆ ในชีวิตข้างหน้า

เป็น “ความเป็นไทย” ที่ไม่อยากเป็นไทยเหมือนเดิม แต่ก็ไม่กล้าเป็นไทยแบบใหม่

กฎระเบียบหยุมหยิมที่กระทรวงเคยออกมาเพื่อบังคับควบคุมนักเรียนเสียจนทำลายความเป็นตัวของตัวเองไปจนหมดนั้น ถึงกระทรวงสั่งยกเลิกอย่างไร ก็ยังใช้กันในโรงเรียนต่อไปไม่ต่างจากเดิม

ไม่ใช่เพราะครูไม่ฟังเพียงอย่างเดียว ผู้บริหารการศึกษาท้องถิ่นระดับต่างๆ ก็ยังเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาที่ต้องมี แม้แต่ผู้ปกครองเองก็ไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องยกเลิกในทางปฏิบัติ อยากให้ลูกหลานเก่งทั้งในด้านความคิดความอ่าน แต่ในขณะเดียวกัน ก็อยากให้เก่งในการเข้าสังคมด้วย

การปฏิบัติที่ถูกต้องในความสัมพันธ์ระหว่างช่วงชั้นจึงมีความสำคัญ ช่วยให้คนมีทักษะด้านนี้ก้าวหน้าไปได้ไกล