วิเคราะห์ : เช็คสภาพอสังหาฯกลางคลื่นเศรษฐกิจตกต่ำ

วิกฤตเที่ยวนี้คนที่เกี่ยวข้องต้องเผชิญดูเหมือนจะยอมรับสภาพความจริงโดยง่าย ไม่เพ้อเจ้อเพ้อฝัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะตกต่ำ 2 ปี

ทีดีอาร์ไอคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะตกต่ำ 3 ปี

คงไม่ต้องถกเถียงกันว่า การคาดการณ์ของสำนักใดจะถูกต้องมากกว่า เพราะอนาคตยังไม่มีใครรู้แน่นอน เอาเป็นว่าทุกฝ่ายมองเหมือนกันว่า เศรษฐกิจตกต่ำครั้งนี้จะกินเวลานาน

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนใหญ่ในรอบ 100 ปี หรือมากกว่านั้น

ย่อมมีผลกระทบมากเป็นธรรมดา

แล้วธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม จะเป็นอย่างไร

 

ตอบแบบกำปั้นทุบดินได้ทันทีเลยว่า ธุรกิจอสังหาฯ จะทรุดลงไปตามภาวะเศรษฐกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าอสังหาฯ บ้าน คอนโดฯ แม้เป็นสินค้าจำเป็นในการดำรงชีพ แต่ก็เป็นสินค้าราคาแพงที่สุดในชีวิตผู้บริโภค การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคจึงขึ้นอยู่กับรายได้และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและรายได้มากที่สุด

ถ้าเศรษฐกิจประเทศเป็นขาขึ้น อัตราเติบโต GDP เป็น+5 อัตราเติบโตอสังหาฯ ก็มีทิศทางเป็นบวก แต่จะบวกมากกว่า +5 เผลอๆ อาจถึง +10

ตรงกันข้าม เวลาเศรษฐกิจขาลง GDP คาดว่า GDP จะ -10 อสังหาฯ ก็จะเป็นทิศทางเดียวกันคือติดลบ แต่จะลบมากกว่า เนื่องจากปัจจัยทางด้านจิตวิทยาความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

เศรษฐกิจไทยปีนี้ปีหน้า ก็ถูกคาดว่า GDP จะ -10 หรือกว่านี้

 

ปีนี้ธุรกิจอสังหาฯ ปรับตัวกันมาแล้ว 2 ระดับ

ช่วงแรกต้นปีและโควิด-19 เป็นช่วงของการโปรโมชั่นระบายสินค้าสร้างเสร็จเหลือขายกันอย่างครึกโครมทั้งตลาด ได้ผลดีระดับหนึ่ง ขายกันไปได้มากพอสมควร แต่ก็ยังมีห้องชุดเหลือขายอีกไม่น้อยเหมือนกัน

ช่วงครึ่งปีหลังเริ่มมีการเปิดตัวโครงการใหม่กันบ้าง มีปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณครึ่งหนึ่ง

โครงการที่เปิดตัวส่วนใหญ่เป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด บ้านเดี่ยว

โครงการคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่ก็มีบ้าง ซึ่งมักใช้กลยุทธ์การเปิดขายในราคาต่ำกว่าโครงการที่เคยเปิดขายมาก่อนในย่านในโซนนั้น เพื่อตอบสนองกำลังซื้อที่มีความต้องการ แต่ก่อนหน้านั้นกำลังซื้อไม่ถึง

จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

บริษัทอสังหาฯ ที่บุกหนัก ขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูง ทำให้มีหนี้สูง ส่วนหนึ่งก็คงลดโหลดด้วยการตัดขายทรัพย์สิน เช่น ที่ดินหรืออาคารออกไป หรือถ้ายังไม่พอจะแก้ปัญหาบางรายก็คงหากลุ่มที่มีทุนหนาเข้ามาถือหุ้นใหญ่แทน

ที่เหลือซึ่งเป็นบริษัทอสังหาฯ ส่วนใหญ่ ก็ปรับต้นทุนคงที่หรือฟิกซ์คอร์สให้ต่ำลง พอดีกับยอดขายต่อเดือนในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพื่อลอยลำเรือต่อไป รอจนพายุคลื่นลมสงบ ค่อยลุยต่อ

แล้วเหตุการณ์ก็จะผ่านไป กลายเป็นแค่เรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง