อภิญญา ตะวันออก : แห่งเถรวาทที่เป็นอื่น บนความขันขื่นของซูซานน์ คาร์เปเลส

อภิญญา ตะวันออก

แลเมื่อจตุคามรามเทพได้หมดกระแสไปนานปีแล้ว จู่ๆ ฉันก็ได้พบเหรียญพิมพ์เหล่านั้น ในร้านเล็กๆ แห่งหนึ่งแถวทางรถไฟสายใต้ ในตอนนั้นฉันรู้สึกประหลาดใจมาก และมากกว่านั้นไปอีก เมื่อ 3 ปีต่อมา กระแสคลั่งจตุคามรามเทพที่เคยปรากฏในปี 2550 ก็กลับมาอีกครั้งในชื่อของไอ้ไข่เมืองคอน เวอร์ชั่น 2563

ที่ดูเหมือนกระแสคลั่งของสานุศิษย์และผู้ศรัทธา เรื่องเล่าและการกระทำอันพิสดารนานา สารภาพอีกคำรบฉันไม่อาจจะปะติดปะต่ออะไรมากจากความเชื่อนี้

วันหนึ่ง หลังจากหักร้างถางพงหญ้าวัชพืชในสวนอย่างเหน็ดเหนื่อยนั้น จู่ๆ ฉันก็รำลึกถึงนางสาวซูซานน์ คาร์เปเลส เมื่อ 97 ปีก่อน

การไปครั้งนั้น ดูเหมือนคณะของสยามจะเข้าใจว่าเป็นเพียงการไปทัศนศึกษาที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช (2466)

แต่ใครจะทราบว่า ซูซานน์ คาร์เปเลส ที่เพิ่งเสร็จภารกิจในสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ-กรุงฮานอย เธอเดินทางลงอันนัมทางตอนใต้และทัศนศึกษาวัดชาวเขมรที่เรียกตัวเองว่าแขมร์กรอม (กัมปูเจียกรอม/เขมรใต้) ในปี พ.ศ.2465

เช่นเดียวกัน เมื่อผ่านพระตะบองมายังสยาม โดยไม่ชัดเจนในจุดประสงค์ พร้อมด้วยภิกษุกัมพูชาและผู้ติดตามนั้น ซูซานน์ คาร์เปเลส เหตุใดจึงล่องใต้ไปนครศรีธรรมราช?

หรือนี่คือการเดินทางเพื่อทัศนศึกษาในภารกิจสำคัญ?

 

อนึ่ง ก่อนประจำการพนมเปญนั้น ซูซานน์ คาร์เปเลส ได้รับคำสั่งให้ไปสยาม แวะพระตะบอง ภารกิจเหล่านี้ไม่ต่างจากก่อนหน้านั้นที่กัมปูเจียกรอม

มีอะไรที่ทำให้เธอไปนครศรีฯ เมื่อ 97 ปีโน้นเล่า? ถ้าไม่ใช่เพื่อศึกษาวัดวาอารามของอดีตศูนย์กลางพุทธศาสนาไทยที่มีความใกล้เคียงกับลักษณะทางกายภาพของอารามจำนวนมากในกัมปูเจียกรอม

นี่ไม่ใช่เรื่องสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเท่านั้น แต่รวมไว้ซึ่งวัฒนธรรมเถรวาท โดยเฉพาะจารีตปฏิบัติของคณะสงฆ์หัวเมืองสยามที่คาร์เปเลสลงไปศึกษา เพื่อซึมซับอารยธรรมพุทธทางตรงของอินเดียที่ยังหลงเหลืออยู่และเป็นสัญลักษณ์ของสยามที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

แต่สำหรับซูซานน์ คาร์เปเลสแล้ว มันอาจเกี่ยวกับภารกิจลับๆ ของเธอในกัมพูชา ณ โอกาสต่อไป สำหรับโครงการ “ด้อยคุณค่า-ธรรมยุติกนิกาย” ให้สิ้นไปในเขมร

โดยสำนักพุทธศาสนาบัณฑิตกัมพูชาที่คลุมเครือว่ารัฐอินโดจีนได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเอาใจกษัตริย์เขมร และนั่นคือเหตุผลทำให้คาร์เปเลสได้มาคุมนโยบาย?

พระธาตุเมืองคอนมีความสำคัญต่อเถรวาทเขมรถึงเพียงนี้เทียวหรือ?

 

ดูก่อน ในข้อปลีกย่อยที่สลับซับซ้อน ทว่าเพียงชั่วเกือบ 100 ปีให้หลัง ภาพแห่งการเปลี่ยนแปลง ณ วัดพระธาตุเมืองคอนเวลานี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงดินแดนของไทยในอดีตและปัจจุบันผ่านการเดินทางของคาร์เปเลสครั้งนั้น

โดยมิพักว่า วัดพระธาตุฯ แห่งนี้จะเป็นหนึ่งในโมเดลพัฒนาองค์กรเถรวาทในกัมพูชาหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหลักเท่ากับการอาศัยท้องถิ่นที่มีศาสนาและวัฒนธรรมเป็นต้นทุนประยุกต์ใช้ที่ดูเหมือนเวลานั้นสยามจะมองข้ามความสำคัญ

แต่ซูซานน์ คาร์เปเลส ที่ไม่เคยผ่านงานวิจัยภาคสนามใดๆ มาก่อน กลับมองข้ามศูนย์กลางอำนาจแห่งพระนครกรุงเทพฯ ไปยังชุมชนต้นทางมหานิกายที่เมืองนครฯ โดยไม่ว่า 9 ทศวรรษก่อนโน้น เถรวาทในกัมพูชาจะได้ประโยชน์จากการนี้หรือไม่?

นั่นหาใช่สาระสำคัญ ภาพรวมของปัจจุบัน ที่คุณค่าส่วนนั้น ณ ดินแดนแห่งนั้น กำลังจมหายและกลายเป็นอื่น-ซึ่งคือพุทธพาณิชย์

 

สําหรับฉันแล้ว การให้ความสำคัญเชิงปัจเจกแล้วยังคงเดินมาสู่คำถามในห้วงปลายของซูซานน์ คาร์ปาเลส ตอน : จำพรากจากเขมร และจากโลกไปอย่างสงบในอาศรมแห่งหนึ่งในปูดูเชอรีของอินเดีย (2511)

“ไม่มีอะไรเที่ยงแท้” โดยท้ายที่สุดแล้ว ซูซานน์ คาร์เปเลส ก็พลีกรรมตนเองในแนวปลีกวิเวกในสำนักโยคีแห่งนั้น ซึ่งแม้จะใกล้เคียงกับสถานปฏิบัติธรรม แต่ก็เหมือนกับถอดห่างในวิถีธรรมแห่งทางสายกลาง

บางทีก็ไม่ถูกนักที่จะกล่าวโทษว่า “เถรวาทปฏิวัติ”(*) นั่นเองทำให้เธอประสบชะตากรรม

มันไม่ใช่แบบนั้น ถ้าทุกอย่างจะไม่พังครืนอย่างโดมิโน่ ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 การลงดาบชาวยิวอินโดจีนโดยรัฐบาลวิฌี และทำให้คาร์เปเลสต้องจำพรากจากเขมรอย่างไร้ศักดิ์ศรี โดยแม้ว่าสถาบันพุทธศาสนบัณฑิตและอาศัยต้นทุนคาร์เปเลสกอบกู้โครงการพระไตรปิฎกจนสำเร็จอย่างทุลักทุเลในความยากลำบากทั้งแหล่งทุนและการติดต่อสื่อสาร

อีกความ “เป็นอื่น” ของอาศรมที่คาร์เปเลสอาศัยในห้วงปลาย ได้กลายเป็นกับดักสำคัญในความเป็น “คนนอก” (L”?tranger) ตลอดกาลนิรันดร์

เชื่อว่า ถ้าคาร์เปเลสยังอยู่ในกัมพูชาจนเขมรได้เอกราช งานวิชาการของเถรวาทกัมพูชาจะรุดหน้าไปมาก ใน 10 ปีจากนั้นที่สังคมเขมรกำลังตื่นตัวด้านการศึกษา การสร้างบุคลากรทางศาสนาทั้งด้านพระสูตรและสาขาอื่นๆ หรือแม้แต่โบราณคดี ที่พบว่าภิกษุเขมรจำนวนมากเชี่ยวชาญด้านจารึกวิทยาและอักษรศาสตร์ และมันคือต้นทุนที่เธอทุ่มเททั้งหมดให้แก่เถรวาทที่นั่น

ฉันไม่รู้จะเศร้าหรือซาบซึ้งต่อเรื่องนี้ การถูกจู่โจมด้วยเรื่องเล่าที่ฉันร้อยเรียงขึ้นนี้ ราวกับว่าศักยภาพอันสูงส่งทางวิชาการของซูซานน์ คาร์เปเลสนั่น มันคือโศกนาฏกรรมอันเดียวกัน ต่อความซับซ้อนของการเป็นมนุษย์ โดยไม่ว่าแม้จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเพียงใด แต่ในชีวิตของเธอนั้นกลับถูกกระทำให้ “เป็นอื่น” เสมอไป

ไม่ว่าเกิดในวัฒนธรรมคาทอลิกที่แวดล้อมไปด้วยลัทธิของฮินดู (ในอินเดีย)

เติบโต ณ กึ่งกลาง 2 ตะวันออก-ตะวันตกที่แตกต่างอย่างสุดขั้วในโครงสร้างวัฒนธรรมของศตวรรษที่ 20 โดยไม่ว่าจะนิยมด้านใด ความ “เป็นอื่น” หรือ “คนนอก” ก็จะบงการเธอตามมา

ตามชาติพันธุ์ ซูซานน์ คาร์เปเลส มีความเป็นยิว แต่เป็นยิวแบบยิปซีที่เธอโปรดปรานผ่านทางการแต่งกาย และนั่นก็ทำให้เธอยังเป็นคนนอกอยู่ดี โดยมิพบว่าเธอมีความสัมพันธ์ฉันใดในครอบครัว

การอุทิศตนต่อองค์กรราวกับสมาชิกนางชีคาทอลิกที่ไม่มีสังคม แม้แต่นักบวชเถรวาทและเชื้อวงศ์ศักดินาที่เธอร่วมงานด้วยนั้น ซูซานน์ คาร์เปเลส จะมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องใดๆ และความ “เป็นอื่น” นั่นที่ทำให้เธอเหินห่างและเย็นชาต่อทุกสถานการณ์ของชีวิต

อา ความผิดปกติของพระเจ้าหรือไม่ มอบให้ใครคนหนึ่ง?

 

จากปูดูเชรี (Puducherry) ในวัยเยาว์ และปารีสในวัยสาว ความเป็นพลเมืองชั้น 2 ที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนตั้งแต่ก้าวแรกของการถูกส่งตัวไปร่ำเรียน และต่อมา ณ ดินแดนอาณานิคม

ความแข็งแกร่งอย่างเดียวที่เธอมีคือความรู้ในบาลี สันสกฤต ทิเบต ทมิฬ ฮินดี ไทย เขมร ฝรั่งเศส ที่ไม่น่าเชื่อว่า มันยังไม่พอเพียงต่อการถูกด้อยคุณค่า ในสายงานที่หนักหน่วงเหลือทนนั่นดูเหมือนว่า ชาวพื้นเมืองเขมรที่ถูกกล่าวหาว่าไร้การศึกษาต่างหากที่กลับโอบอุ้มเธอไว้ตลอด 20 ปี บนเนื้องานด้านพุทธเถรวาท ทั้งแบบจารีตนิยมและการปฏิรูปสังคม ผู้ให้การยกย่องต่อเธอจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักบวชและวางเฉยต่อชีวิตที่เป็นอื่น

และความ “เป็นอื่น” แบบ “คนนอก” ของคาร์เปเลส ที่จนบัดนี้ก็ไม่มีใครจดจำ

 

ต่อคำว่าเหลือทนที่ฉันมักจะพบพานในหมู่คนที่แพ้พ่าย แต่สำหรับหายนะของซูซานน์ คาร์เปเลสนั้น นี่คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะทิ้งทุ่นในห้วงปลาย เพื่อปลดเปลื้องเยียวยาตนเองออกจากความเจ็บปวดใดๆ อันเหลือทน ซูซาน์ คาร์เปเลส หันไปปฏิบัติในลัทธิวิปัสสนาเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกับดวงจิตในแบบอุกฤษฏ์ตามลัทธิแห่งอาศรมที่เธอสังกัด

ในความหมายของพุทธเถรวาทแบบซูซานน์ คาร์เปเลส ที่ไม่มีใครรับรู้ของเธอนั้น โดยไม่ว่าจะมีโอกาสใช้มันหรือไม่ สำหรับการทิ้งทุ่นสุดท้ายของชีวิต

และว่า ทำไมแม้จะใกล้ชิดกับวิถีพุทธเถรวาทปานนั้น แต่ซูซานน์ คาร์เปเลส กลับไปหาความหมายของความเป็นนิรันดร์แห่งโลกนี้และโลกหน้าในอาศรมของอินเดียแห่งนั้น และมันได้พัดพาชีวิตเธอไปหนใดเล่า?

อา หรือว่า ขณะมีชีวิตอยู่นั้น เธอได้ทิ้งทุ่นใช้มันจนหมดแล้ว?

และแด่…ความ “เป็นอื่น” ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปใน “คนนอก”

——————————————————————————————————————
(*) เรียกกันสมัยนั้นว่า “ปฏิวัติร่ม” ในปี พ.ศ.2485