จิตต์สุภา ฉิน : เสื้อผ้าอะไร ซื้อได้ ใส่จริงไม่ได้

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สมัยที่ยังเป็นพิธีกรสังกัดอยู่กับสถานีโทรทัศน์ ปัญหาเรื่องเสื้อผ้าที่ใช้ในการถ่ายรายการไม่พอไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวฉันเองเลย เพราะมีฝ่ายคอสตูมคอยดูแลการแต่งตัว หยิบยืมเสื้อผ้าจากแบรนด์ต่างๆ ให้ใส่ทุกวัน วันละหลายๆ ชุดอีกต่างหาก

ตั้งแต่ออกมาทำคอนเทนต์ออนไลน์เป็นยูทูบเบอร์เต็มตัว “เสื้อผ้าไม่พอใส่” กลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยมาก

ไม่ใช่ว่าจะใส่เสื้อผ้าซ้ำไม่ได้เลย แต่เสื้อผ้าก็จะต้องเข้ากันกับบรรยากาศและสถานที่ถ่ายคลิปที่แตกต่างกันออกไปด้วย

บางครั้งใส่ซ้ำมากกว่าสองครั้งผู้ชมก็เริ่มทักแล้วว่า เอ๊ะ สงสัยนี่เป็นชุดโปรดหรือเปล่า

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทำคลิปวิดีโออย่างเดียว แต่อินฟลูเอนเซอร์ เน็ตไอดอล ดาราที่ต้องอัพภาพสวยๆ ลงอินสตาแกรมให้ผู้ติดตามได้ดูตลอดเวลาก็ต้องเจอปัญหาเดียวกัน

ไม่ว่าจะซื้อเสื้อผ้าบ่อยแค่ไหนก็ดูจะไม่เคยพอสักที และแม้ว่าเสื้อผ้าจะล้นตู้

แต่คำบ่นว่า “ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่” ก็ไม่หายไปไหน

พอได้เห็นไอเดียที่ชื่อว่า “Virtual Clothing” หรือ เสื้อผ้าเสมือนจริง ฉันก็เลยรู้สึกคลิกทันทีว่า เฮ้ย อันนี้เข้าท่า!

 

ไอเดียนี้มาจาก Republiqe แบรนด์เสื้อผ้าหรูในสิงคโปร์ที่เข้าใจว่าเสื้อผ้าบนรันเวย์แพงๆ เป็นเสื้อผ้าที่หลายๆ คนก็ใฝ่ฝันอยากจะสวมใส่ไปเฉิดฉายถ่ายภาพงามๆ สักครั้งแต่ราคาของมันก็แพงจนเกินกว่าจะไขว่คว้าได้

หรือหลายๆ ครั้ง ถึงจะพอมีกำลังซื้อมาใส่ได้ ก็ซื้อไม่ลงอยู่ดี เพราะรู้ทั้งรู้ว่าใส่ถ่ายภาพแค่ครั้งเดียวก็จะต้องโยนเข้าไปเก็บในมุมลึกสุดของตู้เสื้อผ้าแล้ว

ถึงกายหยาบของเราจะไม่ได้ใส่ ก็ไม่ได้แปลว่ากายละเอียดบนโซเชียลมีเดียจะต้องอดไปด้วย

Republiqe เป็นแบรนด์เสื้อผ้าแบบดิจิตอล 100% ขายเฉพาะแค่เสื้อเสมือนจริงเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือจะไม่มีสินค้าที่สามารถจับต้องได้มาขายเลย เสื้อผ้าทั้งหมดจะสวมใส่เข้ากับตัวเราได้ในแบบดิจิตอล หรือสวมใส่เข้ากับภาพถ่ายได้อย่างเดียวเท่านั้น

วิธีการก็คือแบรนด์จะขายแบบเสื้อผ้าให้เป็นสองมิติก่อน จากนั้นก็จะเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ลูกค้าเลือกให้กลายเป็นสามมิติ แล้วนำเสื้อผ้าชุดนั้นๆ ไปสวมใส่ให้กับภาพถ่ายของลูกค้า

ฝั่งลูกค้าก็จะต้องอัพโหลดภาพถ่ายตัวเองที่เป็นแบบความละเอียดสูง เลือกสไตล์เสื้อผ้าที่ชอบใส่ตะกร้า จ่ายเงิน แล้วก็รอให้บริษัทนำเสื้อผ้าที่เลือกไปสวมเข้ากับภาพถ่าย เสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดลูกค้าก็จะมีภาพถ่ายตัวเองสวมชุดสุดหรูราคาแพงเอาไว้แชร์บนโซเชียลมีเดียแล้ว

บริการเสื้อผ้าดิจิตอลนี้ตอบโจทย์หลายอย่างไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่แค่การประหยัดเงินโดยที่ไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าตัวจริงมาเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการการผลิตเสื้อผ้าด้วย

 

ฉันลองเข้าไปช้อปปิ้งบนเว็บไซต์ของ Republiqe แล้วก็ต้องตื่นตาตื่นใจมากเพราะมีเสื้อผ้ามากมายหลายลุคให้เลือกเต็มไปหมด ตั้งแต่เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต เสื้อแจ๊กเก็ต กระโปรง เดรสยาว เดรสสั้น เดรสฟูฟ่อง เครื่องประดับ รองเท้า ฯลฯ ทั้งหมดจะเน้นดีไซน์ที่มีความเป็นแฟชั่นจ๋า

ราคามีตั้งแต่ชิ้นละ 20 ปอนด์ หรือประมาณ 800 บาทขึ้นไปสำหรับลุคที่ธรรมดาหน่อย ไปจนถึงลุคที่ให้ชื่อว่า “Million Dollar” ที่เป็นมินิเดรสแบบนู้ด ปักดีเทลเป็นเพชรและเงินทั่วตัว จับคู่กับถุงมือเพชร แว่นสีรุ้ง และรองเท้าประกายเงินระยิบระยับ ทั้งหมดนี้เราสามารถเลือกมาเป็นลุคให้กับภาพถ่ายของเราได้ในราคาประมาณ 2,700 บาท

หรือใครที่ไม่ได้ชื่นชอบสไตล์หรูหรา โอต์ กูตูร์ ก็มีตัวเลือกที่เป็นเสื้อผ้าแนวสบายๆ สตรีตๆ แต่ยังสไตล์ลิชไม่แพ้กันให้ด้วยเหมือนกัน

สำหรับขั้นตอนการถ่ายรูป Republiqe บอกว่าไม่มีอะไรยุ่งยาก ขอให้เป็นภาพถ่ายดิจิตอลไว้ก่อนเท่านั้น จะใช้โทรศัพท์มือถือหรือกล้องมืออาชีพถ่ายก็ได้ทั้งหมด ภาพจะต้องชัด แสงดี

มีข้อควรปฏิบัติบางอย่าง เช่น ตอนถ่ายภาพควรสวมเครื่องนุ่งห่มบนร่างกายให้น้อยที่สุด และทรงผมที่เหมาะที่สุดก็คือผมที่เก็บขึ้นข้างบนให้เรียบร้อย แต่อันที่จริงจะปล่อยผมสยายลงมาทางแบรนด์ก็ไม่ว่าอะไร

จากรายละเอียดทั้งหมดที่เล่ามาก็น่าจะเห็นภาพได้ชัดว่าบริการแบบนี้เหมาะที่สุดสำหรับบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ภาพนิ่งบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมที่ต้องใช้เสื้อผ้าอย่างน้อยวันละชุด

แต่สำหรับอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำคลิปวิดีโออย่างบน YouTube หรือ TikTok ทาง Republiqe ก็บอกว่าตอนนี้ยังไม่ได้ให้บริการ

แต่เมื่อไหร่ที่เทคโนโลยีก้าวหน้ากว่านี้ก็จะเข้ามาเล่นตลาดนี้ด้วยแน่นอน

 

ตัวฉันเองพอจะเข้าใจอยู่ว่าคนนอกวงการอาจจะมองว่าการขายหรือยอมควักกระเป๋าซื้อเสื้อผ้าดิจิตอลแบบนี้ช่างเปล่าประโยชน์สิ้นดี

รูปภาพก็คือรูปภาพ ทำไมเราจะต้องยอมจ่ายเงินให้กับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ด้วย

แต่อย่าลืมนะคะว่าอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้สามารถสร้างรายได้ไม่น้อยจากการโฆษณาให้กับสปอนเซอร์ การมีเสื้อผ้าสวยๆ หรูๆ ใส่ ถือเป็นการลงทุนเสริมสร้างฐานผู้ติดตามให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ หรือเป็นการเพิ่มสินทรัพย์ทางดิจิตอลให้ตัวเอง

การเสียเงินซื้อของแบบเสมือนจริงก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เคยทำกันมาก่อน อย่างการซื้อเงิน ทอง หรือเพชรในเกมโมบายเกมโปรดที่เราเล่นบ่อยๆ ก็ไม่มีตัวตนให้จับต้องได้จริง แต่สิ่งที่เราได้รับกลับมาก็คือความสนุกและความรู้สึกประสบความสำเร็จในเกมนั่นแหละ

เชื่อว่าหลังจากนี้ไปเราน่าจะได้เห็นสินค้าและบริการต่างๆ ที่มีความจับต้องไม่ได้แต่ช่วยเสริมสร้างตัวตนทางโซเชียลมีเดียแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเราจะเข้าใจมันหรือไม่ แต่ถ้ามีซัพพลายก็เชื่อว่าจะต้องมีดีมานด์ตั้งต้นมาอยู่แล้ว

เมื่อไหร่มีเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ฉันสวมเสื้อผ้าเสมือนจริงถ่ายคลิปได้ฉันก็คงจะไม่รีรอที่จะเป็นลูกค้ากลุ่มแรกๆ แน่นอน

ตราบใดที่ไม่ใช่การถ่ายคลิปนอกสถานที่อะนะ