จรัญ มะลูลีม : ทรัมป์กับมุสลิม (12)

จรัญ มะลูลีม

มีรายงานจากหน่วยงานสอบสวนกลางแสดงให้เห็นว่านับจากปี 1980 ไปจนถึงปี 2005 การโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายในสหรัฐที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่แค่ร้อยละ 6 เท่านั้นที่กระทำโดยชาวมุสลิม

แนวโน้มของอิสลาโมโฟเบียไม่เพียงแต่เกิดในสวนสาธารณะเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดแม้แต่ในสนามโรงเรียน ผู้อำนวยการของ Milwaukee Muslim Women”s Coalition กล่าวว่า อิสลาโมโฟเบียและการพูดด้วยความเกลียดชัง (hate speech) ซึ่งต่อต้านชาวมุสลิมในชั้นเรียนกำลังพุ่งสูงขึ้นใน Wisconsin

นักเรียนชาวมุสลิมเผชิญกับการข่มขู่และถูกข่มเหง ซึ่งผ่านไปโดยไม่มีรายงาน จนถึงเวลานี้พวกเขารู้สึกได้ว่าการเริ่มต้นของการตกเป็นเป้าการโจมตีได้มาถึงพวกเขาแล้ว

ประชากรมุสลิมแห่ง Wisconsin ยังคงฝังใจอยู่กับเหตุการณ์กราดยิงวัดซิกข์ (Sikh Temple) ใน Oak Creek ใกล้กับ Milwaukee ชาวซิกข์เหล่านี้ตกเป็นเหยื่อ เนื่องจากผู้ก่อเหตุร้ายเชื่อว่าพวกเขาเป็นมุสลิม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาเป็นผู้นับถือศาสนาซิกข์

การโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายอย่างต่อเนื่องในกรุงปารีสและบรัสเซลส์ยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก หลังจากเกิดเหตุการณ์แล้วชาวมุสลิมทั่วทั้งสหรัฐก็ต้องเผชิญกับการตั้งรับในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วม ตามมาด้วยการทำลายล้างมัสญิดและศูนย์กลางอิสลาม รวมทั้งถ้อยคำทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและการคุกคาม

หลังเหตุการณ์การโจมตีกรุงปารีสและบรัสเซลส์แล้วมีการคาดหมายกันว่าอารมณ์การต่อต้านชาวมุสลิมจะติดตามมา รวมทั้งอารมณ์ต่อต้านชาวมุสลิมที่มาจากสื่อ

โฆษกของ CAIR ให้ข้อสังเกตว่าภาพที่เห็นมีความมืดมัวมากขึ้น และมีการนำเอาโวหารต่อต้านอิสลามมารวมอยู่ด้วย ซึ่งก่อให้เกิดการกระทำที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและมีการทำลายทรัพย์สินของชาวมุสลิม

ที่ผ่านมาจะพบว่าระดับการต่อต้านชาวมุสลิมชัดเจนขึ้นในหมู่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีผู้ว่าการรัฐและอื่นๆ ที่พูดถึงการต่อต้านการรับเอาผู้ลี้ภัยซีเรียเข้ามาในสหรัฐ

 

ทรัมป์กับซีเรีย

ฝ่ายบริหารของทรัมป์ในเวลานี้ได้ออกมากล่าวอย่างเป็นทางการว่าการออกจากตำแหน่งของ บาชัร อัล-อะสัด นั้นไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไป โฆษกทำเนียบขาว Sean Spicer ได้ออกมากล่าวเมื่อเดือนมีนาคม (2006) ว่า

มีความจริงทางการเมืองที่เรายอมรับว่าเวลานี้เราจะไปทางไหน การคงอยู่ของรัสเซียในซีเรียทำให้การโค่นอะสัดเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ “นี่เป็นความจริงทางการเมือง”

ก่อนหน้านี้ Nikki Haley เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำ UN ได้ออกมาพูดว่าคุณเลือกการต่อสู้ของคุณเอง และเมื่อเรามองในเรื่องนี้ มันก็เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงข้อเลือก และข้อเลือกแรกของเราก็คือ เราไม่ต้องมานั่งรอและมุ่งไปที่การเอาอะสัดออกอีกต่อไป

ปฏิกิริยาการวิพากษ์จาก Halay Spicer และรัฐมนตรีต่างประเทศอย่าง Tillerson ก็คือมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายของสหรัฐที่มีต่อซีเรีย

ความจริงนโยบายที่มีความชัดเจนโดยฝ่ายบริหารของทรัมป์ก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากฝ่ายบริหารของโอบามาหลังจากรัสเซียเข้ามาแทรกแซงในซีเรียเมื่อเดือนกันยายน ปี 2015

ดังนั้น สิ่งที่เราเห็นในเวลานี้สำหรับสหรัฐก็คือการเปลี่ยนคำพูดที่ว่าอะสัดต้องลงจากอำนาจ (Assad must go) อันเป็นสโลแกนของโอบามา ซึ่งออกมากล่าวเช่นนี้ในปี 2011 มาเป็นอะสัดอยู่ในอำนาจได้ (Assad can stay)

เดือนกันยายน ปี 2015 กองทหารของรัสเซียเข้าสู่ซีเรียจากการเชิญชวนของรัฐบาลซีเรีย การเข้ามาของรัสเซียทำให้ความพยายามของสหรัฐที่จะโจมตีกองทัพอาหรับซีเรียและรัฐบาลของอะสัดอย่างเต็มกำลังเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ก่อนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี Erin Burnett จาก CNN ได้เชิญทรัมป์จากพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีของสหรัฐมาออกรายการของเธอ หนึ่งในคำถามของเธอมีคำถามเกี่ยวกับซีเรียรวมอยู่ด้วย

ในช่วงเวลาของการให้สัมภาษณ์นั้นเป็นช่วงที่ UN หยุดนับจำนวนผู้เสียชีวิตชาวซีเรียที่มีอยู่จำนวนมากไปแล้ว โดยครึ่งหนึ่งของประชากรของซีเรียตกเป็นผู้ไร้ถิ่นและเผชิญกับความยากไร้ ในเรื่องนี้ทรัมป์กล่าวว่า

ผมเข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในซีเรีย พวกเรากำลังช่วยกันทำให้เกิดสถานการณ์ที่ยุ่งยาก

นี่เป็นตำแหน่งที่อยู่ไกลออกไปจากวาทกรรมเสาหลักของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ

 

ในการรณรงค์เพื่อการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

เขาบอกว่าในเมื่อเราจะน็อก ISIS แต่ในเวลาเดียวกันทำไมเรามาต่อต้านอะสัดด้วยเล่า? เขาถาม Burnett แล้วกล่าวต่อไปว่าปล่อยให้สหรัฐสู้กับ ISIS ในอิรักไป เขากล่าวในขณะที่กองทัพอาหรับที่ได้รับการหนุนช่วยจากสหรัฐและพันธมิตรกำลังต่อสู้กับ ISIS หรือ IS อยู่ในซีเรีย

สหรัฐภายใต้โอบามามีความพยายามจะเผชิญหน้ากับอะสัดจริงๆ หรือ? ทรัมป์ถาม

เขาบอกว่าสหรัฐให้อาวุธ ให้การช่วยเหลือด้านการขนส่งและฝึกฝนกลุ่มต่างๆ ด้วยความหวังว่าจะทำให้เป็นกลุ่มกบฏ “สายกลาง” เราไม่รู้ว่าผู้คนเหล่านี้เป็นใคร ทรัมป์กล่าว “เราให้อาวุธต่างๆ กับพวกเขา เราให้กระสุนปืนแก่พวกเขา เราให้พวกเขาทุกอย่าง”

สิบวันก่อนที่จะมีการสัมภาษณ์นี้นายพล Lloyd Austin หัวหน้าผู้บัญชาการกลาง บอกกับสภาสหรัฐว่าเงินจำนวน 500 ล้านถูกใช้ไปกับกองกำลังของฝ่ายกบฏ ซึ่งได้คนจำนวนเล็กน้อยที่เข้าไปต่อสู้กับซีเรีย ซึ่งเรากำลังพูดถึงคนแค่ 4 หรือ 5 คน แต่ไม่ได้หมายถึงนักต่อสู้ 4 หรือ 5 ร้อยคน แต่หมายถึงนักสู้ 4 หรือ 5 คนที่วางใจได้ว่าเป็นพวกสายกลาง

ส่วนที่เหลือจะเป็นผู้ที่ถูกฝึกโดยสหรัฐจากนั้นก็หลุดไปอยู่กับองค์กรต่างๆ ที่สุดขั้วอื่นๆ

 

การวิพากษ์ของทรัมป์ในปี 2015 หลังการเข้าแทรกแซงของฝ่ายบริหารของโอบามา ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศของโอบามา John Kerry กล่าวว่า เขาหวังว่ารัสเซียและอิหร่าน จะใช้รัฐบาลของพวกเขาเปิดประตูไปสู่การเจรจาทางการเมืองอย่างจริงจัง

“สำหรับปีครึ่งที่ผ่านมา เรากล่าวว่า อะสัดต้องไป” Kerry กล่าวที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 20 กันยายน ปี 2015 โดยในช่วงนั้นสหรัฐค่อนข้างจะมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าการหลุดจากตำแหน่งประธานาธิบดีของอะสัดเป็นเงื่อนไขแรกก่อนจะมีการพูดคุยกันทางการเมือง

หลังจากรัสเซียเข้ามาในซีเรีย Kerry กล่าวว่าสหรัฐยังไม่ได้ทำตามตารางหรือรูปแบบสำหรับการออกไปของอะสัด รูปแบบและระยะเวลาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ซึ่งอนุญาตให้เราเคลื่อนไปข้างหน้า Kerry กล่าว ด้วยการย้ำว่าการเอาอะสัดออกไปจะเป็นการเริ่มต้นการเดินหมากของการพูดคุยต่อไป

การเข้าแทรกแซงของรัสเซียย่อมทำให้การขับอะสัดออกจากตำแหน่งเป็นไปไม่ได้

รัสเซียกับอิหร่านในเวลานี้จึงเป็นผู้ชี้นำกระบวนการทางการเมือง

ซึ่งหมายความว่าการมุ่งที่จะเอาอะสัดออกจากตำแหน่งมิได้เป็นจุดหมายแรกของวาระที่ได้กำหนดเอาไว้ของสหรัฐอีกต่อไป

โดยเฉพาะในการประชุมที่มี UN เป็นผู้สนับสนุนให้มีการพูดคุยในเจนีวา และการประชุมที่สนับสนุนโดยตุรกี รัสเซีย อิหร่าน ซึ่งเป็นตัวกลางให้เกิดการพูดคุยที่อัสตานา (Astana) คาซัคสถาน