วงค์ ตาวัน | ตากใบ-ไฟใต้-ม็อบกรุง

วงค์ ตาวัน

ครบรอบเหตุการณ์ตากใบ วันที่ 25 ตุลาคม ในทุกๆ ปีจะมีการจัดงานรำลึกทวงถามความเป็นธรรม ด้วยเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงมีชาวบ้านเสียชีวิตมากถึง 85 ราย จากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร สร้างความสูญเสียให้กับครอบครัวญาติมิตรเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่มีบทสรุปและยังไม่มีผู้รับผิดชอบในทางคดี

ที่น่าสนใจคือ ในปีนี้เรื่องราวของตากใบ ได้ไปปรากฏอยู่ในที่ชุมนุมของเยาวชน นักเรียน-นักศึกษาในใจกลางกรุง ทั้งมีผู้ชูป้ายและทั้งผู้ถือไมค์ไฮด์ปาร์กได้กล่าวรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ด้วย โดยเน้นย้ำให้เห็นว่า เป็นอีกเหตุการณ์ที่ชาวบ้านได้ตกเป็นเหยื่อการใช้อำนาจของรัฐอย่างโหดร้าย

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนเยาวชนจากชายแดนใต้ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีของนักเรียน-นักศึกษากลางกรุงในหลายครั้งอีกด้วย เพื่อบอกเล่าบรรยากาศการไร้สิทธิเสรีภาพในพื้นที่ไฟใต้

“นับเป็นการเปิดภาพความจริงของไฟใต้ให้คนในเมืองหลวงได้เข้าใจในข้อเท็จจริงมากขึ้น หลังจากที่เดิมทีความรุนแรงใน 3 จังหวัดใต้จะถูกมองจากคนในภาคอื่นว่าเป็นเรื่องของพวกก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน โดยไม่เข้าใจว่า เนื้อแท้ของสถานการณ์คือปัญหาความไม่เป็นธรรม การกดขี่ โยงถึงประเด็นทางเชื้อชาติ ศาสนา จนทำให้คนจำนวนหนึ่งเลือกตอบโต้รัฐด้วยความรุนแรง”

ในกระบวนการการต่อสู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กำลังร้อนแรงวันนี้ เพื่อต้องการสร้างการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยมุ่งรื้อทั้งโครงสร้างของระบบการเมือง เพื่อทำประชาธิปไตยที่เสรี ไม่มีความเหลื่อมล้ำทางการเมืองนั้น

“เป็นโอกาสอันดี ที่ปมปัญหาความไม่เป็นธรรมจากรัฐที่ก่อความรุนแรงในภาคใต้มาหลายปีนั้นจะได้นำมาพูดถึงเพื่อร่วมกันแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา!”

สำหรับเหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2547 จากการชุมนุมของชาวบ้านนับพันคนที่หน้าโรงพักตากใบ นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ.หรือชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ถูกจับกุม 6 คน โดยเชื่อว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอาวุธปืนหาย

ต่อมาสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น ทำให้แม่ทัพภาคที่ 4 อาศัยอำนาจกฎอัยการศึก สั่งสลายการชุมนุม ทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิตจากปฏิบัติการสลายการชุมนุม 7 ราย

ไม่เท่านั้น หลังจากจับกุมผู้ชุมนุมนับพันราย จับมัดมือไพล่หลัง โยนขึ้นบนรถบรรทุกทหารกว่า 20 คัน เพื่อนำไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยให้นอนคว่ำซ้อนกันเป็นชั้นๆ ในคันหนึ่งมีคนนอนซ้อนกัน 4-5 ชั้น แล้วเดินทางกว่า 6 ชั่วโมง ทำให้คนบนรถขาดอากาศหายใจตายอย่างทารุณไปอีก 78 คน

เป็นเหตุการณ์ที่กลายเป็นบาดแผลของคนตากใบ ยากจะลืมเลือน!!

หลังเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าว มีการย้ายแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อลงโทษ พร้อมกับตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่สุดท้ายไม่มีบทสรุปอะไรที่ชัดเจน ปล่อยให้คนในพื้นที่และนักสิทธิมนุษยชนร่วมกันทวงถามความเป็นธรรมในทุกๆ ปี จนวันนี้ก็ผ่านไป 16 ปีแล้ว

แต่อย่างน้อย เรื่องราวของตากใบเริ่มได้รับการพูดถึงกว้างขวางมากขึ้นในปีนี้ โดยสามารถเข้าถึงพื้นที่ใน กทม. ซึ่งก่อนหน้านี้แทบไม่เข้าใจ ไม่รับรู้ความจริงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

อันที่จริงแล้วภาพรวมของเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้อาจจะมีหลายรูปแบบที่ต่างกัน แต่ใจกลางของปัญหาก็ไม่ต่างกันมากนัก นั่นคือ การใช้อำนาจรัฐกระทำต่อชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีความไม่เท่าเทียมกันในด้านเชื้อชาติ ศาสนา เข้ามาเกี่ยวพันอีกด้วย ทำให้ปัญหายิ่งรุนแรงมากขึ้น

“เนื่องจากพื้นฐานของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้น เดิมทีในอดีตมีสถานะเป็นรัฐ มีอารยธรรมที่รุ่งเรืองมายาวนาน ทำให้รัฐบาลไทยมีความหวาดระแวงลึกๆ ว่าจะมีความพยายามเรียกร้องความเป็นรัฐอิสระ หรือแบ่งแยกดินแดน”

ดังนั้น การปกครองในพื้นที่ดังกล่าวจึงมีการใช้อำนาจอย่างเข้มงวด และพยายามลดทอนเอกลักษณ์ของคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวมุสลิม

ต่อมาเกิดผู้นำที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมและการรักษาอัตลักษณ์ของตัวเอง ถูกจับกุมดำเนินคดี กลายเป็นกบฏหัวแข็ง

“จนสุดท้ายความขัดแย้งก็ถึงขั้นเกิดการต่อสู้ด้วยความรุนแรง กลายเป็นการก่อการร้าย!”

โดยไฟใต้รอบหลังสุดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 จากนั้นรุนแรงต่อเนื่องแบบไม่ลดระดับมาเรื่อย จนถึงวันนี้

ขณะที่ฝ่ายรัฐยังคงใช้วิธีการแก้ปัญหาเน้นด้านความมั่นคง กองกำลังทหารตำรวจปฏิบัติการตรวจค้นจับกุม จนโดนตอบโต้ด้วยการวางระเบิด ลอบยิง

ความผิดพลาดของรัฐทำให้ไฟใต้รอบนี้ลุกโชนเกิดในยุคทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ จากนั้นในยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พยายามลบล้างความผิดพลาด ด้วยการใช้แนวทางเจรจาสันติ จนทำให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายขึ้น สามารถตกลงกันได้ในระดับหนึ่ง ให้เลิกโจมตีเป้าหมายเด็ก ผู้หญิง ชาวบ้าน

แต่พอเกิดรัฐประหาร เข้าสู่ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การเจรจาก็ไม่มีความคืบหน้าชัดเจน และปฏิบัติการเข้มข้นของเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินต่อไป

ข้อน่าสังเกตที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ เกิดขึ้นถี่ยิบมากว่าสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่จะทิ้งสัญลักษณ์หรือประกาศตัวตนว่าผู้ก่อเหตุสังกัดกลุ่มไหน องค์กรอะไร เป็นผู้ก่อเหตุ

วิเคราะห์ได้ว่า เป้าหมายของกลุ่มก่อความไม่สงบ ไม่ได้ไปไกลถึงขั้นจะสร้างรัฐใหม่อะไรอย่างนั้น

“เพราะถ้ามีเป้าตั้งรัฐใหม่ ต้องการแยกดินแดนจริง จะต้องหวังผลในทางการเมืองด้วย เช่น ต้องประกาศตัวตนองค์กร เพื่อสร้างอิทธิพลเพื่อขยายตัวไปสู่การสร้างอำนาจรัฐของตัวเองขึ้นมา!”

แต่นี่ ไม่มีใบปลิว ไม่เคยเอาชื่อเอาเครดิต บ่งบอกว่าไม่ได้หวังผลทางการเมือง

น่าจะเป็นการมุ่งตอบโต้ล้างแค้น หรือแค่เรียกร้องให้ยุติการกดขี่ข่มเหงจากอำนาจรัฐเท่านั้น

แต่ความที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีลักษณะเฉพาะ คือเป็นเมืองที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทำให้ถูกมองอย่างแตกต่างกับคนในภาคอื่นๆ

“และการก่อความไม่สงบ ถูกขยายผลในทางเสียหายจากฝ่ายรัฐ มุ่งสร้างกระแสชาตินิยมทำลายการต่อสู้ของคนในพื้นที่ ตีความว่าเป็นพวกคนที่แตกต่างต้องการแยกดินแดนของประเทศไทยเราออกไป!”

คนใน กทม.และภาคอื่นๆ จึงมองการต่อสู้ของคน 3 จังหวัดใต้ในแง่ร้าย เป็นพวกโจรใต้ พร้อมกับสนับสนุนการปราบปรามด้วยกำลังรัฐแบบเด็ดขาด

“ทั้งที่ความจริงแล้ว สงครามความคิดอุดมการณ์นั้น ยิ่งปราบยิ่งโต”

ความที่สถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ยุคที่คนหนุ่ม-สาวลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลง โดยต้องการรื้อโครงสร้างการเมืองไทยให้เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแท้จริง ไม่มีอำนาจแอบแฝงครอบงำ

เมื่อการเมืองดี มีเสรีแท้จริง เศรษฐกิจที่ดีจะตามมา ทำให้บ้านเมืองพัฒนาก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดได้

ในการต่อสู้ของขบวนการนักเรียน-นักศึกษารุ่นใหม่ จึงเป็นโอกาสที่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เริ่มมีพื้นที่ให้คนกรุงเทพฯ ได้รับรู้ ได้เข้าใจความจริงมากขึ้น

โดยนี่ก็คือหนึ่งในปัญหาโครงสร้างการเมืองอันผิดๆ ของสังคมไทย!