เทศมองไทย : ไทยแลนด์ โอนลี่ มี “ซีไอเอ” กลางม็อบ!

หนึ่งในบรรดาเรื่องราวเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงรัฐบาลในบ้านเราที่เผยแพร่ออกไปสู่สายตาชาวโลกมากที่สุด คือเรื่องราวของ “CIA-like street food vendors” ของสำนักข่าวเอเอฟพี ที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลกเมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา

เรื่องของ “ซีไอเอกลางม็อบ” นี้ถูกสื่อในหลายต่อหลายประเทศหยิบไปนำเสนอ ตั้งแต่แชนแนลนิวส์ เอเชีย ของสิงคโปร์ เรื่อยไปจนถึงจิจิ เพรส ในญี่ปุ่น และเว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นเล็กๆ อย่างนิวส์เบรก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

หลายคนบอกว่า อ่านแล้วอดอมยิ้มไม่ได้ครับ

 

“ซีไอเอ” กลางม็อบที่กรุงเทพมหานครที่ว่านี้ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักข่าวกรองกลาง หรือเซ็นทรัล อินเทลลิเจนซ์ เอเจนซี ของสหรัฐอเมริกา

แต่เป็นบรรดานักรบติดล้อ-พ่อค้าแม่ค้าอาหารเร่ ที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อยังชีพ และพบเห็นกันเจนตาในท่ามกลางตึกรามหรูหราระฟ้าของกรุงเทพมหานคร

เอเอฟพีบอกว่า หลังจากเผชิญกับ “ไม้แข็ง” จากรัฐบาลด้วยการปราบปรามสลายการชุมนุมอย่างเด็ดขาดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงก็เปลี่ยนยุทธศาสตร์ ไม่กำหนดสถานที่ชุมนุมล่วงหน้า เปลี่ยนแปลงจุดชุมนุมถี่ยิบ และเก็บจุดชุมนุมเป็นความลับจนกระทั่งนาทีสุดท้าย

เพื่อให้ทางการและเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้น้อยที่สุด ช้าที่สุดนั่นเอง

แต่เมื่อถึงเวลาและจุดนัดหมาย ผู้ประท้วงไม่ว่าจะไปเร็วแค่ไหน ยังพบว่าบรรดารถเข็นขายอาหารสารพัด ตั้งแต่ลูกชิ้นปิ้ง ไส้กรอกอีสาน ไปจนถึงผลไม้ดอง ไก่ย่าง-ข้าวเหนียว ฮอตด็อก ซุป สะเต๊ะ เครื่องดื่มเย็นๆ ไปถึงจุดนัดหมายก่อนแล้วทุกที

นั่นเป็นที่มาของเฟซบุ๊กโพสต์ของผู้ประท้วงรายหนึ่งซึ่งถ่ายภาพนักรบรถเข็นเหล่านี้ไปแปะไว้พร้อมข้อความบรรยายประกอบระบุไว้ว่า “ส่งซีไอเอเข้าไปดูลาดเลาก่อนเป็นลำดับแรก”

สมญานาม “ซีไอเอ” จึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น

 

ไม่เพียงรถเข็นเร่ขายอาหารเหล่านี้จะกลายเป็นองค์ประกอบเปี่ยมสีสันในท่ามกลางม็อบเท่านั้น ม็อบที่มาชุมนุมกันเป็นเรือนพันเรือนหมื่น ก็กลายเป็นชีวิต เครื่องพยุงชีวิตของพ่อค้าแม่ขายที่ “หาเช้ากินค่ำ” ทั้งหลายไปด้วยในตัว

เอเอฟพีเข้าไปพูดคุยกับ “รัฐพล สุขปา” พ่อค้าลูกชิ้นที่เป็นหนึ่งใน “ซีไอเอ” เจ้าประจำ เขาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ม็อบการเมืองครั้งนี้ช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้น มีเวลากับที่บ้านมากขึ้นกว่าเดิม

ลูกชิ้นทั้งรถขายหมดภายในสองทุ่ม แทนที่จะล่วงเลยไปจนถึงเที่ยงคืนอย่างที่เคยเป็นทุกวันก่อนหน้านี้

“รายได้ผมก็ไม่เลวก่อนหน้านี้ แต่พอได้ขายในที่ชุมนุมประท้วง ก็ขายหมดเร็วกว่าที่เคยเป็น” พ่อค้าอายุ 19 บอกอย่างนั้น

เอเอฟพีบอกว่า กิจการกลางม็อบของรัฐพลเริ่มต้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่หลังจากดีกรีความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐพลก็ต้องหาทางเรียนรู้ให้เร็วกว่าและมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ได้

ไม่เพียงต้องติดตามตรวจสอบเฟซบุ๊กอย่างใกล้ชิด เพื่อมองหาเบาะแสของจุดชุมนุมประท้วงล่าสุดเท่านั้น ยังหาทางใช้โซเชียลมีเดียสร้างเครือข่ายพ่อค้าแม่ขายด้วยกันขึ้นมา เพื่อแจ้งเบาะแสล่าสุดซึ่งกันและกัน

เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากมายหลายพันบาททีเดียว

 

เอเอฟพีได้ข้อมูลจากอนุชา น้อยพันธ์ อดีตคนกรีดยาง ที่ผันตัวเองมาวนเวียนขายไก่ทอดให้กับผู้ชุมนุมทุกครั้ง บอกว่า ปกติแล้วเคยขายได้วันละ 3,000 บาท

“แต่พอเริ่มขายในม็อบ ตรงจุดชุมนุมประท้วงได้ รายได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ตกประมาณวันละ 6,000 บาทเลยทีเดียว”

อนุชาเป็นพ่อค้ารถเข็นหน้าใหม่ เขาเคยเป็นเกษตรกรสวนยาง ก่อนมาเร่ขายไก่ทอดเมื่อไม่นานมานี้

เขาย้ำกับเอเอฟพีว่า เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แล้วก็ยึดมั่นว่าจะไม่ขายไก่ทอดให้กับการชุมนุมของฝ่ายตรงข้าม

ในขณะที่ณัฐพล สายงาม ขายไก่ทอด ลูกชิ้นทอด ยอมรับกับเอเอฟพีว่า รู้ดีว่าการขายของในท่ามกลางสภาพแวดล้อมสุ่มเสี่ยงเช่นนี้ เป็นเรื่องอันตรายไม่น้อย

ปัญหาก็คือ นับแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจเอาแต่ร่วงรูดลงเรื่อยๆ ทำให้ไม่มีทางเลือกอย่างอื่นอีกต่อไป นอกจากตัดสินใจเสี่ยงไปตามสถานการณ์

“ผมเคยกลัวนะ” กลัวว่าจะติดร่างแหหรือได้รับอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งกับเขาไปด้วยหากมีการสลายการชุมนุม

“แต่พอมาทุกวัน ความกลัวก็กลายเป็นความคุ้นเคย” เขาบอก รู้จักมองหาทางหนีทีไล่เอาไว้ เผื่อมีอะไรเกิดขึ้น

ชีวิตบางทีก็ไม่มีหนทางเหลือให้เลือกมากมายนักหรอกครับ