ในประเทศ : จากข้อกล่าวหา ผู้บงการ “ม็อบปลดแอก” ถึงคดีกู้เงินเลือกตั้ง ชะตากรรม “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ”

ชะตากรรมนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และหัวหน้าคณะก้าวหน้า เจอมรสุมถาโถมเข้าใส่อีกระลอก

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้แจ้งความดำเนินคดีอาญา เช่นเดียวกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือช่อ อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ และอดีตกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งสิ้น 15 คน

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรค เนื่องจากกระทำผิดมาตรา 66 ประกอบมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กรณีนายธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้สู้ศึกเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

การดำเนินคดีอาญากับนายธนาธร มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจโดนสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 5 ปี ส่วนอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท

วิบากกรรมอดีตแกนนำอนาคตใหม่ไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อถูกกระแสโจมตีจากฝ่ายรัฐบาลยัดเยียดข้อกล่าวหาธนาธร-ปิยบุตร และช่อ พรรณิการ์ บงการอยู่เบื้องหลังม็อบเยาวชน นิสิต นักศึกษา หรือม็อบปลดแอก

ที่กำลังเคลื่อนไหวในขณะนี้

 

หลัง กกต.ฟันดาบสอง ด้วยการดำเนินคดีอาญา

อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่เตรียมตอบโต้ด้วยการฟ้องกลับทั้ง กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แถลงว่า การทำพรรคเราไม่ได้ขอนายทุนคนไหน จึงต้องกู้เงิน เราพยายามทำให้ทุกคนเห็นความตั้งใจ ยืนยันเจตนาที่ดีในการสร้างพรรคการเมืองโปร่งใสตรวจสอบได้ สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของ

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเศษหินในรองเท้าของพวกเรา หยุดเราไม่ได้ เราจะเดินหน้าต่อ

แม้เราจะมีอิสรภาพข้างนอกที่จำกัด แต่ยังมีคนกล้าหาญกว่าเราอีกจำนวนมาก เช่น อานนท์ นำภา และรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถ้าเรายอมแพ้แล้วจะมองหน้าคนเหล่านี้ได้อย่างไร

คดีความต่างๆ หยุดเราไม่ได้ และจะไม่เป็นเงื่อนไขในการเจรจาเพื่อลดทอนข้อเรียกร้อง เพราะเราต้องการสร้างประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกันตามแนวทางพรรคอนาคตใหม่และคณะก้าวหน้า

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่า การดำเนินคดีอาญาของ กกต.เป็นผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกระบวนการไต่สวนคดียุบพรรคและการวินิจฉัย ถูกตั้งคำถามในแง่มุมทางวิชาการว่า ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

แม้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร แต่เฉพาะในส่วนผลคำวินิจฉัยเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องผูกพันศาลอื่น

โดยเฉพาะกรณีนี้เป็นการดำเนินคดีอาญา จึงไม่ผูกพันศาลอาญา เพราะหากตีความว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันศาลอาญา จะเกิดผลประหลาดทันที ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นศาลอาญาโดยปริยาย

“ผมเคยแถลงว่า ภาพยนตร์ยุบพรรครอบนี้จะไม่จบแบบเดิม หากผู้กำกับภาพยนตร์ยุบพรรคอนาคตใหม่คิดว่าจะตัดไฟแต่ต้นลม ถือเป็นการคิดผิด เพราะจะเป็นไฟลามทุ่ง โดย 8 เดือนที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าไฟลามทุ่งจริงๆ”

ถ้าเราต้องการให้กระบวนการนิติสงครามหยุด ก็ต้องสู้ ทั้งที่รู้ว่ากฎหมายไม่เป็นคุณแก่เรา หากไม่สู้ กฎหมายก็จะบดขยี้กันต่อไป การสู้เท่านั้นถึงจะยุตินิติสงครามได้

นายชำนาญ จันทร์เรือง อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในคณะก้าวหน้า ขับเคลื่อนเรื่องท้องถิ่นและผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จึงมองว่าการกระทำเช่นนี้เพียงแค่ต้องการให้เคลื่อนไหวลำบาก โดยเฉพาะศึกเลือกตั้ง อบจ.ปลายปีนี้

 

ย้อนไปก่อนหน้า กกต.ตรวจสอบและมีคำวินิจฉัยกรณี 31 พรรคการเมืองถูกยื่นตรวจสอบการกู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกับพรรคอนาคตใหม่

แต่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เห็นชอบตามที่สำนักงาน กกต.เสนอให้ยุติเรื่องเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563

อ้างเหตุผลว่าจากผลตรวจสอบงบการเงินทั้ง 31 พรรคตั้งแต่ปี 2560-2562 พบทุกพรรคกู้ยืมเงิน หรือยืมเงินทดรองจ่ายจากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ไม่เกิน 10 ล้านบาท/คน/พรรค/ปี ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคอนาคตใหม่

จึงถือว่าไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

การปิดคดีเงินกู้ 31 พรรคตามมาด้วยคำถามมากมาย

เช่นเดียวกับคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกร้องปมถือหุ้นสื่อ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2562

ฟังได้ว่านายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งประกอบกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้สมาชิกภาพของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

แม้นายธนาธรจะโต้แย้งว่าบริษัทวี-ลัค มีเดีย ปิดกิจการไปตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และโอนหุ้นให้มารดาไปแล้วก็ตาม แต่ไม่เป็นผล

ล่าสุด 28 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีถือหุ้นสื่อของ 32 ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยมีคำสั่งให้นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.ก้าวไกล พ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. เหตุถือหุ้นบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น-บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น ซึ่งเป็นธุรกิจโฆษณา ผลิตภาพยนตร์ โทรทัศน์ และมีข้อพิรุธในการไม่มาไต่สวนชี้แจงต่อศาล

ส่วน 29 ส.ส.รัฐบาลที่ถูกร้องตรวจสอบประเด็นเดียวกัน อาทิ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ น.ส.จิตภัสร์-ตั๊น กฤดากร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

ศาลมีคำวินิจฉัยว่าไม่ได้ประกอบกิจการสื่อและหนังสือพิมพ์ จึงไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.

 

มรสุมทางการเมืองที่นายธนาธร นายปิยบุตร และ น.ส.พรรณิการ์ต้องเผชิญ ยังมีกระแสโจมตีจากฝ่ายรัฐบาลและม็อบเสื้อเหลือง

ที่พยายามกล่าวหาเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังการชุมนุมกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา หรือที่เรียกกันว่าม็อบปลดแอก ที่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน

ด้วยการโยงความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของบุคคลทั้ง 3 โดยเฉพาะนายปิยบุตรเคยอภิปรายในสภาเมื่อเดือนตุลาคม 2562 คัดค้านร่าง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพ ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

จากการอภิปรายครั้งนั้น ทำให้นายปิยบุตรตกเป็นเป้าเพ่งเล็ง อาจเพราะด้วยที่ผ่านมาไม่เคยมีใครกล้าลุกขึ้นอภิปรายประเด็นเกี่ยวโยงกับสถาบัน

จนมาถึงสถานการณ์การชุมนุมม็อบปลดแอก ทั้ง 3 คนมักแสดงทัศนะทางการเมืองสอดคล้องกับแนวคิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้กำลังใจ และสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้อง ทั้งยังเข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมหลายครั้ง

“ต้องไปดูว่าใครอยู่เบื้องหลังม็อบ เห็นหรือไม่ว่ามีใครเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าว

ม็อบเสื้อเหลืองปกป้องสถาบันที่ออกมาชุมนุมเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ได้ปราศรัยโจมตีนายธนาธร กล่าวหาเป็นท่อน้ำเลี้ยง อยู่เบื้องหลังม็อบเยาวชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องบนถนน

ทั้งยังประกาศเตรียมบุกตึกไทยซัมมิท สถานที่ทำการพรรคก้าวไกล

 

สิ่งที่นายธนาธร นายปิยบุตร และ น.ส.พรรณิการ์ต้องประสบพบเจอท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนระอุ

ที่เริ่มจากการถูกตัดสินยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต่อด้วยการถูกดำเนินคดีอาญากรณีกู้เงินเลือกตั้ง ตลอดจนข้อกล่าวหาอยู่เบื้องหลังบงการม็อบปลดแอก

ทั้งหมดสะท้อนเกมการเมืองที่มีเป้าหมายต้องการขุดรากถอนโคนนายธนาธรและพรรคการเมือง ไม่ว่าในชื่ออนาคตใหม่ หรือก้าวไกล

เป็นปฏิบัติการขจัดเสี้ยนหนามและรักษาไว้ซึ่งอำนาจ ไม่ต่างจากที่นายทักษิณ ชินวัตร เคยตกเป็นเหยื่อปฏิบัติการหลังรัฐประหารปี 2549 และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายหลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคมปี 2557

จากนี้ไปชะตากรรมของ “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ พรรณิการ์” จะเป็นอย่างไร จะซ้ำรอย หรือแตกต่างจาก “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”

เชื่อว่าประชาชนทั้งประเทศเฝ้าดูอยู่เช่นกัน