ศัลยา ประชาชาติ : ไปต่อไม่ไหว “บินไทย-อสมท” ลดคน-เปิดให้ออกโดยสมัครใจ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้ “ดิสรัปชั่น” โครงสร้างของธุรกิจในวันนี้ไปอย่างสิ้นเชิง

โครงสร้างธุรกิจ แนวทางการบริหารจัดการของธุรกิจต่างๆ ในวันนี้จึงไม่เหมือนกับเมื่อ 5 ปี 10 ปีก่อน

ในอดีตที่ผ่านมา “การบินไทย” ถือเป็นองค์กรในฝัน ติดอันดับต้นๆ ที่คนใฝ่ฝันอยากเข้าไปทำงาน เพราะรายได้ดี สวัสดิการเยี่ยม แถมยังได้บินฟรี มีโบนัส ดูมีระดับ สมกับความเป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศไทย

แต่วันนี้ “การบินไทย” กลายเป็นองค์กรที่ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนักต่อเนื่องมาในช่วง 10 ปีหลังนี้ ผู้บริหารมือดีจากหลากหลายวงการถูกคัดสรรเข้ามาบริหารคนแล้วคนเล่า ทั้งปรับโครงสร้างธุรกิจ เร่งเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ

สุดท้ายสายการบินแห่งชาติของไทยก็ไม่สามารถฝ่าวงล้อมการแข่งขันอย่างรุนแรงของทั้งสายการบินฟูลเซอร์วิสด้วยกันเอง และสายการบินโลว์คอสต์ได้

สุดท้ายทางออกเดียวที่จะทำให้สายการบินแห่งชาติของไทยอยู่รอดต่อไปได้คือการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง

และที่ซ้ำเติม ตอกฝาโลงแบบเบ็ดเสร็จคือ ผลกระทบจากการปิดน่านฟ้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ “การบินไทย” ซึ่งมีปัญหา “ขาดทุน” อย่างหนักอยู่แล้วยิ่งกระทบหนักเข้าไปอีก โดยเฉพาะประเด็น “กระแสเงินสด”

เพราะเส้นทางการบินเกือบทั้งหมดของการบินไทยคือเส้นทางบินระหว่างประเทศ ซึ่งยังไม่กลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ ที่สำคัญก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะกลับมาให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศได้อีกครั้งเมื่อไหร่

 

นั่นหมายความว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ยังไม่สามารถเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศได้ “การบินไทย” ก็ไม่มีรายได้จากธุรกิจการบินซึ่งเป็นเส้นเลือดหลัก ยกเว้นเที่ยวบินขนส่งสินค้า (คาร์โก้) และเที่ยวบินพิเศษที่ขนคนไทยในต่างประเทศกลับประเทศเท่านั้น

ผลกระทบดังกล่าวนี้ทำให้ “การบินไทย” ต้องเร่งลดค่าใช้จ่ายและพยายามสร้างรายได้ใหม่ๆ อย่างหนัก โดยเฉพาะการลดต้นทุนเรื่อง “คน” ที่เป็นต้นทุนหลัก และมีบุคลากรรวมถึงเกือบ 20,000 คน

แน่นอนว่าทางเลือกที่ดีที่สุดคือการลดจำนวนบุคลากร และปรับลดเงินเดือนพนักงาน

ทำให้ล่าสุดการบินไทยได้เปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์และสมัครใจลาออกอีกระลอกใหญ่ ภายใต้โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร เพื่อช่วยยืดกระแสเงินสดออกไปได้จนถึงเดือนเมษายน 2564

ทั้งในรูปแบบให้พนักงานสมัครใจลาออก โดยจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเติมอีก 1 เดือน โดยมีผลตั้งแต่ 1 ธันวาคมนี้ และโครงการลาระยะยาว (Leave with 20% Pay) สำหรับพนักงานที่ต้องการลาระยะยาวตามโครงการนี้จะได้รับเงินในอัตรา 20% ของเงินเดือนสุดท้าย ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนนี้-30 เมษายน 2564 รวมระยะเวลา 6 เดือน

เพื่อเป็นการประคองกระแสเงินสดให้อยู่ได้จนผ่านพ้นกระบวนการการทำแผนฟื้นฟูของการบินไทยแล้วเสร็จ เรียกว่า ถึงวันนี้ “การบินไทย” ลดจำนวนพนักงานไปแล้วหลายพันคน

 

เช่นเดียวกับ “อสมท” องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ที่กำลังวิกฤต ขาดสภาพคล่องอย่างหนักไม่แพ้การบินไทย โดยเหลือเงินจ่ายพนักงานได้ไม่ถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่รายได้ทุกส่วนธุรกิจมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะส่งผลกระทบกับการจ่ายเงินเดือนพนักงานในอนาคต

โดยแนวทางการบริหารจัดการต้นทุนของ อสมท ในวันนี้คือ การเปิดเออร์ลี่รีไทร์และสมัครใจลาออกเช่นกัน เป้าหมายคือลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยเฉพาะเรื่องคนให้มีจำนวนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

ล่าสุดได้เปิดโครงการเต็มใจจาก และโครงการสมัครเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) โดยตั้งเป้าหมายจะลดพนักงานลง 700 คน (สำหรับคนที่อายุ 45 ปีขึ้นไป และไม่เกิน 59 ปีบริบูรณ์) จากพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 1,600 คน หรือราว 40% โดยคาดว่าจะใช้เงินสำหรับโครงการนี้กว่า 1,000 ล้านบาท

พนักงานที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชยตามระยะเวลาที่ทำงาน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด และจะได้รับเงินพิเศษเพิ่มอีก ซึ่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลกำลังพิจารณาหลักเกณฑ์

พร้อมให้เหตุผลว่าแนวทางดังกล่าวนี้เป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงการคลังที่ต้องการให้ลดพนักงานเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน

 

ส่วนองค์กรที่เซอร์ไพรส์ที่สุดคือ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT ผู้บริหารสนามบินนานาชาติหลักถึง 6 แห่งคือ สนามบินสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) และหาดใหญ่ (สงขลา) ที่รั้งอันดับ 1 องค์กรในฝันที่คนไทยอยากทำงานด้วยในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำกำไรได้ถึง 2.5 หมื่นล้านในปี 2562 มีโบนัสทุกปีเฉลี่ยสูงถึง 7-8 เดือน พร้อมยังคาดการณ์ด้วยว่า ทอท.จะสามารถทำตัวเลขกำไรได้ถึง 4-5 หมื่นล้านบาทในปี 2564-2565 เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นของการจ่ายค่าสัมปทานดิวตี้ฟรีและค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามสัญญาใหม่

แต่ทว่าการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโควิด” ได้ส่งส่งผลต่อผลประกอบการของ ทอท.โดยตรงเช่นกัน โดยเฉพาะรายได้จากการให้บริการขึ้น-ลงเครื่องบินของสายการบินจากทั่วโลก รวมถึงรายได้จากการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่ดิวตี้ฟรี เนื่องจากเป็นธุรกิจที่พึ่งพิงรายได้จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

เมื่อสนามบินหลักทั้ง 6 แห่งในความดูแลจำเป็นต้องปิดให้บริการชั่วคราวไป 2-3 เดือน และเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศที่ให้บริการเส้นทางบินแบบเที่ยวบินประจำยังไม่สามารถกลับมาให้บริการตามปกติได้ รายได้ของ ทอท.จึงหายไปเกือบทั้งหมดอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ปลายไตรมาส 2/2563 หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่ผ่านมากระทั่งถึงวันนี้

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการคาดการณ์ผลการดำเนินงานสำหรับปีนี้ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ปี 2563 นี้ ทอท.ยังสามารถดำเนินการได้ตามแผน เพราะในช่วงต้นปีงบประมาณ 2563 นั้น บริษัทมีรายได้ 4 เดือนแรก (ตุลาคม 2562-มกราคม 2563) นั้นครอบคลุมรายจ่ายใน 8 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณได้

โดยในไตรมาส 3/2563 ที่ผ่านมา (เมษายน-มิถุนายน 2563) ทอท.มีผลขาดทุน 2,933 ล้านบาท ลดลง 149.87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 5,883 ล้านบาท

ประเด็นที่ “นิตินัย” เป็นห่วงคือ ปัจจุบัน ทอท.มีกระแสเงินสดอยู่แค่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสามารถพยุงองค์กรไปได้ถึงกลางปี 2564 เท่านั้น

ขณะที่รายได้จากการเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออก หรือ Passenger Service Charge : PSC ซึ่งมีแค่ผู้โดยสารภายในประเทศนั้นมีเพียงประมาณ 80,000-90,000 คน/วัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 8-9 ล้านบาทต่อวัน หรือ 240-270 ล้านบาท/เดือนเท่านั้น

หากวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ออกสู่ตลาดไม่ทันกลางปี 2564 ทอท.อาจจะต้องกู้เงินระยะสั้น เพื่อช่วยในการบริหารองค์กรเช่นกัน

 

ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้สะท้อนชัดเจนว่า ความสำเร็จในอดีตไม่สามารถวัดความสำเร็จในปัจจุบันและอนาคตได้อีกต่อไป

และองค์กรในฝันที่คนอยากทำงานด้วยในอดีตหลายแห่ง

จึงไม่ใช่องค์กรในฝันของคนยุคนี้อีกต่อไปด้วยเช่นกัน