ฉัตรสุมาลย์ : ใกล้เกลือกินด่าง

ชาวนครปฐมจะมีสักกี่คนหนอที่รู้ที่มาที่ไปขององค์พระปฐมเจดีย์ หรือแม้กระทั่งพระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งเป็นที่รวมขวัญกำลังใจของชาวนครปฐม มีพระนามเต็มๆ ว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร” เราก็ไม่ทราบ ต้องไปเปิดดูในกูเกิล ปรากฏว่าสะกดผิดถึง 3 จุด

ต้องไปดูพระนามที่สลักอยู่ด้านหน้าองค์พระจึงจะได้พระนามที่ถูกต้องจริงๆ

เขาว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด อาจจะเว่อร์ไป แต่โดยทั่วไปแล้ว เป็นความจริงที่คนไทยไม่มีวัฒนธรรมการอ่านมากนัก

สังเกตเวลาเดินทางไปต่างประเทศ พฤติกรรมของฝรั่งนั้น หากมาคนเดียว ขณะนั่งรอเครื่อง เขามักอ่านหนังสือ ส่วนใหญ่จะเตรียมมา ทั้งนวนิยาย สารคดี ฯลฯ

แต่ถ้าเป็นคนไทย มักจะคุยกัน นั่งกินของขบเคี้ยว อ่านไลน์ หรือหลับ น้อยคนมากที่จะอ่านหนังสือ

เรื่องราวขององค์พระปฐมเจดีย์ก็ดี หรือพระร่วงโรจนฤทธิ์ก็ดี เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ แต่ข้อมูลต้องหาอ่าน เดี๋ยวนี้ก็สามารถหาอ่านได้ในมือถือนั่นแหละ

ในชั้นเรียนสำหรับภิกษุณีสงฆ์ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ในอาทิตย์ที่ผ่านมา ภิกษุณีธัมมนันทาร่วมกับ ดร.กาญจนาได้พาท่านไปทัศนศึกษา เอาที่ใกล้ตัวก็ที่องค์พระปฐมเจดีย์ที่ว่านี้แหละ

หลังจากกลับมา หลายรูปออกปากว่า นึกว่ารู้ ที่จริงก็ยังมีที่ไม่รู้อีกหลายจุด หลายประเด็น และหากเราสนใจจริงๆ เราก็จะได้ข้อมูลเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ

 

เราเริ่มต้นที่สถานีรถไฟ ตรงไปที่หน้าองค์พระ เราต้องข้ามสะพานยักษ์ ชื่อจริงๆ ว่าสะพานเจริญศรัทธา เป็นสะพานที่ล้นเกล้าฯ ร.6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นของขวัญแก่ชาวนครปฐม เป็นสะพานคอนกรีตที่สร้างด้วยความรู้ทั้งทางสถาปัตยกรรมศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่ดีที่สุดที่หาได้ในประเทศสยามตอนนั้น

สะพานนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะองค์พระร่วงที่มาจากสุโขทัยนั้น เป็นชิ้นส่วนมีเฉพาะพระพักตร์ พระอุระ พระหัตถ์ และพระบาท แต่พอจะอนุมานเอาได้ว่าเป็นพระยืนปางประทานพร ได้อัญเชิญไปกรุงเทพฯ เพื่อสร้างพระองค์ท่านให้สมบูรณ์ ความสูงกว่า 7 เมตร อัญเชิญมาทางรถไฟ จึงจำเป็นต้องมีสะพานเชื่อมจากสถานีรถไฟให้ตรงมาที่องค์พระมหาเจดีย์

การอัญเชิญพระพุทธรูปที่มีขนาดสูงขนาดนั้น ช่างศิลป์แก้ปัญหาโดยการหล่อเป็น 4 ส่วน แต่ละส่วนมีสลักที่จะประกอบกันได้อย่างลงตัวเมื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานที่ด้านหน้าขององค์พระปฐมเจดีย์

ทั้งหมดที่ว่านี้ สำเร็จในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.6

ในคราวที่เสด็จฯ มาประทับที่พระราชวังสนามจันทร์เพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถแล้ว ยังทรงถือเป็นโอกาสในการฝึกซ้อมลูกเสือด้วย

ทรงโปรดการออกมาประทับที่นครปฐมที่ไม่ไกลเกินไปจากเมืองหลวง แต่ขณะเดียวกันก็ทรงโปร่งพระทัยมากกว่าที่จะทรงงานที่ต้องการความสงบ

นอกจากนั้น การที่ได้ทรงเห็นโอภาสจากพระบรมสารีริกธาตุจากยอดพระมหาเจดีย์ด้วยพระองค์เอง จนถึงทรงบรรยายสิ่งที่ได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นอัศจรรย์เพื่อทูลพระราชบิดา คือล้นเกล้าฯ ร.5 ด้วยพระองค์เอง

ด้วยพระราชศรัทธานี้ ทำให้โปรดที่จะเสด็จฯ มาประทับที่พระตำหนักสนามจันทร์ที่จังหวัดนครปฐมมากเป็นพิเศษ

ด้วยพระราชศรัทธาเป็นพิเศษนี้ ทรงระบุไว้ในพระราชพินัยกรรมว่า เมื่อเสด็จสวรรคตแล้วขอให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ไว้ที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ด้วย

งานนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว ผู้เสด็จขึ้นครองราชย์ในสมัยต่อมา ทรงถวายความเคารพในพระประสงค์ของพระองค์ท่านซึ่งเป็นพระเชษฐา และเสด็จเป็นประธานในการอัญเชิญพระอังคารของล้นเกล้าฯ ร.6 มาประดิษฐานไว้ในตำแหน่งที่ทรงระบุไว้ล่วงหน้าทุกประการ

 

ทีนี้ พวกเราที่ไปเที่ยวองค์พระปฐมเจดีย์ก็จอดป้ายเฉพาะการถ่ายรูปหน้าพระปฐมเจดีย์ เนื่องจากไม่ได้ศึกษาเรื่องราวที่น่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์ขององค์พระปฐมเจดีย์มาล่วงหน้า

หลังจากที่ถวายสักการะที่องค์พระร่วงโรจนฤทธิ์แล้ว อยากเชิญชวนให้เดินไปที่ห้องเล็กที่อยู่ด้านหลังองค์พระ เดินไปทางซ้ายหรือขวาขององค์พระก็ได้ค่ะ มีประตูเข้าสู่พื้นที่หลังองค์พระร่วงได้ทั้งสองทาง

เดิมมีเพียงป้ายเล็กๆ บอกว่า ตรงนี้เป็นที่บรรจุพระอังคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ปัจจุบันคือในช่วงทศวรรษนี้เอง ที่มีพระรูปของพระองค์ท่านตรงกลาง ขนาบข้างด้วยพระรูปของพระวรราชชายา พระนางเจ้าสุวัฑฒนาซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เดินเข้าไปห้องข้างในที่ถัดเข้าไป เป็นพระพุทธเจ้าหล่อสีทองประทับอยู่บนโขดหิน มีพระภิกษุนั่งขนาบขวา-ซ้าย อาจจะหมายถึงพระอัครสาวก แต่เป็นของใหม่ทั้งสิ้น

ด้านหน้าองค์พระที่ว่านี้ เป็นพระพุทธเจ้าปางเลไลยก์ เล่าถึงพุทธประวัติตอนที่พระภิกษุสงฆ์ทะเลาะกัน พระพุทธองค์ทรงห้ามปรามก็มิได้เชื่อฟัง เป็นเหตุให้เสด็จไปประทับที่ป่าปาลิไลยก์ มีช้างมาปรนนิบัติรับใช้ มีลิงมาถวายรวงผึ้งด้วย

ภาพสองภาพนี้ไม่เข้ากัน คือถ้าจะเป็นพระพุทธเจ้าตอนที่เสด็จไปที่ป่าปาลิไลยก์ จะไม่มีพระภิกษุสงฆ์ และในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงช้างที่มีปรนนิบัติ แต่ไม่มีลิง เรื่องลิงมาเพิ่มเติมในชั้นอรรถกถา

เวลาที่เราสนใจศึกษา เราก็จะเห็นรายละเอียดที่ว่านี้

 

เมื่อออกมาจากมุขนี้ ตั้งใจจะไปชมทั้งสี่มุขขององค์พระ ตามมานะคะ

เราเดินทักษิณาวัตร เวียนขวา หันด้านขวาของเราเข้าหาสิ่งที่เราจะเวียน ซึ่งเพราะเราเข้ามาทางทิศตะวันออก การจะเดินเวียนขวา เราจึงต้องหันหน้าไปทางทิศใต้ จึงเรียกการเดินเวียนขวาว่า หันหน้าไปทางทิศใต้ด้วยเหตุนี้แหละ

ในระดับที่เราเดินนั้น ลานโดยรอบองค์พระเจดีย์มีส่วนนอกและส่วนใน ชะโงกหน้าเข้าไปส่วนในเห็นระเบียงรอบพระเจดีย์ ระเบียงโดยรอบพระเจดีย์นี้ พระท่านมาเรียนบาลีกันค่ะ โดยใช้กระดานตั้งกั้นระหว่างชั้น เสียงที่พระอาจารย์ท่านสอนในห้องนี้ก็อาจจะดังไปถึงอีกห้องหนึ่ง พระที่เป็นนักเรียนก็จะได้ประโยชน์สูงสุด คือได้เรียนบาลี 2 ชั้นไปพร้อมๆ กัน

แฮะๆ คิดเชิงบวกมากๆ แต่ในความเป็นจริง หลวงพี่ที่เรียนบาลีที่นี่ ว่า ต้องมีสมาธิมาก เพราะบางครั้งพระอาจารย์ที่สอนห้องโน้นอาจจะเสียงดังกว่าที่สอนในห้องนี้ ต้องตะแคงหูฟังดีๆ

รอบระเบียงด้านนอก มีพระพุทธรูปปางต่างๆ อันนี้เป็นของใหม่ แต่ก็มีความหลากหลายสมควรแก่การศึกษาโดยเฉพาะ

ตรงลานกว้างนั้น มีหอระฆังเป็นช่วงๆ เมื่อทำบุญแล้วก็ให้ตีระฆังเพื่อให้เทพเทวาได้โมทนาบุญด้วยกันกับเรา ไม่ใช่ตีระฆังเพื่อเอาสนุกอย่างเดียว

ตรงลานที่เดินนี้ มีความร่มรื่น มีต้นไม้ทรงปลูกโดยเจ้านายในสมัยต่างๆ เป็นที่ระลึกเวลาที่พระองค์ท่านเสด็จฯ มา ที่เห็นส่วนมากเป็นลีลาวดีสีต่างๆ มีดอกคูนสลับในบางจุด

 

ก่อนที่จะถึงมุขถัดมา มองไปทางซ้ายมือ ก่อนทางลงไปอีกระดับหนึ่ง มีสิ่งก่อสร้างเป็นปูน รูปร่างสี่เหลี่ยม ขนาด 1 เมตร มีลูกกรงล้อมรอบ มีประตูเปิดเข้า-ออก สูงไม่เกิน 1.5 เมตร

เดาได้ไหมคะ เป็นที่พักคนเมาค่ะ เวลามีงานปี มักจะมีคนเมาเอะอะรบกวนชาวบ้าน ตำรวจก็จะเอามากักบริเวณไว้ที่นี่ รุ่งขึ้นหายเมาแล้วก็ปล่อยกลับบ้านได้

เราเดินต่อมาถึงมุขที่สอง (คือทิศใต้) เดินเข้าไปในองค์พระเจดีย์ ตรงนี้เข้าไปดูจิตรกรรมฝาผนัง สองข้างเป็นรูปวาดของเทพยดา คนธรรพ์ ครุฑ นาค ฯลฯ เข้าใจว่าที่มาสักการะพระปฐมเจดีย์ ที่น่าสนใจ ต้องไปดูพระราชวังสนามจันทร์ก่อนค่ะ รูปนี้มาจากหอพระในพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อวาดจิตรกรรมชิ้นนี้ในพระราชวังเสร็จแล้ว ล้นเกล้าฯ ร.6 โปรดเกล้าฯ ให้ช่างศิลป์มาวาดรูปนี้ที่ผนังชั้นในขององค์พระเจดีย์ด้วย

เมื่อเราเดินลอดประตูเข้ามา หันกลับไปแล้วเงยหน้าดูที่ผนังจะเป็นรูปวาดขององค์พระปฐมเจดีย์ โดยมีองค์พระเจดีย์เดิม ที่เป็นทรงพระปรางค์ปรากฏซ้อนอยู่

แต่ในการศึกษาล่าสุดพบว่าซ้อนเข้าไปข้างในอีกที เป็นพระเจดีย์รูปทรงแบบสาญจีที่อินเดียค่ะ

บอกแล้วว่า ยิ่งศึกษายิ่งสนุกนะคะ

 

มุขด้านนี้ ถ้าเบี่ยงไปทางซ้ายมือจะมีบันไดทางลงไปอีกระดับหนึ่ง สองจุดที่อยากให้ดู คือพิพิธภัณฑ์ของวัด เมื่อลงมาแล้วจะอยู่ซ้ายมือ เป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ด้านนอกมีธรรมจักรหิน คล้ายกับของจริงที่ขุดได้สมัยพระเจ้าอโศกฯ พุทธศตวรรษที่ 3 ที่มีคาถา เยธัมมาฯ แต่ของจริงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานในกรุงเทพฯ

ภายในพิพิธภัณฑ์ เดินเข้าไปมุมในสุด ขวามือ จะมีโลงของย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงของล้นเกล้าฯ ร.6 อยู่ ฝีมือดี แต่โลงไม่ใหญ่นะคะ เป็นที่ระลึกความรักที่ทรงมีต่อสุนัขของพระองค์ท่าน

เฉพาะเรื่องราวของย่าเหล ต้องไปต่อที่พระราชวังสนามจันทร์ที่มีรูปหล่อเป็นอนุสรณ์ค่ะ

ทีนี้ พอลงบันไดมาระดับนี้ ทางด้านขวามือ ตรงกับพิพิธภัณฑ์ เป็นพระอุโบสถของวัดพระปฐมเจดีย์ พระประธานคือพระรูปโบราณที่สุดที่ค้นพบในดินแดนแถบนี้ ยกมาจากวัดพระเมรุ เดิมประดิษฐานในจตุรมุขของวัดพระเมรุ เป็นองค์เดียวที่สมบูรณ์ที่สุด

เฉพาะได้มานมัสการพระประธานองค์นี้ ก็คุ้มกับการเดินทางคราวนี้จริงๆ

ทัวร์องค์พระปฐมเจดีย์ต้องขอต่ออีกอาทิตย์นะคะ