เศรษฐกิจ / ฤๅเศรษฐกิจไทยล้มทั้งยืน? โควิดเสี่ยงระบาดซ้ำ-ม็อบ 2 ฝ่ายปะทะ

เศรษฐกิจ

 

ฤๅเศรษฐกิจไทยล้มทั้งยืน?

โควิดเสี่ยงระบาดซ้ำ-ม็อบ 2 ฝ่ายปะทะ

 

ช่วงนี้ลมหนาวกำลังมา

ปกติแล้วหลายคนกำลังง่วนกับการจัดตารางท่องเที่ยวส่งท้ายปี ไปจนถึงช่วงปีใหม่

ยกเว้นปี 2563 นี้ที่บรรยากาศท่องเที่ยวไม่เหมือนเดิม จากผลพวงเศรษฐกิจไทยที่บอบช้ำ ตัวเลขเศรษฐกิจลบแล้วลบอีกจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

แม้ไทยจะคุมสถานการณ์ได้ แต่หลายประเทศทั่วโลกยังระบาดอย่างหนัก จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

หลังเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 อย่างรุนแรง พิษโควิดทำให้ประชาชนไม่กล้าควักเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย ขาดความเชื่อมั่น ไร้เม็ดเงินเข้าหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

แรงกระเพื่อมจากปัญหาเศรษฐกิจบวกเกมการเมืองได้กดดันให้รัฐบาลต้องปรับทีมเศรษฐกิจใหม่

มีการระดมสรรพกำลัง ออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อเยียวยาผลกระทบ ช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่อง

หลายโครงการทยอยออกมาหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่เราคนไทยไม่ทิ้งกัน แจกเงิน 5,000 บาทติดต่อกัน 3 เดือน, เยียวยาเกษตรกร, โครงการเราเที่ยวด้วยกันและแพ็กเกจกำลังใจ, โครงการคนละครึ่ง, จนถึงช้อปดีมีคืน จะคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2563 ตามจำนวนเงินค่าซื้อสินค้าและบริการที่จ่ายจริง ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม-ธันวาคม 2563 ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท

โดย “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประเมินว่า มาตรการทั้งหลายเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 200,000 ล้านบาท

 

เศรษฐกิจไทยยังไม่ทันโงหัว สถานการณ์การเมืองในประเทศเริ่มทวีความร้อนแรงขึ้น เพราะมีกลุ่มผู้ต้องการประชาธิปไตยนัดรวมตัวชุมนุมแสดงจุดยืนใหญ่เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา จากนั้นลุกลามมีการชุมนุมตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ

กระทั่งวันที่ 14 ตุลาคม มีการนัดชุมนุมใหญ่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนรัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ วันที่ 15 ตุลาคม

ประกาศนี้ไม่ได้ช่วยบรรเทาความร้อนแรงของการชุมนุม เพราะวันดังกล่าวมีนัดชุมนุมในพื้นที่ราชประสงค์แทน พร้อม 3 ข้อเรียกร้อง คือ

  1. ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก
  2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

และ 3. ปฏิรูปสถาบัน ตามลำดับขั้น พร้อมยืนยันว่าการปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้างสถาบันแต่อย่างใด

การชุมนุมราชประสงค์ในวันที่ 15 ตุลาคม ดูเหมือนจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ต่างกับการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม เพราะหลังจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้ย้ายการชุมนุมไปแยกปทุมวัน ฟากรัฐบาลได้ทำการสลายการชุมนุม ผ่านการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ตามมาด้วยน้ำผสมสารเคมีสีฟ้า ทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลาย เกิดการชุมนุมต่อเนื่องถึงตอนนี้

หากนับการชุมนุมดังกล่าวมีการเปลี่ยนกลยุทธ์การชุมนุมแบบดาวกระจายแทน เพื่อป้องกันการเตรียมสลายการชุมนุมของภาครัฐ เรียกได้ว่าขณะนี้การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้กลายเป็น ‘สงครามประชาชน’ อย่างเต็มรูปแบบแล้ว

การเมืองยืดเยื้อส่อปะทะ เพราะมีการรวมตัวกันของมวลชนเสื้อเหลือง ตั้งเป็นเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงจุดยืนในการปกป้องสถาบัน จนในวันที่ 21 ตุลาคม มีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทั้ง 2 กลุ่มเกิดขึ้น

แต่ไม่ถึงขั้นลุกลามมากนัก

 

ขณะนี้ยังมีการนัดรวมตัวกันของทั้งสองกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง กระจายทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า หากสถานการณ์ลุกลามจนเกินรับมือไหว เกิดเหตุการณ์ปะทะ และเสียเลือดเสียเนื้อกันเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย และภาพรวมเศรษฐกิจต่อไป

โดย “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มองว่า ปัจจัยการเมืองจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้นเป็นระยะๆ แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากมายนัก

แต่หากการเมืองยังหาจุดลงตัวไม่ได้ แน่นอนว่า จะส่งผลกระทบโดยตรงกับการลงทุนของภาคเอกชน และการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะต่างชาติที่กำลังคิดว่าจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็อาจยังไม่มา หรือชะลอการลงทุนออกไป เพื่อดูสถานการณ์และความชัดเจนของปัจจัยดังกล่าวก่อน

ทำให้ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองจะส่งผลกระทบหลายส่วน แม้ความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบหลักจะเป็นปัจจัยการระบาดโควิด-19 มากกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความร้อนแรงทางการเมืองจะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนประเทศต่อไป

“การระบาดโควิด-19 ในประเทศ หากมีการระบาดรอบ 2 จริง จะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกรอบ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง รวมถึงสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศไม่ดีขึ้น หรือรุนแรงมากกว่าเดิม ทำให้ต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง จึงต้องเตรียมงบประมาณในการใช้เยียวยาและรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต ซึ่งมีการออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นก้อน 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยจ่ายเงินแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท และยืนยันว่าจะยังไม่ใช้จนหมด แต่จะเป็นการประเมินตามสถานการณ์ และทยอยจ่ายออกมา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่รออยู่ในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก และประชาชนฐานรากจริงๆ” ดนุชาทิ้งท้าย

แม้ปัจจัยหลักที่ต้องรับมือให้หนักจะเป็นการป้องกันโควิด-19 ไม่ให้ระบาดระลอก 2 ในประเทศ แต่การเมืองที่ร้อนระอุขึ้นทุกวัน อาจเพิ่มแรงความกดดันอย่างสาหัสไม่แตกต่างกัน