รายงานพิเศษ / หยั่งกระแส ‘จบที่รัฐประหาร’ ผ่าทางตัน? ‘บิ๊กตู่’ ไม่ออก-ไม่ยุบ! จับตา ‘บิ๊กแดง’ แม่ทัพทีมภักดี ปกป้องสถาบัน หยั่งท่าที ‘บิ๊กบี้’ กับทางออก

รายงานพิเศษ

 

หยั่งกระแส

‘จบที่รัฐประหาร’ ผ่าทางตัน?

‘บิ๊กตู่’ ไม่ออก-ไม่ยุบ!

จับตา ‘บิ๊กแดง’ แม่ทัพทีมภักดี

ปกป้องสถาบัน

หยั่งท่าที ‘บิ๊กบี้’ กับทางออก

 

สถานการณ์ทางการเมืองเข้าสู่โหมดตึงเครียดร้อนแรง หลังบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนกรานว่าจะไม่ลาออก หรือแม้แต่ยุบสภา ไม่ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร

แม้จะเปิดประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 26-27 ตุลาคมที่ผ่านมาเพื่อหาทางออกแล้วก็ตาม แต่ก็กลายเป็นเวทีที่ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.ถล่มโจมตีม็อบ ส่วนฝ่ายค้านก็เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก

แต่ พล.อ.ประยุทธ์เลือกการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออก โดยเริ่มจากการทำกฎหมายประชามติก่อน พร้อมๆ กับการตั้งคณะกรรมการปรองดองหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล ส.ว. ส.ส. รวมทั้งจะเชิญแกนนำผู้ชุมนุม กลุ่มราษฎร และฝ่ายสนับสนุนร่วม แต่คาดกันว่าฝ่ายกลุ่มราษฎรจะไม่ร่วมวง

โดย พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่า หน้าที่ของผมยังไม่จบ หลังจากที่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เข้ามาสู่อำนาจ

“ผมเข้ามาด้วยอะไร หน้าที่ผมจบหรือยัง ถ้ายังไม่จบ ผมจำเป็นต้องทำให้จบ แต่จะจบด้วยอะไรก็แล้วแต่ ผมไม่ต้องการที่จะรักษาอำนาจให้นานที่สุด แต่เป็นหน้าที่ของผม”

“วันนั้น หากไม่มีการยึดอำนาจ ท่านทราบดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในสภา

รวมทั้งระบุว่า “ผมจะไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัว หนีปัญหา และผมจะไม่ละทิ้งหน้าที่ด้วยการลาออกในยามที่ชาติบ้านเมืองมีปัญหา และต้องสร้างบรรทัดฐานให้รัฐบาลต่อๆ ไปในอนาคตด้วย”

 

แต่ทว่าฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ยอมรับ เพราะหวั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะบิดพลิ้ว และโดยเฉพาะหากทำประชามติแล้วไม่ผ่าน เพราะกลไกต่างๆ อยู่ในมือรัฐบาล หรือคณะกรรมการปรองดองที่ตั้งขึ้นโดยรัฐสภาอาจถูกครอบงำ

พร้อมยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกก่อน แล้วค่อยเข้าขั้นตอนแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นก็จะยกระดับการชุมนุม นับจาก 29 ตุลาคม 2563 ที่ถูกคาดหมายว่าจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง

ส่งผลให้กระแสข่าวการปฏิวัติรัฐประหารสะพัดขึ้นมาอีกครั้ง แม้แต่ในการอภิปรายในสภา มีนักการเมืองฝ่ายค้านหลายคนก็เชื่อว่า ที่สุดจะเกิดการยึดอำนาจ เกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น เพราะไม่มีทางออกอื่น

เพราะหากเกิดการจลาจล เกิดความรุนแรง และมีการบาดเจ็บสูญเสียเกิดขึ้น ทหารจะต้องออกมาควบคุมสถานการณ์ และนำไปสู่การรัฐประหารได้

โดยอาจจะต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอีกครั้ง หรืออาจจะประกาศกฎอัยการศึกเลย

แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ประกาศไว้แล้วด้วยว่า หากเกิดรัฐประหาร ก็จะต่อต้าน

นั่นหมายถึงการเมืองไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงการสูญเสีย บาดเจ็บ นองเลือดได้

 

แต่ต้องไม่ลืมว่า ครั้งนี้ผู้ชุมนุมไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่เป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา

หากเกิดอะไรขึ้น มันจะไม่เหมือนเหตุการณ์กระชับพื้นที่คนเสื้อแดง 99 ศพในปี 2553 ที่ตอนนั้น พี่น้อง 3 ป.เป็นฝ่ายรัฐบาล

บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ เป็น รมว.กลาโหม บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.ประยุทธ์เป็นรอง ผบ.ทบ.

แต่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น กลายเป็นทหารระดับ ผบ.หน่วย และผู้ปฏิบัติ ที่ต้องไปขึ้นศาลชี้แจง ที่จนบัดนี้คดีก็ยังไม่จบสิ้น

มาคราวนี้ 2563 หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกครั้ง มันจะจบไม่เหมือนเดิม

แม้ว่าในที่สุดทหารจะต้องรัฐประหารควบคุมสถานการณ์ก็ตาม แต่จะเป็นการรัฐประหารที่ไม่เหมือนเดิมเช่นกัน

เมื่อฝ่ายนักการเมืองเชื่อว่า ที่สุดจะต้องเกิดการรัฐประหาร เพราะไม่มีทางออกอื่น

จึงทำให้ ผบ.เหล่าทัพชุดนี้ถูกจับตามอง

ทั้งบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. บิ๊กอุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. และบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. และรวมถึงบิ๊กปั๊ด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.

แต่ในการวางแผนรัฐประหารแล้ว มักจะรู้กันแต่ในส่วนของ ทบ. และเมื่อรัฐประหารแล้ว จึงจะให้ ผบ.เหล่าทัพอื่นมาร่วมแผงอำนาจด้วย

แต่คราวนี้ ไม่ใช่แค่ ผบ.ทบ. พล.อ.ณรงค์พันธ์เท่านั้น ที่จะเป็นแกนนำหลัก แต่รวมทั้ง พล.อ.เฉลิมพล ผบ.ทหารสูงสุดด้วย

ทั้ง พล.อ.เฉลิมพล และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ล้วนเป็นนายทหารคอแดง ที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904)

ที่สำคัญคือ ทั้ง 2 คนเป็นนายทหารน้องเลิฟสายตรงของบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองเลขาธิการพระราชวัง และเป็นอดีต ผบ.ทบ. ที่เชื่อกันว่ายังมีเพาเวอร์ในกองทัพ

เพราะทั้ง พล.อ.เฉลิมพล และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็เป็นเพื่อนรุ่นน้องที่สนิทสนมมาก การที่ทั้ง 2 คนได้เป็น ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทบ. ส่วนหนึ่งก็เพราะ พล.อ.อภิรัชต์

ยิ่งเมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ได้ลาสิกขาจากการบวชเป็นพระแล้ว กลับมาทำหน้าที่รองเลขาธิการพระราชวัง ก็ยิ่งถูกจับตามอง

โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องสถาบัน ทั้งข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การใช้ถ้อยคำในการชุมนุม ป้ายข้อความ และการไปยื่นหนังสือที่สถานทูตเยอรมนี

มีเรื่องเล่ากันในกองทัพว่า เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์กับขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระบรมราชินี เมื่อ 14 ตุลาคม ที่สะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล และม็อบมาล้อมทำเนียบฯ สถานการณ์ฝ่ายรัฐบาลตึงเครียด จนที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้น

มีข่าวสะพัดว่า พล.อ.อภิรัชต์ที่ในเวลานั้นเป็นพระอภิรตโนอยู่ เตรียมพร้อมสำหรับการลาสิกขา

แต่ที่สุดก็ไม่ได้สึกออกมาแต่อย่างใด เพราะ พล.อ.ประยุทธ์สามารถพลิกเกม พลิกสถานการณ์ได้

แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจะนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ของแกนนำการชุมนุม ว่าเป็นการวางยา รวมถึงถูกอภิปรายในสภาว่า เป็นข้อบกพร่องของฝ่ายรัฐและเจ้าหน้าที่ก็ตาม

จนที่สุด พล.อ.อภิรัชต์ก็ครองจีวรต่อ ได้ไปธุดงค์และปลีกวิเวกที่วัดในต่างจังหวัด กับพระที่เคยเป็นเพื่อนเก่า และลูกน้องเก่าตามที่ตั้งใจไว้

จนครบกำหนด ลาสิกขาเมื่อ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเตรียมกลับมาสวมเครื่องแบบสีกากี ทำหน้าที่รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นข้าราชบริพารในพระองค์

โดยมีกำหนดในการเข้าเฝ้าฯ เพื่อเข้ารับหน้าที่วันที่ 29 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เพิ่งเกษียณราชการไป คือ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี อดีต ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.อภิรัชต์ อดีต ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร. พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.

พร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่ เข้าเฝ้าฯ เป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง ที่ถูกจับตามองอย่างมาก ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อน และความเคลื่อนไหวเรื่องสถาบัน

แต่ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่สวมเสิ้อเหลืองออกมาแสดงพลังปกป้องสถาบัน และโดยเฉพาะที่มารับเสด็จตามเส้นทางเสด็จ โดยเฉพาะที่หน้าวัดพระแก้วและลานพระราชวังดุสิต ที่เปล่งเสียงทรงพระเจริญ และในหลวงสู้ๆ และการถวายความจงรักภักดี วิธีการต่างๆ

ที่สำคัญคือ ทรงเตรียมปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯ ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนราษฎรหลายจังหวัดในภาคต่างๆ ของประเทศ ตลอดทั้งพฤศจิกายน จนถึงปลายเดือนธันวาคม จากเดิมที่กำหนดไว้แค่ 1 พฤศจิกายน

หลัง พล.อ.อภิรัชต์ลาสิกขา พ้นเพศบรรพชิตออกมาแล้วก็ยังคงถูกจับตามอง ทั้งๆ ที่อยู่ในสถานภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแล้วก็ตาม

แต่ทว่าเรื่องสถาบันได้ถูกดึงมาเป็นเรื่องการเมืองแล้ว ทั้งในการชุมนุมและในสภา เมื่อ 26-27 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงทำให้บทบาทของ พล.อ.อภิรัชต์ยังคงต้องถูกจับจ้องต่อไป เพราะถือว่าเป็นนายทหารที่มีความจงรักภักดี และเป็นผู้ประสานงานเชื่อมต่อระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับสถาบัน

ในช่วงวิกฤตม็อบที่ชุมนุมแบบเบิ้มๆ ต่อเนื่องตั้งแต่ 14 ตุลาคมเรื่อยมานั้น แม้จะบวชอยู่ แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็รับรู้สถานการณ์ และมีความเป็นห่วง

และได้มีการพบปะพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ในขณะที่ยังเป็นพระ และได้รับกิจนิมนต์ลงเรือไปในพิธีลอยอังคารบิดาของ พล.อ.ประยุทธ์ แถววัดอโศการาม ที่เชื่อกันว่าอาจมีการหารือเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองด้วย

อาจกล่าวได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงสายตรงกับ พล.อ.อภิรัชต์เสมอ

ในช่วงนั้นเริ่มมีการพูดถึงสงครามลูกผสม หรือ Hybrid Warfare ที่ พล.อ.อภิรัชต์เคยพูดถึงเมื่อครั้งขึ้นเวทีบรรยายพิเศษ “แผ่นดินของเรา” ครั้งเป็น ผบ.ทบ.

โดยมีการนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้น ที่นำโดยนักเรียน-นักศึกษา และมีการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร และมีลักษณะคล้ายการชุมนุมที่ฮ่องกง

ที่ครั้งนั้น พล.อ.อภิรัชต์กล่าวถึงการชุมนุมที่ฮ่องกง ที่จะกลายมาเป็นฮ่องกงโมเดลในประเทศไทย และนำรูปที่เป็นเงาที่เชื่อกันว่าเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับนายโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวในฮ่องกงด้วย

จนที่สุดคำว่า Hybrid Warfare นี้ก็ถูกนำไปใช้เป็นข้อความ โดยกลุ่มปกป้องสถาบัน ที่ไปชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา

รวมทั้งข้อความที่สะกิดเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ที่เคยอยู่ฮ่องกงมาก่อน ว่า พาดพิงการชุมนุมในฮ่องกง ที่อาจจะได้ผล แต่จะไม่เวิร์กในประเทศไทย

โดยก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดในแถลงการณ์ เอ่ยอ้างถึง “พลังมืด” ว่า ตนเองจะต้องทำหน้าที่ในการปกป้องประเทศจากพลังมืด ไม่ว่าจะมาจากที่ใดก็ตาม

ก่อนที่ต่อมาจะพูดในรัฐสภา เตือนผู้ชุมนุมและคนที่อยู่เบื้องหลังว่า อย่าดึงต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการภายในประเทศ มันอันตรายที่สุดเพราะเขากำลังชิงขั้วอำนาจกันอยู่

ที่ยิ่งทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ยิ่งถูกจับตามองยิ่งขึ้นไปอีก

 

แถมทั้งยังมีบรรดาแฟนคลับ หรือกองเชียร์ ก็พากันมาตั้งความหวังว่า พล.อ.อภิรัชต์ที่สึกจากการเป็นพระมาแล้วจะกลับมาทำหน้าที่ดูแลปกป้องสถาบัน มาเป็นแม่ทัพในการต่อสู้กับขบวนการล้มล้างสถาบัน

เพราะแม้จะพ้นจากเก้าอี้ ผบ.ทบ.มาแล้วก็ตาม แต่โดยตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ถือว่ามีหน้าที่โดยตรง

อีกทั้งสายสัมพันธ์ของผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดนี้กับ พล.อ.อภิรัชต์ ก็ถือว่าแนบแน่นอย่างมาก เพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 20 กับ พล.ร.อ.ชาติชาย ผบ.ทร. และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ผบ.ตร. รวมทั้ง พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม

ส่วนกับ พล.อ.เฉลิมพล และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่เป็นเพื่อนรุ่นน้องเตรียมทหาร 21 และ ตท.22 นั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะแนบแน่นที่สุดก็ว่าได้ในสายทหารคอแดง

 

ท่ามกลางกระแสข่าวหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าท้ายที่สุดประเทศไทยจะจบลงที่การปฏิวัติรัฐประหาร แต่จะแตกต่างกว่าทุกครั้ง และอาจตามมาด้วยการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ในเวลานี้ ผบ.ทบ.อาจไม่สามารถสั่งการทุกหน่วยขุมกำลังที่เคยถูกเรียกว่าเป็นขุมกำลังปฏิวัติได้อีกแล้ว เพราะได้ถูกโอนย้ายไปเป็นหน่วยในพระองค์ รวมทั้งให้เป็นทหารคอแดง ขึ้นตรงกับ ฉก.ทม.รอ. 904 ทั้ง ร.1 รอ. ร.11 รอ. และ พล.1 รอ., พล.ม.2 รอ., พล.ร.2 รอ. แม้ว่า ผบ.ทบ.จะเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 โดยตำแหน่งก็ตาม

แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้บัญชาการเหล่าทัพเองก็ไม่มีใครอยากที่จะปฏิวัติรัฐประหาร เพราะเสี่ยงต่อการถูกต่อต้านอย่างหนัก และปัญหาที่ตามมาทางด้านเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาโควิด และปัญหาความมั่นคง

หากโฟกัสไปที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ.แล้ว เป็นนายทหารประชาธิปไตยพอตัว แถมมีลูกสาวเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะได้รับทราบแนวคิดต่างๆ ของเยาวชนคนรุ่นใหม่

โดยเฉพาะเป็นนายทหารสายวัดสายพระธรรมะธัมโม ที่ต้องไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน โดยเฉพาะก่อนนอน ส่วนช่วงเช้าก็ตระเวนไหว้พระสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่เช้าตรู่ ทั้งที่ศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว พล.1 รอ. และศาลพระภูมิกองทัพบก และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะขึ้นห้องทำงาน

แต่ด้วยจุดยืนของการเป็นทหารรักษาพระองค์ ที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดี ที่ได้ประกาศไว้แล้วว่าจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ในบางสถานการณ์ก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

จากที่เคยประกาศไว้ว่า โอกาสในการปฏิวัติรัฐประหารเป็นศูนย์ หากไม่มีการสร้างเงื่อนไข

แต่ทว่าในเวลานี้สถานการณ์เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และไม่มีอะไรแน่นอน ที่สำคัญคือ ฝ่ายความมั่นคงเองก็ยังไม่อาจประเมินได้ว่าจะจบอย่างไร เกมของฝ่ายผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุนจะเป็นแบบใด

เงื่อนไขของการปฏิวัติรัฐประหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสถาบัน และมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น

จึงไม่แปลกที่ช่วงนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์จะงดให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการชุมนุม หรือแม้แต่ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

รวมถึงเมื่อมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสั่งทหารกลับหน่วยที่ตั้งแล้วก็ตาม

แต่ในช่วงสถานการณ์ตึงเครียดนั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ติดตามสถานการณ์ตลอดที่มีการชุมนุม โดยเฉพาะวันที่เคลื่อนพลมาที่ทำเนียบรัฐบาล

พล.อ.ณรงค์พันธ์เข้าประชุมติดตามสถานการณ์ทั้งเช้า-เย็นและค่ำ ที่ บก.ทบ. และในบางวันก็อยู่ที่ พล.1 รอ.

แต่มาตอนนี้ แม้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วก็ตาม แต่หน้าที่ของทหารคือการถวายความปลอดภัยและปกป้องสถาบัน พล.อ.ณรงค์พันธ์จึงตัองติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

กล่าวกันว่าสถานการณ์การเมืองวิกฤตครั้งนี้ กองทัพอาจจะเป็นเพียงฝ่ายปฏิบัติเท่านั้น

แต่จะเห็นทีมเวิร์กของ พล.อ.อภิรัชต์กับผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่ชุดนี้ ในการแก้วิกฤตบ้านเมืองครั้งนี้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะเปิดเผยหรือในทางลับ

   แต่จะรูปแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์