ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ในประเทศ
Wind of Change
“…อนาคตมันล่องลอยอยู่ในห้วงอากาศ
ฉันรู้สึกถึงมันได้ในทุกหนทุกแห่ง
พัดพามากับสายลมที่เปลี่ยนแปลง…”
คือเนื้อหาบางส่วนของเพลง Wind Of Change ของวงร็อก “เยอรมัน” Scorpions
ที่ดูเหมือนจะเข้ากับสภาพการณ์ของประเทศไทย
ซึ่งในตอนนี้ ลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังโหมแรง
แต่แรงโดยไม่รู้ว่า จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
จะหวนคืนสู่ “จารีต”
หรือการรื้อใหม่ ในนามปฏิรูป
ทั้งสองกระแสมีความเคลื่อนไหว ทั้งน่าสนใจ และทั้งน่าวิตกไปพร้อมๆ กัน
เนื่องจากเกรงว่า จะพัด “ปะทะ” กันหรือไม่
โดยในส่วน “จารีต” ที่มีเจตจำนงในการปกป้องสถาบัน
กำลังปลื้มปีติกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ
ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือวันปิยมหาราช ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อหัวค่ำวันของวันดังกล่าว
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยเสด็จด้วย
ตลอดเส้นทางเสด็จฯ ประชาชนที่สวมใส่เสื้อสีเหลืองได้พร้อมใจกันเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้อง
และบางช่วงได้เปลี่ยนเป็นตะโกนว่า “ในหลวงสู้ๆ”
โดยที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ และแย้มพระสรวลให้แก่พสกนิกรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างใกล้ชิด
เหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้บันทึกคลิปวิดีโอไว้ได้และนำมาเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์
หนึ่งในคลิปที่ถูกพูดถึงมากที่สุด
เป็นคลิปวิดีโอความยาว 08.03 นาที เผยแพร่ผ่านบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Thitiwat Tanagaroon หัวข้อว่า “ผมจะเป็นลมครับ พระองค์ท่านจำผมได้”
ในคลิปดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่ในหลวง ราชินี ทรงมีพระปฏิสันถารกับนายฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ซึ่งเป็นผู้อัญเชิญภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปยืนอยู่ใกล้พื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม “ราษฎร” ด้านศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม
ทั้งนี้ คลิปเนื้อหาบางช่วง มีดังนี้
พระราชินี : “คนนี้ไปยืนถือป้าย คนนี้ไปยืนชูป้ายท่ามกลางผู้ประท้วง ขอบคุณมากๆ เราจำได้ ขอบคุณมากๆ เป็นกำลังใจให้ ขอบคุณมากๆ”
พระเจ้าอยู่หัว : (ทรงชี้พระดัชนีไปยังชายคนดังกล่าว) “ใช่ไหม คนนี้”
พระราชินี : “ใช่ คนเดียวถือป้าย”
พระเจ้าอยู่หัว : “กล้ามากๆ เก่งมาก ขอบใจ”
ฐิติวัฒน์ : “ทรงพระเจริญครับ รักในหลวงมากๆ ทรงพระเจริญ”
พระเจ้าอยู่หัว : “ขอบใจมาก ขอบใจ”
ฐิติวัฒน์ : ” เป็นบุญของผมมากๆ ครับ ทรงพระเจริญ หาที่สุดไม่ได้”
พระราชินี : “ขอบคุณนะคะ เราก็ภูมิใจที่คุณทำมาก ขอบคุณมาก”
พระเจ้าอยู่หัว : “กล้ามาก ขอบใจมาก”
ภายหลังทั้ง 2 พระองค์ทรงพระดำเนินไปจากจุดนั้น ได้ปรากฏเสียงชายเจ้าของคลิปร่ำไห้อย่างดังด้วยความปลาบปลื้มใจ และพูดว่า “ท่านจำผมได้ๆ” โดยที่ประชาชนคนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ต่างเข้ามาแสดงความยินดีชื่นชม และบอกให้ทำความดีกันต่อไป
ส่วนอีกคลิปวิดีโอหนึ่ง เป็นคลิปวิดีโอความยาว 1.09 นาที
เผยแพร่ผ่านบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า หลวงปู่พุทธะอิสระ ตั้งค่าเป็นสาธารณะ
พร้อมคำบรรยายว่า “ขอบคุณมาก…”
โดยช่วงหนึ่งปรากฏภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแตะไหล่อดีตหลวงปู่พุทธะอิสระที่สวมเสื้อสีขาวด้วยพระหัตถ์ขวา 2 ครั้ง และทรงตรัสว่า ขอบใจมาก
ทั้งนี้ อดีตหลวงปู่พุทธะอิสระเป็นผู้นำในการชุมนุมปกป้องสถาบันเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม และประกาศจะเคลื่อนไหวต่อไป
ภาพและคลิปวิดีโอต่างๆ ข้างต้น ถูกติดแฮชแท็ก #กล้ามากเก่งมากขอบใจ และ #ในหลวงสู้สู้ ขึ้นป็นเทรนด์ทวิตเตอร์ยอดนิยม 2 อันดับแรกอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ในหลายจังหวัดมีผู้ใส่เสื้อเหลืองแสดงจุดยืนชุมนุมปกป้องสถาบันกันอย่างต่อเนื่อง
ทำให้กระแสจารีต พุ่งขึ้นสูงในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ท่ามกลางกระแสการพุ่งสูงของกระแสจารีตดังกล่าว
ในอีกด้าน กระแสที่ต้องการ “ปฏิรูป” ก็พัดแรงเช่นกัน
โดยเฉพาะในวันเดียวกันคือ วันที่ 23 ตุลาคม ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
“กลุ่มภาคีนิรนาม” ได้จัดกิจกรรม นอนแคมป์ไม่นอนคุก
และเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเสนอคือ
1) ปล่อยตัวแกนนำโดยไม่มีเงื่อนไข
2) ยุติการคุกคามประชาชน ยกเลิกการดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุม
3) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2563
4) เปิดทางให้แก้ไขรัฐธรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว.
และ 5) ปฏิรูปสถาบันให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ในข้อที่ 3 ที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกนั้น
เป็นกรณีต่อเนื่องจากกลุ่มราษฎรรวมตัวที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม แล้วเคลื่อนตัวฝ่าด่านตำรวจไปประชิดทำเนียบรัฐบาล
และได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ สมาชิกกลุ่มคณะราษฎร พร้อมคณะ ได้ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งของนายกฯ ต่อตัวแทนจากรัฐบาล
โดยขีดเส้นตาย 3 วันให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก
ถ้าไม่ปฏิบัติตาม จะมีข้อเรียกร้องที่จะมี “มากกว่ารัฐบาล” ซึ่งยังไม่เปิดเผย
หลังปฏิบัติการประชิดทำเนียบดังกล่าว น.ส.ภัสราวลีถูกตำรวจจับกุมตัวในคืนดังกล่าวทันที
และแม้ศาลจะมีคำสั่งให้ตำรวจปล่อยตัวในรุ่งขึ้น ไม่ต้องเข้าเรือนจำตามแกนนำคนอื่น
ชื่อ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ ก็ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปทันที
มายด์ ปัจจุบันอายุ 25 ปี สังกัดแกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และสมาชิกคณะประชาชนปลดแอก
เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีฯ
เริ่มสนใจและเคลื่อนไหวการเมืองหลังจากการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557
ปรากฏตัวครั้งแรกๆ ในการชุมนุมแฟลชม็อบ เมื่อปี 2558 ในนามของกลุ่ม “มหานครเพื่อประชาธิปไตย”
และมีบทบาทร่วมกับเครือข่ายหลายกลุ่มของนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งกิจกรรมชุมนุม รวมไปถึงกิจกรรมเสวนาต่างๆ
เธอมีหมายจับหลายหมายจับ กระทั่งถูกจับกุมเมื่อคืนวันที่ 21 ตุลาคม
แต่หลังจากได้รับการปล่อยตัวตามคำสั่งศาล ก็ได้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มราษฎรต่อทันที
โดยยังคงมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธการลาออก
คำประกาศของกลุ่มราษฎร ที่ว่าจะไป “มากกว่ารัฐบาล” ก็เริ่มต้นขึ้น
โดยเฉพาะที่แสดงผ่านแฟนเพจเยาวชนปลดแอก วันที่ 26 ตุลาคม 2563 ระบุข้อความว่า “พร้อมกันที่แยกสามย่าน เพื่อร่วมเดินขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนี”
เป้าหมายที่ “ปักหมุด” ณ สถานทูตเยอรมนีนี้เอง
ทำให้กระแสจารีต และกระแสปฏิรูป มาเผชิญหน้ากันอย่างแหลมคม
โดยฝ่ายจารีต เมื่อเห็นความเคลื่อนไหวนี้อาจจะกระทบกับสถาบัน จึงตอบโต้ทันที
ทั้งนี้ นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา พร้อมนายพิชิต ไชยมงคล นำมวลชนกลุ่มประชาชนคนไทย ชิงตัดหน้าไปชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย ถนนสาทรใต้ กทม.
พร้อมยื่นหนังสือชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทยเกี่ยวกับสถาบันต่อรัฐบาลเยอรมนีผ่านนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รับทราบ
ซึ่งนายพิชิตบอกว่า เอกอัครราชทูตเยอรมนีรับปากว่าจะนำหนังสือส่งต่อให้รัฐบาลเยอรมนี เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งกรณี ส.ส.เยอรมันอภิปรายในสภาพาดพิงสถาบัน
ก่อนที่จะสลายตัว ก่อนที่กลุ่มราษฎรจะเดินทางมา
ในช่วงเย็น กลุ่มราษฎรจำนวนมาก ชุมนุมกันที่สี่แยกสามย่าน แล้วเคลื่อนขบวนไปสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี จนมวลชนแน่นเต็มพื้นที่ถนนสาทรทั้งสองฝั่ง
ผู้ชุมนุมนำป้ายไวนิลขนาดใหญ่มีข้อความว่าปฏิรูปสถาบัน กางขึ้นหน้าสถานทูต
และส่งตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม 3 คนคือ ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา น้องมายด์-น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และนายวรินท์ แพทริคแม็คเบลน ไปยื่นหนังสือต่อนายเกออร์ก ชมิดท์
หลังจากนั้น มายด์ น.ส.ภัสราวลี ได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่ด้านหน้าสถานทูต ว่า ทูตบอกกับเราทั้ง 3 คนที่เข้าไปว่า ท่านจะส่งหนังสือนี้ให้ทางรัฐบาลเยอรมนี และสภาเยอรมนีให้รับทราบ และท่านทูตยังบอกอีกว่า พวกเขารับฟังเราอย่างจริงใจ และเห็นได้ว่าเสียงของเรามีค่าจริงๆ
แม้เหตุการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีของทั้งสองกลุ่มจะผ่านไปด้วยดี
แต่จุดยืนที่ฝ่ายจารีตและฝ่ายปฏิรูปแสดงออกผ่านเอกอัครราชทูต ผ่านไปยังรัฐบาลเยอรมนีนั้น อยู่กันคนละสุดขั้ว
ซึ่งอยู่ห่างๆ กันคงไม่มีปัญหาอะไร
แต่เราก็คงไม่ปฏิเสธว่า ประเด็นอันแหลมคมจากกรณีนี้ รวมถึงมวลชนที่ผุดขึ้นทั้งสองฝ่าย ได้สะสมเงื่อนไข และมีแรงผลักดันทั้งโดยธรรมชาติ และไม่ธรรมชาติ ทำให้อาจเกิดการปะทะกันและบานปลายไปสู่สิ่งไม่พึงประสงค์ได้โดยง่าย
ไม่ต่างจากท่อก๊าซธรรมชาติที่ระเบิดรุนแรง ดังที่คนไทยได้เห็นกันตำตาเมื่อไม่กี่วันก่อน
จึงมีคำถามร่วมกันว่าจะหาทางออกอย่างไร
กระแสลมได้ส่งสัญญาณให้รับทราบแล้วว่า เราคงจะห้ามการเปลี่ยนแปลงไม่ให้เกิดคงไม่ได้
เพียงแต่จะพัดไปทางไหน
และจะเป็นลมหวนมาปะทะกันหรือไม่
หากปะทะ ไม่เพียงแต่จะร้ายแรงถึงขั้นนองเลือดและสังเวยชีวิตกันอีกเท่านั้น
ยังอาจเป็นเงื่อนไขให้มีผู้อ้างที่จะนำประเทศกลับคืนไปสู่วงจรอุบาทว์อีกก็ได้!