กรองกระแส / จุดเลี้ยว การเมืองไทย จากสถานการณ์ 24 กันยายน ถึงเหตุการณ์ 16 ตุลาคม

กรองกระแส

 

จุดเลี้ยว การเมืองไทย

จากสถานการณ์ 24 กันยายน

ถึงเหตุการณ์ 16 ตุลาคม

 

ตราบใดที่มีการมองข้ามบทบาทและความหมายของสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 กันยายน กับสถานการณ์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ตราบนั้นปัญหาอันเป็นวิกฤตในขณะนี้จะยังไม่จบ

เพราะโอกาสที่จะทำ “ความผิด” ซ้ำ มีแนวโน้มและความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่ง

สภาพการณ์อันปรากฏในห้วงแห่งการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 26 และวันที่ 27 ตุลาคม สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัด

เด่นชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้ตระหนักใน 2 สถานการณ์ข้างต้น

อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อมองเห็นสถานการณ์ในวันที่ 24 กันยายน กลับมองเห็นแต่ภาพอันปรากฏ ณ ศิริราชพยาบาลและขยายผลสะเทือนสูงจนเกินจริง

แต่มองไม่เห็นภาพวันที่ 24 กันยายน ณ ที่ประชุมรัฐสภา

อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อมองเห็นสถานการณ์ในวันที่ 16 ตุลาคม กลับมองเห็นแต่อาการแตกกระเจิงของผู้ชุมนุมเมื่อประสบเข้ากับน้ำผสมสารเคมีอันฉีดจากตำรวจ

แต่มองไม่เห็นภาพอันตามมาในวันที่ 17 ตุลาคม

 

กรณี 24 กันยายน

กับความแหลมคม

สถานการณ์อันเกิดขึ้นในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 กันยายน เมื่อมีข้อเสนอจากพรรคพลังประชารัฐให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแทนที่จะลงมติรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นั่นคือ การเปิดโปงตัวเองอย่างล่อนจ้อน

เป็นการเปิดโปงจากความจัดเจนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สะสมมาตั้งแต่หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ท่ามกลางบทเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

เป็นการเปิดโปงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในพลังที่มีอยู่ในมือของตนผ่าน 1 พรรคพลังประชารัฐ 1 จาก 250 ส.ว.ว่าจะสามารถทำอะไรก็ได้ในทางการเมือง

โดยไม่สนใจพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

ความมั่นใจเดียวกันนี้ ความจัดเจนเดียวกันนี้ เมื่อนำมาใช้อีกภายในกระบวนการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญวันที่ 26-27 ตุลาคม ยิ่งเท่ากับตอกย้ำ

ตอกย้ำว่ามิได้สรุปเป็น “บทเรียน”

 

กรณี 16 ตุลาคม

กับผลอันตามมา

สถานการณ์การสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน ย่านสยามสแควร์ เมื่อคืนวันที่ 16 ตุลาคม เป็นผลและความต่อเนื่องจาก 2 กรณีประสานเข้าด้วยกัน

1 กรณีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงใน กทม.

ขณะเดียวกัน 1 ความย่ามใจจากการที่สามารถเข้าไปไล่ต้อนและจับกุมแกนนำไม่ว่านายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ตลอดจน น.ส.ปภัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในเช้าวันที่ 15  ตุลาคม

จึงไม่ลังเลใจที่จะเผด็จศึกในตอนค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

นี่คือการประสานจุดได้เปรียบในทางกฎหมายโดยเฉพาะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง กับการลงมือปฏิบัติด้วยความรุนแรง

หวังจะสยบ กำราบให้เกิดความหวาดกลัว

แต่ผลอันตามในวันต่อมา ไม่ว่าจะเป็นที่ห้าแยกลาดพร้าว ไม่ว่าจะเป็นที่แยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นแยกเกษตร บางเขน

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงไม่มีความหมาย

 

จาก 24 กันยายน

ถึง 16 ตุลาคม

เด่นชัดอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ในวันที่ 24 กันยายน สะท้อนให้เห็นด้านที่หลอกลวง การไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ว่าจะเป็นหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่ว่าจะเป็นหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 แม้จะมีเสียงเรียกร้องกระทั่งกลายเป็นกระแสในทางสังคมเรื่องการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

เป้าหมายก็คือ จะบริหารจัดการไปตามความจัดเจนของตน

เด่นชัดอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ในวันที่ 16 ตุลาคม สะท้อนให้เห็นความเคยชินอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการใช้ “อำนาจพิเศษ”

เมื่อไม่มีมาตรา 44 ก็งัดเอาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงมาเป็นเครื่องมือ

จากสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 กันยายน เมื่อประสานเข้ากับสถานการณ์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ความเชื่อที่เคยมีต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กลายเป็นความเพ้อฝัน

สัมผัสได้ในโฉมหน้าและความเป็นจริงอย่างแท้จริง

 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

กับวลี นรกอยู่ที่คนอื่น

เมื่อเข้าสู่สถานการณ์การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ตุลาคม โฉมหน้าของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งวางแบ ณ เบื้องหน้าประชาชน

ล่อนจ้อน เปล่าเปลือย

คำว่า “นรกอยู่ที่คนอื่น” อันเป็นนิยามลือชื่อของนักปรัชญาเอ็กซิสตองเชียลลิสม์ชาวฝรั่งเศสก็กระจ่างสว่างแก่ใจ

การเมืองไทยเข้าสู่วงจร “ทำไมฝนจึงตก เพราะกบมันร้อง ทำไมกบจึงร้อง”

นั่นก็คือ ตลอด 2 วันแห่งการอภิปราย ปัญหามิได้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัญหามิได้อยู่ที่รัฐบาล หากแต่อยู่ที่รัฐบาลในอดีต หากแต่อยู่ที่ฝ่ายค้าน หากแต่อยู่ที่เด็กๆ

นี่คือวิถีอันน่าเป็นห่วงที่สังคมไทยกำลังก้าวเดินไป