ปฐมบท ‘มติชนสุดสัปดาห์’ โดยเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

ย้อนกลับไปถึงเหตุผลที่ “มติชน” ออก “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับแรก เพื่อทราบโดยทั่วกันอีกครั้ง

ซึ่งพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร แจ้งไว้ใน “บทกวน” แทนที่จะเป็นบทบรรณาธิการ

พงษ์ศักดิ์เป็นผู้ตั้งชื่อคอลัมน์เอง เพราะเป็นบรรณาธิการนิตยสารฉบับนี้คนแรกว่า

 

เรื่องของเรื่องมันมีอย่างนี้ครับ คือพวกเราชาวมติชนได้มานั่งพิจารณาว่า ในเมืองไทยอันอุตลุดอลวนนี้ การมีชีวิตและใช้ชีวิตซ้ำๆ ซากๆ สัปดาห์ละ 7 วันนั้นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายมหาศาล โดยเฉพาะการทำงานหนังสือพิมพ์ ที่ต้องกระโดดโลดเต้นตลอดทั้งปีไม่มีวันหยุดนั้นเป็นความเหนื่อยอ่อนที่เหลือกำลังรับ จะได้หยุดปีละ 1 วัน ในวันนักข่าวที่ 5 มีนาคม ก็ต้องทะเลาะกันทุกครั้ง กว่าจะหยุดได้ก็เซ็งก่อนทุกปีไป การทำงานอยู่กับข่าวแบบหนังสือพิมพ์ที่ไปๆ มาๆ ก็ชักจะเหมือนแท่นพิมพ์ขึ้นทุกวัน จึงเป็นความซ้ำซากที่เหลือกำลังรับ

ก็เมืองไทยไม่ได้มีข่าวปฏิวัติให้ตื่นเต้นกันทุกวันเมื่อไหร่ล่ะ

เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงคิดกันว่า น่าจะต้องทำอะไรให้มันเปลี่ยนแปลงแก้เซ็งบ้าง ทั้งคนทำหนังสือพิมพ์ และคนอ่านหนังสือพิมพ์

เราจึงได้คิดทำมติชนสุดสัปดาห์ฉบับพิเศษวันอาทิตย์นี้ขึ้นมา เพราะมีความเห็นสอดคล้องกับหนังสือพิมพ์ทั้งหลายทั่วโลกว่า หนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ หรือที่เขาเรียกกันว่าซันเดย์ เอดิชั่นนั้น น่าจะเป็นฉบับพิเศษมีเรื่องราวสาระบันเทิงอื่นๆ ที่อ่านกันได้ระหว่างวันหยุดตลอดทั้งครอบครัว โดยไม่ต้องไปเน้นหนักเรื่องข่าวประจำวัน ซึ่งบรรจุมาเต็มหัวแล้วตลอดสัปดาห์

โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้การก้าวลงบันไดบ้านในวันหยุดทีก็ต้องมีเงินติดกระเป๋าเป็นฟ่อนนั้น บังคับให้ชาวประชาชีทั้งหลายต้องหาทางที่จะพักผ่อนราคาถูกอยู่กับบ้าน เราจึงเห็นว่าหนังสือพิมพ์วันอาทิตย์ ซึ่งตามปกติธรรมดาก็ไม่ค่อยจะมีข่าวคราวอะไรมากนัก เมื่อเปลี่ยนรูปโฉมโนมพรรณออกมาให้เป็นหนังสือครอบครัวอ่านสบายๆ ได้ทั้งความรู้เบื้องหลังข่าว สาระ บันเทิง ปกิณกะต่าง ๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายคนทำและคนอ่าน คนทำก็จะได้มีโอกาสเปลี่ยนรสเปลี่ยนชาติการปรุงกับข้าวของตนมั่ง คนอ่านก็จะได้ประโยชน์เป็นหนังสือสุดสัดาห์ประจำครอบครัวอย่างว่า

คิดถึงขั้นนี้เราก็คิดต่อไปว่า เมื่อจะทำกันทั้งทีก็ต้องทำกันให้พิเศษกันจริงๆ ไม่ใช่ทำกะหร็อมกะแหร็มพอเป็นพิธี ถึงเกิดความคิดเปลี่ยนขนาดฉบับพิเศษวันอาทิตย์มาเป็นขนาดแท็บลอยด์ที่ท่านถืออยู่ในมือขณะนี้ละครับ เพิ่มหน้าเพิ่มตาขึ้นมากับเพิ่มราคาอีกนิดหน่อย เพื่อจะรับกับข้อเขียนหลากหลายที่เพิ่มขึ้น ขนาดรูปเล่มกระชับมือ สามารถเก็บรวมไว้เย็บเป็นเล่มใหญ่ได้สะดวก อ่านกันจุใจตลอดทั้งสัปดาห์ สนนราคาก็พอสมน้ำสมเนื้อ 5 บาท ต่อความหนา 40 หน้า หรือกว่านั้น

ไม่แพงหรอกครับ ในยุคโอเลี้ยงใส่นมแก้วละ 3 บาทอย่างนี้ เราให้ท่านมากกว่าจมหู ถ้าเทียบกันอีกที แม้จะขึ้นราคาจากรายวันปกติอีกนิดหน่อย แต่เราก็ให้ท่านมากกว่า ไม่เชื่อลองเปรียบคุณภาพกับราคาดูกันเองเถิดครับ

 

เหตุผลขนาดนี้ ท่านทั้งหลายคงเข้าใจถึงเหตุที่เรามีนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ขึ้นมาแทนมติชนรายวันฉบับวันอาทิตย์นะครับ

และไม่เพียงเท่านั้น ยังมี “กุ๊ก” เดินเข้ามาเป็นแถวยาวเหยียด เสนีย์ เสาวพงศ์ รพีพร เจญ เจตนธรรม เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นเรศ นโรปกรณ์ จูงมือ นร นรปรก มาด้วย ขรรค์ชัย บุนปานนั้นไม่ต้องสงสัย กุ๊กยืนโรง สุทธิชัย หยุ่น เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ นายหนุนยัน สุรีย์ ภูมิภมร เดช ภราดา สันติภาพ ไชยวงศ์เกียรติ ไพสันต์ พรหมน้อย รัฐกร อัสดรธีรยุทธ์ พิเชียร คุระทอง หญิงเล็ก กับสตาฟฟ์ของเรา หรืออย่างวีระ มุสิกพงศ์ ก็เริ่มหัสนิยายการเมืองเพิ่มอารมณ์ขัน ฯลฯ

จากนั้นไม่นาน มติชนสุดสัปดาห์ ปกพิมพ์ 2 สี ไม่ได้เย็บเล่ม ก็เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ฉบับประจำสัปดาห์ที่ 7-13 กุมภาพันธ์ 2525 มีผู้เข้ามาดำเนินการเพื่อให้มีความเข้มข้นขึ้นอีก มีบรรณาธิการบริหาร เสถียร จันทิมาธร และผู้ช่วยเพิ่มอีก 2 คน คือ ศรีศักดิ์ นพรัตน์ อารักษ์ คคะนาท กับคณะบรรณาธิการ

เมื่อต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ขณะที่ค่าครองชีพและราคาเครื่องอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องปรับราคาจาก 5 บาทเป็น 6 บาท ตั้งแต่ฉบับสัปดาห์ที่ 7-13 มีนาคม 2525

คอลัมน์ “บทกวน” จากหน้าต้นๆ ย้ายไปอยู่หน้าใน เป็น “ความเรียงมติชน” จากบรรณาธิการบริหาร ขรรค์ชัย บุนปาน เขียน “ของดีมีอยู่” ต่อมาอีกนาน จากหน้าในมาประจำการหน้าสุดท้าย

อีกไม่กี่ปีต่อมา มติชนฉบับปกกระดาษอาร์ต 4 สีก็ปรากฏโฉม ออกมาเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับสมบูรณ์ กระทั่งทุกวันนี้ที่มีสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร เป็นบรรณาธิการ เติบโตมายาวนานเป็นปีที่ 40

 

วางบิลฉบับที่ผ่านมาแจ้งว่า ขรรค์ชัย บุนปาน ให้เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ผู้เป็นหลาน ไปเชิญสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ มาเป็นที่ปรึกษาและนักเขียนในนาม “หลวงเมือง” กับข้อเขียนอื่นๆ เช่นเรื่องสั้นในนาม “ส.ทรัพย์นิรันดร์” “เดินตามดาว” ในมติชนสุดสัปดาห์ และ “ดวงใครดวงมัน” ในข่าวสด

สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นที่ปรึกษาให้กับมติชน เช่นเดียวกับนักเขียนคนอื่น เริ่มทำงานหนังสือพิมพ์ในบริษัท ไทยพาณิชยการ จำกัด กับนิตยสารกระดึงทองรายเดือน มีสาทิส อินทรกำแหง เป็นบรรณาธิการ เขียนเรื่องสั้นลงในกระดึงทองเป็นที่รู้จักมานาน ซึ่งประยอม ซองทอง ครั้งเรียนที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยานำมาลงตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือของวิทยาลัย ชื่อเรื่อง “ไม่มีแล้วพรุ่งนี้”

เมื่อออกจากบริษัทไทยพาณิชยการมาทำหนังสือ “สัปดาห์สาร” กับคุณหญิงนิลวรรณ ปิ่นทอง แล้วไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายรายการที่สถานีวิทยุเสียงสามยอด ก่อนออกไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เจ้าพระยารายสัปดาห์

สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ คือผู้เขียนบทรายการ “ข่าวสารทางอากาศ” ทางสถานีวิทยุ ททท. ออกอากาศเวลาเที่ยงคืน เสียงระหว่างจบแต่ละข่าวเป็นที่รู้จักดีของผู้ฟังคือ “แคว้ก แคว้ก แคว้ก” ตั้งแต่ พ.ศ.2506-2527 นามปากกา “หลวงเมือง” ใช้เขียนคอลัมน์ “นาฏกรรมเมืองหลวง” เมื่อมาทำงานในหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ขรรค์ชัย บุนปาน ตั้งนามปากกาให้ใช้ในคอลัมน์ “ดวงใครดวงมัน” พยากรณ์ชีวิตในนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ว่า “ทรัพย์ สวนพลู”

เมื่อเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับ “มติชน” เขียนพยากรณ์ชีวิตในชื่อเดินตามดาวในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ และดวงใครดวงมัน ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน มีวงเล็บไว้ว่า “ไม่รับพยากรณ์เป็นการส่วนตัวครับ”

“หลวงเมือง” มีข้อเขียนในศิลปวัฒนธรรมคอลัมน์ “ทรงจำรำลึก” และ “ความทรงจำ” อยู่หลายปี