แมลงวันในไร่ส้ม /ม็อบยกระดับ หลังบิ๊กตู่ชู 2 นิ้วสู้ต่อ จับตา พ.ย. โหวตรื้อ รธน.

แมลงวันในไร่ส้ม

ม็อบยกระดับ

หลังบิ๊กตู่ชู 2 นิ้วสู้ต่อ

จับตา พ.ย. โหวตรื้อ รธน.

 

ข่าวการชุมนุมของ “คณะราษฎร” ยังเป็นข่าวใหญ่ในสื่อต่างๆ

มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยในห้วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ วันที่ 21 ตุลาคม มีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับยื่นหนังสือลาออกจากนายกฯ ฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยระบุว่า ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกรัฐมนตรีใน 3 วัน

วันที่ 23-24 ตุลาคม กลุ่มราษฎรจัดชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้ปล่อยแกนนำ 8 คนที่ยังถูกควบคุมตัว

มีการค้างคืนวันที่ 23 ตุลาคม ประกาศข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ได้แก่

  1. ปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยไม่มีเงื่อนไข
  2. ยุติการคุกคามประชาชน หยุดใช้กฎหมายปิดปาก และยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมที่ผ่านมา
  3. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ภายในวันที่ 24 ตุลาคมนี้
  4. เปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนเสนอ และปิดสวิตช์ ส.ว.

และ 5. ปฏิรูปสถาบัน

พล.อ.ประยุทธ์ตอบข้อเรียกร้องของม็อบด้วยการชูสองนิ้ว พร้อมกับกล่าวว่าไม่ออก โดยในวันที่ 24 ตุลาคม ที่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ภายหลังพิธีเจริญพระพุทธมนต์นพเคราะห์ พล.อ.ประยุทธ์เดินทักทายประชาชนที่มาร่วมพิธี ซึ่งประชาชนได้ให้กำลังใจไม่ให้ลาออก นายกฯ ได้ตอบกลับว่า “ไม่ออกๆ”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เป็นบทสวดมนต์โบราณเมื่อกรณีที่บ้านเมืองประสบภัยพิบัติ และมีเรื่องน้ำท่วมอุทกภัย โรคระบาดโควิด-19 และสวดเพื่อถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

ช่วงนี้เรามีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งตนไม่สบายใจ ต้องการทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ด้วยความตั้งใจของตน คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ และประชาชนทั่วประเทศ ว่าวันนี้ต้องเอาศาสนาที่เป็นหลักของชาติมาด้วย เพราะมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และในรัฐบาลก็มีคำว่าประชาชน

“ทุกกลุ่มทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ซึ่งนายกฯ ก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลคนไทยทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ก็ขอให้ทุกคนหันหน้ากลับมาปรองดอง ต้องลองหารือร่วมกันในการแก้ปัญหา ปัญหาทุกปัญหาแก้ได้ ถ้าตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา และรัฐบาลก็ยืนยันว่าตั้งใจจริง ก็ขอให้อยู่ในกรอบที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ขอให้ทุกคนมีความสุข”

ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศนัดหมายที่ราชประสงค์ ในวันที่ 25 ตุลาคม และที่สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งจะมีการเดินไปยังสถานทูตเยอรมนี วันที่ 26 ตุลาคม

โดยเฉพาะการชุมนุมวันที่ 26 ตุลาคม ตรงกับวันแรกของการเปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อรับฟังความเห็น ส.ส. และ ส.ว. หาทางออกจากวิกฤต

 

การชุมนุม 25 ตุลาคม ที่ราชประสงค์ มีประชาชนเข้าร่วมเต็มพื้นที่ ชูประเด็นเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และชูป้ายระบุข้อความต่างๆ ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเข้มงวด

ส่วนการชุมนุมวันที่ 26 ตุลาคม ปรากฏว่าในช่วงเช้า มีกลุ่มประชาชนนำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ อดีตแกนนำ กปปส. มายื่นหนังสือต่อสถานทูตในช่วงเช้า

ช่วงบ่าย เป็นการชุมนุมของกลุ่มราษฎร มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก โดยเดินจากสามย่านมิตรทาวน์ไปยังสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทร

และส่งตัวแทน 3 คน ได้แก่ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และนายวรินทร์ แพทริก แม็กเบลน เข้ายื่นหนังสือ

ก่อนจะกลับมาแจ้งที่ชุมนุมซึ่งตั้งเวทีปราศรัยปัญหาทางการเมือง โดยระบุว่าสถานทูตจะส่งหนังสือไปยังทางการเยอรมนี

ขณะที่การประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา เพื่ออภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บรรยากาศดุเดือด โดยฝ่ายค้านได้โจมตีรัฐบาลว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และปัญหาทางการเมืองต่างๆ

ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ลุกขึ้นชี้แจงว่า

รัฐบาลได้มีการพูดคุยหารือเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 โดยได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหารือว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอย่างไรในสภา และได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้ว ในเดือนพฤศจิกายนนี้ สภาจะพิจารณารัฐธรรมนูญในวาระที่ 1-3 จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม

“แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้ เพราะต้องรอการทำประชามติก่อน ในสัปดาห์หน้ารัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติเข้าสู่การพิจารณาสภา เมื่อ พ.ร.บ.เสร็จเมื่อใดก็จะทำประชามติเมื่อนั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลก็สนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงอีกว่า “กรณีนายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง จะเกิดอะไรบ้าง ได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายแล้ว ถ้านายกฯ ลาออก ครม.ต้องพ้นทั้งคณะ และเลือกนายกฯ ใหม่จากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งต้องใช้ทั้งเสียง ส.ส. และ ส.ว.ด้วย ต้องมีมติเสียงกึ่งหนึ่ง ดังนั้น ต้องมี ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ ด้วย ส่วนกรณีการยุบสภา พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเหมือนกัน สมาชิกภาพของ ส.ส.ก็ต้องสิ้นสุดลงเช่นกัน ผมจึงไม่แน่ใจว่าท่านต้องการหรือไม่ ต้องการอะไรตรงนี้”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ประกอบด้วยฝ่ายค้านฝ่ายละ 1 ฉบับ รวม 2 ฉบับ และร่างแก้ไขรายมาตรา 4 ฉบับ รวม 6 ฉบับ

แต่หากรวมร่างของ “ไอลอว์” ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ

ส่วนขั้นตอนการพิจารณา นายวิษณุขยายความเพิ่มจากทนายนิติธรว่า จะพิจารณาวาระ 1 รับหลักการในต้นเดือนพฤศจิกายน แล้วตั้งกรรมาธิการไม่เกิน 45 คน ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. โดยไม่มีคนนอก

จากนั้นทิ้งไว้ 15 วัน นำกลับเข้ามาพิจารณาในสภาในวาระที่ 2 และ 3 ในเดือนธันวาคม 3 วาระ เสร็จสิ้น นายวิษณุระบุ

 

พ้นจากสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมก็จะเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ที่จะเริ่มสตาร์ตแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการลงมติในวาระ 1 ที่ค้างมาจากเดือนกันยายน

มีการเล่นเกมเตะถ่วง ตั้งกรรมาธิการมาศึกษาก่อนรับหลักการ

รัฐสภาจะเข้าสู่วาระลงมติอีกครั้ง

น่าจับตาว่า หากรัฐบาลยังเล่นลีลาเตะถ่วง จะมีผลทางการเมืองอย่างไร หลังจากที่เจอม็อบชุดใหญ่มาแล้วในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา