เครื่องเคียงข้างจอ/ วัชระ แวววุฒินันท์ /คำตอบ คือ รู้งี้

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

คำตอบ คือ รู้งี้

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้พบเจอกับ “หนุ่มเมืองจันท์” คุณตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์ ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 25 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานีครับ

วันนั้นเป็นวันสุดท้ายของงาน ซึ่งบอกเลยว่าผมไม่ได้ไปเยือนงานหนังสือขนาดใหญ่อย่างนี้นานแล้ว ตั้งแต่ที่จัดที่เดิมคือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพราะรู้สึกว่าบรรยากาศไม่ไปกับผมเลย

อย่างไรน่ะหรือ

ถ้าผมจะเลือกหยิบจับ อ่าน และซื้อหนังสือสักเล่ม ผมอยากใช้เวลากับมัน ในการเดินชม หยิบขึ้นมาเปิดดู อ่านพอคร่าวๆ ก่อนจะตัดสินใจซื้อ นั่นคือเราต้องมีเวลาในการหยิบจับพิจารณา โดยไม่ต้องเบียดเสียด แย่งกัน หนวกหูกับการฟังเสียงตะโกนเรียกลูกค้า หรือเหนื่อยจนอารมณ์รักการอ่านพาลจะหมดไป

ผมจึงไม่สนุกกับการเดินงานหนังสือที่ว่าสักเท่าไหร่

แม้ย้ายมาจัดที่อิมแพ็คได้ 2 ปี ผมก็ไม่คิดจะไป แต่ที่ไปมาเพราะวันนั้นผมต้องขึ้นเวทีครับ เพื่อเปิดตัวหนังสือ “เรื่องนี้ดี รู้งี้อ่านนานแล้ว” ของสำนักพิมพ์ I am the best

ซึ่งผมได้เขียนถึงแล้วเมื่อฉบับก่อน

 

บนเวทีนอกจากผมก็จะมีคุณตุ้ม สรกล ที่ร่วมพูดคุยกัน ในฐานะหนึ่งในคอลัมนิสต์ของรายการ “เจาะใจ” ที่ส่วนหนึ่งของรายการได้กลายมาเป็นเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้

วันนั้นคุณตุ้มเหมือนนักแสดงคิวชุก เพราะก่อนจะขึ้นเวทีที่ว่า ก็ไปปรากฏตัวที่บูธของสำนักพิมพ์มติชนก่อน เพื่อพบกับแฟนหนังสือ พร้อมเซ็นชื่อในหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจลำดับที่ 32 “โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว” ของเขา

ตอนผมเดินไปใกล้บูธมติชน ได้ยินเสียงคนโห่ร้องกรี๊ดๆ ยังแปลกใจว่าแฟนหนังสือตุ้มเยอะขนาดนี้เลยหรือ และสงสัยว่าเจอหน้าตุ้มแล้วทำไมต้องกรี๊ดขนาดนี้ จะว่าหล่อก็ไม่น่าจะใช่ ก็พบว่าที่กรี๊ดๆ น่ะเป็นพวกแฟนคลับที่มาดักเจอตัวนักแสดงหนุ่มๆ จากซีรี่ส์วายที่ทำมาจากหนังสือน่ะเอง

ยังคุยกับตุ้มเลยว่า เราทำคอลัมนิสต์สายวายมั่งไหม เผื่อจะมีคนมากรี๊ดๆ ยังงี้บ้าง

วันนั้นตุ้มเลยได้ใช้เวลากับหนังสือ 2 เล่มคือ “โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว” กับ “เรื่องนี้ดี รู้งี้อ่านนานแล้ว”

ซึ่งผมก็ได้อ่านทั้งสองเล่มเรียบร้อยแล้วเช่นกัน เลยขอหยิบยกส่วนหนึ่งในหนังสือมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์บ้านเมืองยามนี้ที่มีม็อบชุมนุมกันอยู่แบบดาวกระจาย

 

คําถามของคนทั่วไปที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ แล้วเรื่องนี้จะจบอย่างไร

นี่คือ “คำถาม” ที่หลายคนช่วยกันหา “คำตอบ”

ซึ่งอย่างที่หนุ่มเมืองจันท์ได้บอกไว้ว่า “โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว” งั้นเราลองมาดูซิว่าอะไรพอจะเป็นหนึ่งใน “คำตอบ” ได้บ้าง

ในหนังสือของเขาในตอนที่ชื่อ “ฝันที่ไม่เหมือนกัน” เขียนถึงเรื่องธุรกิจของครอบครัว ที่คนเป็นพ่อได้ก่อร่างสร้างขึ้น ก็หวังจะให้คนเป็นลูกได้ทำหน้าที่สืบทอดธุรกิจต่อจากตน

หากลูกยินดีทำ ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเขาไม่สนใจจะทำล่ะ ปัญหาเกิดทันที นั่นคือ “พ่อ” กับ “ลูก” ฝันกันคนละเรื่อง

เรื่องนี้เขียนจากการบอกเล่าของคุณบุญคลี ปลั่งศิริ ที่ปรึกษาบริษัทชั้นนำหลายแห่งบอกว่า “ไม่ควรจะฝืนใจลูก ยอมให้มืออาชีพมาสานต่อ หรือถ้าบริษัทใหญ่พอสมควรก็ผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบบ-ระเบียบของตลาดหุ้นจะช่วยให้เราบริหารงานง่ายขึ้น”

และในหนังสือยังเขียนไว้อีกว่า

“เถ้าแก่ส่วนใหญ่จะเก่งเรื่องเกมรุก แต่ทุกคนจะมีปัญหาตอนที่จะถอย”

“การวางแผน การถอยที่ดี ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของชีวิต คนเก่งจริงต้องวางหมากสุดท้ายให้เป็น”

 

แล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างไร

หาก “รัฐบาล” เปรียบเหมือนเป็น “พ่อ” แล้ว “ประชาชน” เป็น “ลูก” ตอนนี้พูดได้ว่า “ความฝัน” ของพ่อและลูกต่างกัน

พ่อฝันอยากให้ธุรกิจคือบ้านเมืองเดินต่อด้วยวิถีและความฝันอย่างหนึ่ง แต่ลูก คือประชาชน หรืออย่างน้อยก็คือคนรุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาประท้วง ก็อยากจะให้บ้านเมืองเดินอีกวิถีหนึ่ง ด้วยความฝันคนละแบบ

แล้วจะเดินต่ออย่างไร?

คุณบุญคลีบอกว่าให้ใช้ “มืออาชีพ” ในกรณีนี้ก็น่าจะเป็น “นักการเมืองอาชีพ”

เอาละ สมมุติว่าเราได้ “นักการเมืองอาชีพ” ที่ดี เข้ามาบริหารแล้วกัน (ไม่รู้จะฝันมากไปหรือเปล่า) นักการเมืองที่ดีก็จะต้องคิดตอบสนองบ้านเมืองในทางที่ดี และรับใช้ประชาชน

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ระบบระเบียบของตลาดช่วยกำกับดูแล ก็เทียบได้กับการบริหารบ้านเมืองในรูปแบบ “สภา” ทั้งสภาใหญ่ และสภาเล็ก เพราะนั่นจะเป็นหนทางที่ควรจะเป็น และไม่เดือดร้อนวุ่นวายมากที่สุด

แว่วว่ากลุ่มนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็กำลังจะใช้สภาเป็นทางออกกันอยู่ ต้องติดตามว่าผลจะออกมาอย่างไร

 

อีกอย่างหนึ่งที่ควรพูดถึงคือ “การถอย”

เมื่อวันหนึ่งที่เถ้าแก่จะถอย จะถอยอย่างไรให้ดีที่สุด เมื่อไรที่ “ลุงตู่” จะถอย จะวางมืออย่างไรให้บ้านเมืองเดินต่อได้อย่างดีที่สุด ต้องคิดภาพให้ออกเสียแต่ตอนนี้

อีกตอนหนึ่งที่น่าจะพอเป็น “ทางออก” ของปัญหาบ้านเมืองตอนนี้ได้ มาจากหนังสือ “เรื่องนี้ดี รู้งี้อ่านนานแล้ว” ในตอนที่ชื่อว่า “จุดดำบนกระดาษขาว” ซึ่งเป็นตอนที่คุณตุ้มเป็นคอลัมนิสต์นำเสนอเรื่องนี้ในรายการพอดี

ในหนังสือเล่าว่า “ครั้งหนึ่งในประเทศกานา คุณครูหยิบกระดาษขาวที่มีจุดดำอยู่หนึ่งจุดให้นักเรียนชั้น ป.6 ได้ดู และถามว่าใครเห็นอะไรบ้าง นักเรียนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเห็นจุดดำ ครูจึงบอกว่าน่าเสียดายที่ทุกคนเห็นแต่จุดดำ ไม่เห็นกระดาษขาวที่มีพื้นที่มากกว่าจุดดำด้วยซ้ำเลย”

“ซึ่งการมีทัศนคติอย่างนี้ จะทำให้มีความทุกข์ไปตลอดชีวิต”

เรื่องนี้บอกอะไรเรา บอกว่าคนเรามักมองแต่เรื่องที่เป็นลบ จำแต่เรื่องที่เลวร้าย หรือให้ความสนใจแต่เรื่องที่ไม่ดีงามอย่างเดียว ทั้งที่มีเรื่องดีๆ รอให้เราได้เห็น สัมผัส เรียนรู้อีกมาก

เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ที่อยากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ได้พยายามมองหาแต่ “จุดดำ” ของอีกฝ่ายหนึ่ง อยากให้มองให้กว้าง ให้รอบด้าน เพื่อเราจะเข้าใจในบริบทหลายๆ ด้าน หลายๆ มุม

โดยไม่ยึดแต่ “จุดดำ” ที่ทำให้เราหงุดหงิด หัวเสียเท่านั้น

 

อีกเรื่องหนึ่งในหนังสือตอนนี้คือ เรื่องกำแพงวัดของพระอาจารย์พรหมวังโส ที่ทั้งแผงกำแพงอิฐนั้นมีอิฐอยู่สองก้อนที่เบี้ยว ไม่ตรง ท่านก็รำคาญตารำคาญใจทุกครั้งที่มองเห็น

วันหนึ่งมีคนเดินมาชื่นชมกำแพงนี้ว่าสวยจัง ท่านก็บอกว่าใส่แว่นมารึเปล่า พร้อมชี้ให้ดูอิฐ 2 ก้อนนั้น คนคนนั้นก็ตอบกลับว่า “น่าเสียดายนะครับพระอาจารย์ เพราะอิฐอีกตั้ง 998 ก้อนนั้นเรียบดี” ท่านจึงได้คิดว่า

“ที่จริงข้อดีนั้นมีอยู่เยอะ ส่วนข้อเสียมีนิดเดียวเอง”

ต่อจากนั้นท่านก็มองไม่เห็นอิฐสองก้อนนั้นอีกเลย

ตอนนี้จึงอยากให้ “พ่อ” และ “ลูก” อย่ามองแต่อิฐที่บิดเบี้ยว แต่มองหาอิฐที่สวยงามของกันและกัน และหาทางสืบทอดธุรกิจนี้ต่อไปอย่างเหมาะสมที่สุด อาจจะเป็นธุรกิจที่มีจุดดำ หรืออิฐเบี้ยว ให้เราหงุดหงิดบ้าง แต่ถ้ามันเป็นกำแพงที่ดีที่สุดแล้ว ยังมีอิฐก้อนสวยๆ เต็มไปหมด หรือเป็นกระดาษขาวที่สมควรที่สุดแล้ว แม้จะไม่สะอาดเอี่ยมทั้งหมด ก็ต้องยอมรับและช่วยกันเดินหน้าต่อไป

ไม่อย่างนั้นทั้งพ่อและลูก อาจเป็นคนที่ช่วยกัน “ทุบกำแพง” นั้นลงกับมือเอง

หรือไม่ก็เป็นผู้ “ฉีกกระดาษขาว” นั้นทิ้งอย่างขาดสติก็เป็นได้

ที่ใส่หัวข้อว่า “คำตอบคือ รู้งี้” ก็เป็นดังที่ว่านี้เอง