การ์ตูนที่รัก / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ /จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

 

เมื่อป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ ได้เขียนข้อคิดเพื่อพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภาคผนวกชื่อ The Quality of Life of South-East Asian : A Chronicle of Hope from Womb to Tomb มีการนำเสนอในที่ประชุมเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2516

ต่อมาท่านได้นำมาแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

เรียกสั้นๆ ในภายหลังว่า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” พิมพ์ครั้งแรกในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 11 ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2516

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา สี่วัน

หลายท่านได้อ่านแล้ว หลายท่านอ่านข้อความสั้นจากปฏิทินซึ่งทำออกมาเป็นระยะๆ หรือได้อ่านคำโปรยจากสื่อต่างๆ

ในวาระ 100 ปีชาตกาลของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 9 มีนาคม พ.ศ.2559 มีหนังสือการ์ตูนแจกจ่ายเล่มหนึ่งชื่อ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เขียนภาพโดยเรืองศักดิ์ ดวงพลา และคาริญย์ หึกขุนทด บรรณาธิการเล่มโดยสุดใจ พรหมเกิด เป็นรูปเล่มสี่เหลี่ยมจัตุรัส พิมพ์สี่สี มีเนื้อหากระชับและมีรูปภาพสื่อความหมายน่าสนใจ

เหมาะจะให้อ่านกันอีกครั้งหนึ่งในเวลาเช่นนี้

 

เวลาล่วงเลยมา 47 ปีแล้ว

หนังสือการ์ตูนเริ่มต้นดังนี้ “เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่…” ภาพและเนื้อความสื่อความหมายเรื่องอาหารที่เพียงพอสำหรับสตรีตั้งครรภ์และมีระบบรับฝากครรภ์ทำคลอดที่มีคุณภาพ

สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีของแม่ตั้งครรภ์จะส่งผลให้เด็กที่เกิดมามีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดี (temperament) มีโอกาสเป็นเด็กเลี้ยงง่ายมากกว่าเด็กเลี้ยงยาก การเป็นเด็กเลี้ยงง่ายช่วยให้พ่อ-แม่ทำงานง่าย ผลที่ได้คือเด็กจะมีสุขภาพจิตที่ดีไม่ยาก ไม่ต้องพบพ่อแม่ที่อารมณ์เสียหงุดหงิดกับตัวเองตลอดเวลา พัฒนาเด็กก็จะไปในทางที่ดีโดยง่ายตามไปด้วย

คำถามคือ วันนี้พ่อ-แม่เมืองไทยมีกินพอรึยัง และมีคุณภาพการตั้งครรภ์ 9 เดือนที่ดีเพียงใด

มีระบบฝากครรภ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่มีคุณภาพมากเพียงพอหรือยัง

และมีชีวิตที่ไม่ต้องทำมาหากินปากกัดตีนถีบมากเกินไปหรือไม่

หน้าถัดไปแสดงให้เห็นรูปบ้านที่มีลูกหลายคนพร้อมข้อความ “ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อ-แม่ผมมีอยู่และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก…” ส่วนนี้บ้านเราน่าจะทำได้ดีพอสมควรแล้ว

ตามด้วย “พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกกฎหมายหรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่พ่อ-แม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข…”

ส่วนนี้ดูเหมือนเหตุการณ์จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หนุ่ม-สาวสมัยใหม่อยู่ด้วยกันตั้งแต่ไม่เข้าพิธีแต่งงานเป็นธรรมดา แต่จะครองรักยืนนานหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

“ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม…”

ความข้อนี้แสดงภาพครูอ่านนิทาน และพ่อ-แม่กินข้าวพร้อมหน้ากับลูก

ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่าการอ่านนิทานสำหรับเด็กอายุ 0-3 ขวบ เป็นเรื่องสำคัญสูงสุดเรื่องหนึ่งที่สมควรลงทุน เพราะมีประโยชน์ต่อสมอง จิตใจ และ Executive Function(EF) มากกว่ามาก ไม่นับผลพลอยได้ที่ดีอีกนับร้อยพันข้อต่อเนื่องกันไปเป็นโดมิโน่

ปัญหาคือมีกี่บ้านที่มีปัญญาหาเงินพอซื้อนิทานมาอ่านให้ลูกฟัง

เมื่อมีเงินแล้วมีกี่บ้านที่มีปัญญาจัดสรรเวลามาอ่านให้ลูกฟังทุกคืนก่อนนอนอย่างน้อยสามปี

มีครูกี่คนจากกี่ศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลที่เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ มีกี่แห่งที่มีเงินลงทุนและยอมลงทุนกับหนังสือนิทาน

สุดท้ายมีรัฐบาลไหนบ้างที่มีวิสัยทัศน์เรื่องนี้แล้วลงมาจัดการระบบหนังสือแห่งชาติรวมทั้งปฏิรูประบบดูแลเด็กเล็ก 2-3 ขวบให้มีหนังสือพร้อมอ่านจำนวนมากมายสำหรับทุกหลังคาเรือน และฟรี

ที่ผ่านมามีบางหน่วยราชการและบางหน่วยงานนอกราชการพยายามทำ แต่ทั้งหมดเป็นไฟไหม้ฟางเช่นเดียวกับทุกเรื่อง คือทำเพื่อให้ได้ชื่อว่าทำแล้ว มีตัวชี้วัดส่งหน่วยเหนือแล้ว แล้วจบเท่านั้นเมื่อเปลี่ยนหัวผู้บริหาร

ความจริงก็คือ เรื่องใหญ่ระดับนี้ต้องการการเมืองที่ดี และการกระจายอำนาจที่ดี ความพยายามที่ปลายทางไกลปืนเที่ยงจากรัฐรวมศูนย์มีโอกาสสำเร็จน้อยมาก

เรื่องพ่อ-แม่มีเวลานั่งลงกินข้าวพร้อมลูกอายุ 2-3 ขวบก็เป็นอีหรอบเดียวกัน มีกี่บ้านที่มีปัญญาทำ ในเมื่อพ่อ-แม่จำนวนมากต้องออกไปทำงานไกลบ้าน ทิ้งลูกไว้ให้เป็นหลานของปู่-ย่า ตา-ยาย

 

ข้ามไป 2-3 หน้าถึงข้อความที่ว่า “ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อ-แม่ผมจะรวยหรือจน…” ความข้อนี้เป็นที่รู้กันแล้วจากตัวเลขมากมายที่บ่งชี้ว่า ณ ปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษามากมายเหลือเชื่อ

นอกจากนี้ เรารู้แล้วว่าเด็กพิเศษหรือเด็กสติปัญญาบกพร่องทุกๆ คนสามารถพัฒนา Executive Function และไอคิวส่วนที่เขาถนัดได้เสมอ

ดังนั้น ประโยคที่สมบูรณ์กว่าคือ

“เด็กทุกคนมีโอกาสได้พัฒนา ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือมีข้อบกพร่องทางร่างกายหรือสติปัญญาเพียงใดก็ตาม”

เรื่องใหญ่โตขนาดนี้ต้องการการเมืองที่ดีและการกระจายอำนาจที่ดีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นที่เห็นแล้วว่าการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบันยังไม่ขยับเลยแม้แต่น้อย

ข้ามหลายหน้าไปที่รูปโลกกว้างใหญ่ “ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิดและวิชาของมนุษย์ทั้งโลก…”

ภาพประกอบเป็นหนังสือกองใหญ่ วันที่อาจารย์ป๋วยเขียนโลกยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เวิลด์ไวด์เว็บ กูเกิล และสมาร์ตโฟน

วันนี้นิยามของการเรียนวิชาความรู้เปลี่ยนไปแล้ว การเรียนรู้ถึงความคิดของมนุษย์ทั้งโลกทวีความสำคัญขึ้นมาก ทุกเพศสภาพ เพศวิถี ทุกศาสนาและชาติพันธุ์ ปรากฏตัวหมดแล้ว

หนังสือเล่ม (books) ยังจำเป็น แต่สัญญาณไวไฟที่ครอบคลุมทุกดอยและทุกเกาะในเมืองไทยเป็นเรื่องจำเป็นด้วย ไม่นับเรื่องห้องสมุดที่ใช้การได้ทุกหัวระแหง มีทั้งหนังสือและอีบุ๊กพร้อมมูล

เราต้องการการเมืองและการกระจายอำนาจที่ดีอีกเช่นกัน

 

ข้ามไปอีกหลายหน้าถึงข้อความ “ในฐานะที่ผมเป็นชาวนาชาวไร่ ผมก็อยากมีที่ดินพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีทำกินแบบใหม่ๆ…” รูปประกอบรูปหนึ่งเป็นผู้ชายใส่สูทยืนบรรยายให้ผู้ฟังซึ่งนั่งเรียงแถวหน้ากระดานโดยมีโต๊ะประชุมคลุมผ้าสวยงาม

ถึงวันนี้เราควรรู้แล้วว่าการบรรยายวิธีนี้ไม่มีประโยชน์อะไรกับชาวบ้านตามท้องเรื่อง แต่เรานิยมใช้วิธีนี้เพื่อใช้งบประมาณ จัดประชุม เกณฑ์คนมาฟังในสิ่งที่นักวิชาการนึกว่าดี

แต่ไม่รู้ว่าชาวบ้านรู้หมดแล้วด้วยวิธีและบริบทของแต่ละหมู่บ้าน อะไรที่นักวิชาการพูดจึงเป็นเรื่องเสียเวลาและเป็นหนึ่งในการละครที่มีอยู่ทั่วไปของบ้านเรา ประชุมให้เสร็จ ใช้งบประมาณให้หมด มีตัวชี้วัดเรียบร้อย แล้วปล่อยชาวบ้านกลับบ้านไป

ข้ามไปหน้าท้ายๆ “ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ…”

อันนี้ไปถามจะนะ หรือทุกภูมิภาคที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 อย่างหนักทะลุเครื่องวัดอย่างน้อยปีละ 3 เดือน เกิดความเจ็บป่วยเฉพาะหน้ามากมายตั้งแต่ตัวอ่อนตายในครรภ์ เด็กๆ เป็นหอบหืด วัยกลางคนหัวใจวายตายไม่รู้สาเหตุ และมะเร็งปอดที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน PM 2.5 ทำเราจะถึงเชิงตะกอนก่อนวัยอันควรคนละ 3-4 ปี