แมลงวันในไร่ส้ม/”เนติวิทย์” ปธ.สภานิสิตฯ ปชต.ในรั้วมหาวิทยาลัย ปะทะ “การเมือง” นอกรั้ว

“เนติวิทย์” ปธ.สภานิสิตฯ ปชต.ในรั้วมหาวิทยาลัย ปะทะ “การเมือง” นอกรั้ว

กรณี นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ปี 2560 ด้วยคะแนนเสียงข้างมากในที่ประชุมสภานิสิตจุฬาฯ 27 เสียง จาก 36 เสียงของ “สส.” หรือตัวแทนคณะต่างๆ

กลายเป็นข่าวที่สื่อบางสำนัก และบุคคลบางกลุ่ม พยายามใส่สีสันปลุกปั่นให้กลายเป็นสถานการณ์อันตราย

นอกจากในเว็บข่าวและสื่อต่างๆ แล้ว ในโซเชียลมีเดีย และแอพพ์ไลน์ เรื่องของเนติวิทย์ กลายเป็นหัวข้อร้อนแรง

ส่วนหนึ่งเพราะนิสิตปี 1 รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้นี้ เคยเสนอแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างออกไป

รวมถึงเสนอทบทวนค่านิยมที่เกี่ยวกับพิธีการต่างๆ ในมหาวิทยาลัย สร้างความไม่พอใจแก่ศิษย์เก่าบางส่วนของจุฬาฯ

หลังจากเป็นข่าว นายบัญชา ชลาภิรมย์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่นายเนติวิทย์เคยเสนอแนวคิดการเปลี่ยนการถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ในวาระ 23 ตุลาคม ว่า นายเนติวิทย์เป็นนิสิตคนหนึ่งของจุฬาฯ สามารถแสดงความคิดเห็นและมีข้อเสนอแนะต่อมหาวิทยาลัยได้

อย่างไรก็ตาม ประเพณีในวันที่ 23 ตุลาคม จัดขึ้นโดยสำนักบริหารกิจการนิสิต ศูนย์พัฒนกิจและนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาฯ และตัวแทนมหาวิทยาลัย ซึ่งเปิดกว้างให้นิสิตและประชาชนหรือศิษย์เก่าที่ประสงค์จะเข้าร่วมกิจกรรม ไม่ได้บังคับ

นิสิตที่ไม่เข้าร่วมก็ไม่ถูกหักคะแนน และเมื่อประสงค์เข้าร่วมกิจกรรม ก็ต้องทำตามแบบแผนที่กำหนดไว้ คือการก้มกราบถวายบังคม

เมื่อถามว่า มีศิษย์เก่าสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นต่อแนวคิดของนายเนติวิทย์หรือไม่ นายบัญชากล่าวว่า มีศิษย์เก่าโทรศัพท์เข้ามาสอบถามมากมาย ส่วนใหญ่จะแสดงความห่วงใยว่าหากเปลี่ยนแปลงวิธีการจะเป็นการรื้อวัฒนธรรมซึ่งส่วนใหญ่รับไม่ได้

ก่อนหน้านี้นายเนติวิทย์เป็นนักเคลื่อนไหวอิสระ ซึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ แต่ขณะนี้นายเนติวิทย์มีตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาฯ แล้ว มีหมวกที่สวมอยู่ ทั้งเป็นผู้นำองค์กร คงต้องระมัดระวังเรื่องพูดแสดงความคิดเห็น รวมทั้งต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองด้วย

นอกจากถล่มโจมตีทางเว็บไซต์แล้ว ยังมีการแชร์และฟอร์เวิร์ดภาพ นายการุณ โหสกุล อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ ที่ก้มกราบขอขมา ในโอกาสขอลาบวชกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหัวหน้าทีม ส.ส.กรุงเทพฯ

แล้วบิดเบือนข้อความว่า เป็นภาพนายเนติวิทย์ และระบุว่า คุณหญิงสุดารัตน์อยู่เบื้องหลังแนวคิดของนายเนติวิทย์

นายการุณ โหสกุล ซึ่งเป็นบุคคลในภาพตัวจริงออกมาชี้แจงว่า เป็นภาพตนเองตั้งแต่ปี 2557

แต่เรื่องราวยังลุกลาม กระทั่งคุณหญิงสุดารัตน์ให้ทนายไปแจ้งความดำเนินคดี

มีกลุ่มไลน์และบุคคลต่างๆ โดนแจ้งความหลายคน รวมถึงบุคคลในเครื่องแบบจำนวนหนึ่ง

เป็นภาพสะท้อนการเสพสื่อ การรับข่าวสารในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

ความเห็นในโซเชียลมีเดียที่สื่อบางกลุ่มนำไปขยายต่อมากที่สุด คือ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ

พล.ท.นันทเดช ตั้งข้อสังเกตถึงการเลือกตั้งสภานิสิต และประธานสภานิสิตจุฬาฯ ระบุว่า เสียงแค่ 27 คน ที่เลือกนายเนติวิทย์ จะมาเป็นตัวแทนนิสิตจุฬาฯ เกือบหมื่นคนได้อย่างไร

ก่อนทิ้งท้ายว่า ถามจริงๆ เถอะ เกิดมาเคยกราบแม่บ้างไหม!

 

รายใหญ่ที่ลงมาเล่นด้วย ยังได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทมหาวิทยาลัยไทย ต่อไทยแลนด์ 4.0” ถึงนายเนติวิทย์ ว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย และทำให้เสียชื่อสถาบันการศึกษานั้น

ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากหลายฝ่าย รวมถึง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความสั้นๆ ว่า

“ผมจบจุฬา… ไม่เห็นเสียชื่อ คนไม่ได้เรียนจุฬาฯ ยุ่งอะไรด้วย…

ขณะที่นายเนติวิทย์โพสต์เฟซบุ๊กสวนกลับว่า ใครคือความอับอายของชาติ ผ่านการศึกษา น่าจะรู้จักเคารพกติกาของบ้านเมือง ถ้าอยากเล่นการเมืองก็มาตั้งพรรคการเมืองสิ แต่ตัวเองกลับเล่นนอกกติกา ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ ฯลฯ

ธรณ์เทพ มณีเจริญ นิสิตปีที่ 1 ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความ “ลงแดง! กรณีเนติวิทย์กับสภานิสิตจุฬาฯ” ในเว็บไซต์ประชาไท วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนสรุปในตอนท้ายว่า

ในทัศนะของผู้เขียนบทความ เห็นว่าเหตุการณ์ที่สังคมไทย (โดยเฉพาะสังคมภายนอกรั้วจุฬาฯ) มีความสนใจต่อการที่นายเนติวิทย์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ปี 2560 นั้น

ในโลกโซเชียลได้มีเพจข่าวบางเพจทำการเขียนข่าวสร้างความเสียหายแก่นายเนติวิทย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการพาดหัวอย่างรุนแรงสร้างความเร้าอารมณ์ผู้เสพสื่ออย่างต่อเนื่อง

ทำให้นึกสงสัยถึงหลักจริยธรรมของสื่อสารมวลชน ว่าการที่เขียนข่าวพาดหัวปลุกปั่นให้สังคมเกลียดชังนิสิตชั้นปีที่หนึ่งนี้มีความสมควรหรือถูกต้องหรือไม่อย่างไร?

สื่อบางสื่อมีจุดประสงค์อย่างไรจึงปลุกระดมคนเช่นนั้น?

และทำให้นึกถึงกรณีตัวอย่างของการที่สื่อบางสื่อในอดีตได้ปลุกระดมเร้าอารมณ์มวลชนจนทำให้มวลชนเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเกิดการสังหารหมู่นิสิตนักศึกษาและประชาชนในกรุงเทพมหานคร ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ซึ่งมาจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐ และการใช้กำลังกลุ่มมวลชนแนวคิดฝ่ายขวา เช่น กลุ่มกระทิงแดง ฯลฯ ปลุกปั่นเร้าอารมณ์อย่างต่อเนื่อง โดยสื่อไร้จริยธรรมในยุคนั้น อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ดาวสยาม

จนทำให้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในเมืองหลวงของประเทศไทยดังกล่าว จากกรณีในอดีต ก็อาจสมควรที่จะสงสัยว่าสื่อบางสื่อในปัจจุบัน ที่มีการโจมตีนายเนติวิทย์อย่างต่อเนื่อง ในประเด็นการนำเสนอที่เขาไม่เห็นด้วยกับหลักจารีตของสังคมไทยนั้น มีจุดประสงค์ใดในการนำเสนอพาดหัวข่าว

การสร้างความแตกแยกในสังคมไทยเช่นนี้ และสังคมไทยที่กำลังลงแดงจากการถูกปลุกระดมโดยสื่อที่ไร้จริยธรรมเช่นนี้ จะดำเนินต่อไปได้อย่างน่ากังวลเพียงใด?

การเสนอข่าว และข้อวิจารณ์ของสื่อบางแห่ง จึงถือเป็นเรื่องที่น่าจับตาว่า เหตุใดบางกลุ่มบางฝ่าย จึงขยายกรณีนายเนติวิทย์อย่างเอาเป็นเอาตาย ถึงขนาดบิดเบือนภาพเพื่อจะเล่นงานนิสิตชั้นปีที่ 1 ซึ่งยังเป็นเยาวชนด้วยซ้ำ

ต้องการเพียงขายข่าวหรือมีจุดประสงค์ที่มากไปกว่านั้น สถานการณ์ข้างหน้าจะให้คำตอบได้ดีที่สุด