เกษียร เตชะพีระ | เหลียวมาข้างหลัง : คณะราษฎร, 6 ตุลาฯ และคนเสื้อแดง

เกษียร เตชะพีระ

รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ด้านการเมืองไทยกับการเมืองเปรียบเทียบของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ติดตามสังเกตค้นคว้าการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งออนไลน์และออฟไลน์ของนักเรียน-นักศึกษาปัจจุบันมาตั้งแต่เนิ่น โดยผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยเมื่อ 10 ตุลาคมศกนี้ เรื่อง “14 ตุลา : ประจักษ์ ก้องกีรติ มองการเกิดใหม่ของ “คณะราษฎร” กับภารกิจคืนศักดิ์ศรีให้เสื้อแดง คืนความจริงให้ 6 ตุลา” (https://www.bbc.com/thai/thailand-54491617?fbclid=IwAR3fE3yj9VkwXh-lnKie6f6FdZoCD6qyOsCmXLugBUJRddRiX4nNjsU4fU4) ได้ชี้ให้เห็นการนับญาติทางการเมืองกับอดีตของการเคลื่อนไหวนักเรียน-นักศึกษารุ่นปัจจุบันที่เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร 2563” อย่างแหลมคมน่าสนใจยิ่ง

การนับญาติทางการเมืองกับอดีต หรือนัยหนึ่งการเลือกผูกสัมพันธ์สำนึกสำเหนียกหมายการเคลื่อนไหวต่อสู้และเอกลักษณ์รวมหมู่ทางการเมืองของกลุ่มตนเองเข้ากับความทรงจำที่มีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่อสู้และเอกลักษณ์รวมหมู่ทางการเมืองของขบวนการในอดีต เป็นประเด็นที่อาจารย์ประจักษ์เคยกรุยทางทำมาก่อนในงานเรื่อง และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา (พ.ศ.2548)

ในกรณีนั้น ขบวนการนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาฯ 2516 เลือกนับญาติทางการเมืองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยเฉพาะกับพระราชหัตถเลขาทรงประกาศสละราชสมบัติลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 ถึงแก่อัญเชิญมาตีพิมพ์หน้าปกจุลสารของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นต้นแบบบันดาลใจในการคัดค้านเผด็จการทหารคณาธิปไตย

มาในครั้งนี้ อาจารย์ประจักษ์ตั้งข้อสังเกตแบบรวบยอดความคิดว่าแฟลชม็อบของนักเรียน-นักศึกษาปัจจุบันที่เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร 2563” ได้เลือกนับญาติทางการเมืองกับคณะราษฎร 2475, นักศึกษา-ประชาชนที่ถูกปราบปรามสังหารหมู่เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 และการเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านเผด็จการชนชั้นนำของคนเสื้อแดง/นปช. เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553

หากแต่มิได้สำนึกสำเหนียกหมายการเคลื่อนไหวต่อสู้และเอกลักษณ์รวมหมู่ของตนเองเข้ากับกระบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้และผลลัพธ์ของขบวนการนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม 2516 และขบวนการประชาชนพฤษภาประชาธิปไตย 2535 ที่คัดค้านเผด็จการทหารโดยเฉพาะเจาะจง

ผมอยากกล่าวเสริมว่า อันที่จริงการรื้อฟื้นจดจำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร 2475 ได้เป็นกระแสมาราวทศวรรษหนึ่งแล้ว โดยผ่านการเคลื่อนไหวทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์ (เปิดตัว 19 กันยายน 2553) และกลุ่มคนเสื้อแดง/นปช.

ดังที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ เช่น อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ (“คณะราษฎรกับรัฐประหาร 19 กันยายน”, 2556) และคุณธนาพล อิ๋วสกุล (“การเกิดครั้งที่ 3 ของคณะราษฎร?”, 2560) เป็นต้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า “คณะราษฎร 2563” นับญาติทางการเมืองกับคณะราษฎร 2475 และคนเสื้อแดง (ซึ่งนับญาติทางการเมืองกับคณะราษฎร 2475 มาก่อน) แล้วต่อยอดในท้ายที่สุดด้วยนักศึกษา-ประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อการฆ่าหมู่และรัฐประหารของชนชั้นนำเมื่อ 6 ตุลาคม 2519

ความทรงจำและการเลือกจำของคนเราเปลี่ยน เมื่อการเมืองเรื่องเวลา (chronopolitics ศัพท์ใหม่ที่ผมได้มาจากหนังสือเล่มล่าสุดของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล Moments of Silence : The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok, ค.ศ.2020) เปลี่ยน มันเปลี่ยนเมื่อคนปัจจุบันตั้งคำถามใหม่ให้กับอดีตด้วยโจทย์ใหม่ที่ตนกำลังเผชิญในสภาพการณ์จริงของปัจจุบันซึ่งมีลักษณะเฉพาะของปัญหาแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา แว่นหรือเลนส์ใหม่ที่คนเราสวมมองอดีตจึงทำให้เน้นเห็นบางแง่มุมถนัดชัดเด่นและให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดละเลยบางแง่มุมที่กลายเป็นพร่ามัวและสำคัญด้อยลงไป กระทั่งตีวงเป็นกรอบกีดกันจนไม่เห็นบางอย่างเอาเลย

และความทรงจำและการเลือกจำดังกล่าวก็ทำให้เรารู้จักเข้าใจตัวตนเอกลักษณ์ของคนจำปัจจุบันดีขึ้นว่าเขาเป็นโคร เขาเลือกสังกัดชุมชนความทรงจำใด

ดังที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยอธิบายว่า Remember = Reconstitute oneself as a member of a community of memory

(การจำ = การประกอบสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ในฐานะสมาชิกของชุมชนแห่งความทรงจำหนึ่งๆ)

เอ็ดเวิร์ด ทอมป์สัน นักประวัติศาสตร์สังคมนิยมชาวอังกฤษลือชื่อ (ค.ศ.1924-1993) เคยอธิบายการเมืองเรื่องความทรงจำที่เชื่อมโยงปัจจุบันของคนจำเข้ากับอดีตที่ถูกจำไว้ว่า :

“มีแต่เราผู้ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นที่สามารถให้ “ความหมาย” แก่อดีตได้ แต่อดีตที่ว่านั้นนอกจากเป็นอะไรต่อมิอะไรอื่นหลายอย่างแล้ว แต่ไหนแต่ไรมามันก็เป็นผลลัพธ์ของการถกเถียงกันเกี่ยวกับค่านิยมด้วย ในการขุดค้นรื้อฟื้นกระบวนการนั้น ในการแสดงให้เห็นว่าเอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลสืบเนื่องกันมาจนลงเอยอย่างไรนั้น เราจะต้องเก็บค่านิยมของเราเองไว้ในวงเล็บก่อนให้มากที่สุดเท่าที่วิชาการแขนงนั้นๆ จะสามารถบังคับควบคุมได้ แต่ทว่าเมื่อประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ถูกค้นพบรื้อฟื้นขึ้นมาแล้ว เราก็มีเสรีภาพที่จะเสนอคำตัดสินของเราเกี่ยวกับมัน

“ตัวคำตัดสินที่ว่านั้นเองก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมทางประวัติศาสตร์ด้วย คำตัดสินจะต้องพอเหมาะพอสมกับหลักฐานข้อมูล มันเป็นเรื่องเหลวไหลที่จะมาบ่นด่าพวกกระฎุมพีที่ไม่กลายเป็นนักประชาคมนิยม หรือบ่นด่าพวกเลอเวลเลอร์ที่ไม่นำเสนอสังคมอนาธิปไตยที่คนงานคุมอุตสาหกรรม ทว่าสิ่งที่เราอาจจะทำได้ก็คือเลือกอัตลักษณ์เข้าข้างค่านิยมบางอย่างซึ่งผู้กระทำการในอดีตเชิดชู และปฏิเสธค่านิยมอย่างอื่น เราอาจโหวตให้กับวินสแตนลีย์และสวิฟต์ และเราก็อาจโหวตคัดค้านวอลโพลกับเซอร์ เอ็ดวิน ช้ากวิก

“คะแนนโหวตของเราย่อมไม่เปลี่ยนอะไรทั้งสิ้น แต่กระนั้นก็ตามในอีกความหมายหนึ่ง มันก็อาจเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเรากำลังบอกว่าค่านิยมเหล่านี้ – หาใช่ค่านิยมเหล่านั้นไม่ – เป็นตัวทำให้ประวัติศาสตร์ดังกล่าวมีความหมายต่อเรา และนี่เป็นค่านิยมซึ่งเราตั้งใจจะแพร่ขยายและผดุงไว้ในยุคปัจจุบันของเราเอง ถ้าเราทำได้สำเร็จ นั่นก็หมายความว่าเราเอื้อมย้อนกลับเข้าไปในประวัติศาสตร์และมอบหมายความหมายของเราเองให้กับมัน เราจับมือทักทายกับสวิฟต์ เรารับรองค่านิยมของวินสแตนลีย์ในยุคปัจจุบันของเรา และประกันว่าลัทธิฉวยโอกาสอันต่ำช้าไร้มโนสำนึกซึ่งเป็นยี่ห้อการเมืองของวอลโพลนั้นเป็นที่ทุเรศรังเกียจของผู้คน

“ในที่สุดตัวเราย่อมจะตายด้วย และชีวิตของเราเองก็จะนอนแน่นิ่งอยู่ในกระบวนการอันสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว เจตนารมณ์ของเราจะถูกผนวกกลืนเข้ากับเหตุการณ์ในอดีตซึ่งเราไม่เคยตั้งใจให้เกิดขึ้นเลย สิ่งที่เราพอจะหวังได้ก็คือชายหญิงในอนาคตจะเอื้อมย้อนกลับเข้ามาหาเรา จะยืนยันและฟื้นฟูความหมายของเราขึ้นมาใหม่ และทำให้ประวัติศาสตร์ของเราเป็นที่เข้าใจได้ในปัจจุบันกาลของพวกเขาเอง มีแต่ลำพังพวกเขาเท่านั้นจะมีพลังอำนาจเลือกสรรเอาจากบรรดาความหมายต่างๆ มากมายซึ่งยุคปัจจุบันอันแก่ถกเถียงวิวาทะของเรามีเสนอให้ และแปรเปลี่ยนบางส่วนของกระบวนการของเราให้กลายเป็นความก้าวหน้า

“ทั้งนี้ก็เพราะ “ความก้าวหน้า” เป็นแนวคิดที่ปราศจากความหมายหรือกระทั่งย่ำแย่ยิ่งไปกว่านั้นอีกหากโยนมันให้เป็นคุณสมบัติของอดีต ด้วยว่าอดีตจะมีความหมายอย่างหนึ่งได้ก็แต่โดยผ่านจุดยืนเฉพาะเจาะจงหนึ่งในปัจจุบันเท่านั้น อันเป็นจุดยืนของค่านิยมที่กำลังแสวงหาโคตรเหง้าเหล่ากอของมันเอง โคตรเหง้าเหล่ากอที่ว่าดำรงอยู่ภายในตัวหลักฐาน กล่าวคือ มันเคยมีชาย-หญิงผู้กอปรไปด้วยเกียรติศักดิ์ ความกล้าหาญและ “เล็งการณ์ไกล” และมันก็เคยมีขบวนการในประวัติศาสตร์ที่กอปรไปด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ …เราจะต้องโต้แย้งว่าใช่ว่า “ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคแต่ละสมัยตามการดัดแปลงแก้ไขลำดับความสำคัญของค่านิยมต่างๆ” ก็หาไม่ แต่เป็นว่า “ความหมาย” ซึ่งเราถ่ายโอนให้กับความเป็นจริงนั้นต่างหากที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะนี้”

Edward Palmer Thompson, The Poverty of Theory (1978), pp. 42-43