เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | วิกฤตการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญ

วิกฤตรัฐธรรมนูญล่าสุด ยืนยันถึงสัจธรรมใน “คำปรารภ” ที่เป็นดังบทนำของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ล่าสุดตอนหนึ่งที่ว่า

“…เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริต ฉ้อฉล หรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์การเมือง การปกครองที่ยังไม่เหมาะสมแก่สภาวการณ์บ้านเมืองและกาลสมัย ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคล และสถานการณ์ยามวิกฤต ที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล…ฯ”

นี่ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลอธิบายถึงคำถามและคำตอบของวิกฤตรัฐธรรมนูญล่าสุดได้ทั้งหมด

แม้รัฐธรรมนูญฉบับล่าคือ พ.ศ.2560 นี้เอง ก็ดูเหมือนจะมีที่มาจาก “สถานการณ์ในยามวิกฤต” อันเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ยุติ

แม้จนวันนี้

เพราะฉะนั้น เมื่อมีกระแสเรียกร้องให้ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ใหม่ จากทั้งพรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล และจากประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมดังเสนอเป็นร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมมาทั้งสามฉบับจากสามภาคส่วนดังกล่าว

โดยส่วนตัวจึงพิจารณาเห็นด้วยที่จะรับข้อเรียกร้องนั้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามกติกา ขั้นตอนที่เป็นธรรมต่อไป

ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อนำข้อขัดแย้งในเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการสันติวิธี

ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบของร่างฝ่ายค้านกับร่างฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะฉบับต่างยอมรับ ให้มีสภาร่างโดยมีสมาชิกสภาร่าง (ส.ส.ร.) มาร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแตกต่างในรายละเอียดที่เป็นหลักใหญ่ๆ เช่น

ที่มาของ ส.ส.ร.

ฉบับของฝ่ายค้าน กำหนดให้มี ส.ส.ร.จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัด

ฉบับของฝ่ายรัฐ กำหนดให้มี ส.ส.ร.จำนวน 200 คน เหมือนฝ่ายค้าน แต่ที่มาต่างกันคือ

1. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัดจำนวน 150 คน

2. รัฐสภาคัดเลือกจำนวน 20 คน

3. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยคัดเลือกจำนวน 20 คน จากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 10 คน และจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 คน

4. คัดเลือกจากนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา จำนวน 10 คน

ซึ่งแต่ละฉบับต่างมีรายละเอียดกำหนดโดยพิสดารแตกต่างกันไปตามแต่ละข้อละประเด็นอย่างละเอียดกว้างขวางครอบคลุมเพื่อให้ความเป็นธรรมถึงที่สุด ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ

รวมทั้งร่างของภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอมากว่าหนึ่งแสนคนในครั้งนี้ด้วย

ส่วนร่างแก้ไขเฉพาะรายมาตราอีกสี่ร่างจากพรรคฝ่ายค้าน ก็เป็นอีกเรื่องที่คณะกรรมาธิการจะพิจารณานำเสนอขอมติจากสภาต่อไป

บางประเด็น เช่น อำนาจ ส.ว. (ม.272) นั้น โดยส่วนตัวก็เห็นควรยกเลิกได้เช่นกัน

เพราะสภาพ “เฉพาะกาล” นั้น ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

บางเรื่องประเด็นที่กำลังหาข้อยุติในคณะกรรมาธิการศึกษาร่างแก้ไข รธน. ที่สำคัญเช่น คุณสมชาย แสวงการ ส.ว.เห็นว่า

“…กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น ยืนยันว่าต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนก่อนลงมติรับหลักการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยปี 2555 ว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อน ถ้าคิดว่าจะยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดยไม่ต้องทำประชามติ สอบถามประชาชนก่อน เชื่อว่าจะมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่…”

อีกประเด็น อีกความเห็นที่สำคัญจาก ส.ว. ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เช่น

“…หากห้าม ส.ส.ร.ในการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ไม่ได้ และกำหนดกรอบข้อจำกัดการทำงานของ ส.ส.ร.ไม่ได้ ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่า การที่ ม.255 และ ม.256 ประกอบกัน บัญญัติให้การแก้ไข รธน.ทำได้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมสิ่งที่มีอยู่แล้วใน รธน.เป็นรายมาตราหรือทีละเรื่องนั้นชอบแล้ว”

ข้อคิดเห็นที่ยังขัดแย้งอยู่คือ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้ง ส.ส.ร. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

และควรทำประชามติก่อนหรือไม่