หรือเราต้องจำนนกับปัญหาที่ไร้ทางออกอยู่เหมือนเดิม

หรืออยู่กับ “ความไม่เปลี่ยนแปลง”

ที่สุดแรงกดดันให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็เป็นผล หลังดองเค็มไม่ยอมให้เลือกตั้งมาตั้งแต่หลังทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 หรือกว่า 6 ปี

เริ่มที่การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยวางไทม์ไลน์ไว้วันที่ 20 ธันวาคมที่จะถึงนี้

การเลือกตั้ง อบจ.น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะปฏิบัติการทางการเมืองที่ผ่านมา สนามการเมืองนี้จะเป็นดัชนีชี้วัดแนวโน้มทางการเมืองไทย

หลัง “พรรคอนาคตใหม่” ถูกยุบ แกนนำทั้งหมดถูกตัดสิทธิทางการเมือง ต้องเดินออกจากสภา

มีคำประกาศหนึ่งจากผู้นำพรรคการเมืองที่เยาวชนคนรุ่นใหม่เทคะแนนให้อย่างล้นหลามทำนองว่า “นับจากนี้การเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว”

ไม่ชัดเจนว่า “ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่” คิดอะไรเมื่อถูกกระทำทางการเมืองรุนแรง

แต่หลังจากนั้นเกิดการแตกตัวของ “อนาคตใหม่”

กลุ่มหนึ่งจัดตั้ง “พรรคก้าวไกล” รวบรวม ส.ส.ของพรรคที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิเข้ามาไว้ แม้ส่วนหนึ่งจะกลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่า “งูเห่า” ไปสร้างสถานะในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคทำงานการเมืองเข้มข้นกับบทบาท ส.ส.ในสภา

อีกกลุ่มหนึ่ง จัดตั้ง “กลุ่มก้าวหน้า” เป็นที่รวมผู้นำพรรคแถวหน้าซึ่งถูกตัดสิทธิ รวบรวมเพื่อร่วมอุดมการณ์ทำงานการเมืองภาคประชาชน โดยลงพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ด้วยเป้าหมายสร้าง “การเมืองแนวใหม่” เน้นการแก้ปัญหาในพื้นที่ แทนการสร้างหัวคะแนนและฐานเสียงเหมือนที่นักการเมืองรุ่นเก่าเคยทำมา

และกลุ่มหลังนี้เองที่ปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ใหม่ ด้วยการโอบล้อมการเมืองจากท้องถิ่นให้เป็นฐานต่อสู้

องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกระดับเป็นเป้าหมายที่ “กลุ่มก้าวหน้า” ทำงานด้านความคิดมาต่อเนื่อง และเรียกร้อง พร้อมเฝ้ารอให้ประกาศเลือกตั้ง

ดังนั้น การเลือกตั้ง “นายก อบจ.” วันที่ 20 ธันวาคม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นไปของการเมืองไทย ว่าจะเปลี่ยนแปลงสู่การเมืองแบบใหม่ได้หรือไม่

“นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “ได้เวลาเลือกตั้งนายก อบจ.” โดยความคิดของคนทั่วประเทศ

ร้อยละ 82.47 บอกจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง ร้อยละ 79.23 บอกจะเลือกนายก อบจ.อิสระ ร้อยละ 28.37 จะเลือกที่สังกัดพรรคการเมือง ร้อยละ 14.00 จะเลือกที่สังกัดกลุ่มการเมือง

ความน่าสนใจอยู่ในคำถามที่ว่า “ท่านอยากเปลี่ยนนายก อบจ.ในเขตจังหวัดของท่านหรือไม่”

ร้อยละ 44.77 อยากเปลี่ยน ร้อยละ 43.19 ไม่อยากเปลี่ยน ร้อยละ 12.04 ไม่แน่ใจ

น่าสนใจเพราะหากเป็นไปตามผลโพลนี้ ความพยายามของ “กลุ่มก้าวหน้า” ดูจะไม่เป็นผล

และนั่นหมายถึงประเทศไทยเราจะจมอยู่กับโครงสร้างทางการเมืองที่มีผู้กว้างขวางในท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดเกม

จะมีฐานเสียงทางการเมืองที่ส่งนักการเมืองที่ส่วนใหญ่เหมือนเดิมๆ เช่นนี้กลับเข้าสภา

ทำให้การบริหารจัดการ การปกครองประเทศ เวียนอยู่ในวังวนเก่าๆ

จำนนกับปัญหาที่ไร้ทางออกอยู่เหมือนเดิม

ทว่าความพยายามของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง จะจบลงอย่างที่ผลโพลชี้เช่นนี้หรือ