วิกฤตแห่งผู้นำ | โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ในที่สุด ประเด็นการเรียกร้องของผู้ชุมนุมทางการเมืองที่เคยชูหลายข้อหลายประเด็น เช่น แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน เปิดประชุมสภาวิสามัญ ตั้ง ส.ส.ร. ปฏิรูปสถาบัน ดูเหมือนว่าในวันนี้ประเด็นต่างๆ กลับกลายเป็นประเด็นรองไปแล้ว

เพราะเสียงเรียกร้องที่ดังกระหึ่มในทุกเวทีแห่งการชุมนุมคือ ประยุทธ์ออกไป

การ “ไม่เอา” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คงมิได้มีเพียงแค่สาเหตุปัจจุบันที่ตำรวจไปสลายฝูงชนที่ประกอบด้วยเด็ก เยาวชน นักเรียนด้วยวิธีการรุนแรงเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เท่านั้น

แต่การสลายการชุมนุมนั้นคือฟางเส้นสุดท้ายที่เขาไม่อาจทนทานได้ต่างหาก

วิกฤตแห่งผู้นำในวันนี้ มาจากผลของการอยู่ในอำนาจที่ยาวนาน แต่ไม่สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน และยังประมาท ไม่รู้จักตัดสินใจอย่างเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ที่พอจะยังมีทางออก ด้วยเชื่อมั่นในกลไกต่างๆ ที่ตนเองถือครอง

วันที่สามารถสร้างความรู้สึกว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น โดยสมควรกล้าคัดเลือกรัฐมนตรีที่เสียงดีแต่มีตำหนิออก กลับไม่กล้าตัดสินใจ

วันที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่า รัฐบาลจริงใจต่อการแก้รัฐธรรมนูญ โดยคณะรัฐมนตรีควรเป็นผู้ริเริ่มยื่นญัตติ และส่งสัญญาณขอความร่วมมือไปยังสมาชิกวุฒิสภา กลับเตะถ่วง ไม่กล้าแม้ลงมติ

วันที่ข้อเรียกร้องง่ายๆ ของผู้ชุมนุมว่า หยุดคุกคามประชาชน แทนที่รัฐบาลจะใจกว้างและตอบสนอง กลับใช้กลไกรัฐทุกวิถีทางกับข้อกล่าวหาสารพัดที่มีกับกฎหมายทุกฉบับ ส่งนักเรียน-นักศึกษาเข้าสู่การจับกุมคุมขัง

วันดีๆ ที่เป็นโอกาสแห่งการสร้างภาวะผู้นำที่สังคมยอมรับนั้นผ่านพ้นไปแล้ว เหมือนกับที่เล่าจื๊อเคยกล่าวว่า ผู้ปกครองมีสี่ประเภท ดีที่สุดคือทำให้คนไม่รู้สึกตัวว่าถูกปกครอง ดีรองลงมาคือผู้ปกครองที่คนยกย่องสรรเสริญ ที่แย่คือคนรู้สึกถูกบังคับข่มขู่ ส่วนที่แย่สุดคือผู้ปกครองที่ผู้คนเกลียดชัง

เสียงด่าทอของคนนับแสนในทุกเวทีแห่งการชุมนุม คงไม่ต้องบอกว่า เขารู้สึกอย่างไรกับผู้นำของประเทศ

กติกาที่เขียนเพื่อให้ประชาชนเห็นผู้นำในอนาคต

มาตรา 88 และมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดว่า พรรคการเมืองอาจเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้พรรคละจำนวนไม่เกิน 3 ชื่อ และการลงมติของรัฐสภาตามมาตรา 272 จะต้องลงมติจากบัญชีรายชื่อที่พรรคเคยนำเสนอต่อประชาชนโดยต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 (ประมาณ 25 คน) เป็นผู้เสนอ และมีผู้รับรองร้อยละ 10 (ประมาณ 50 คน) จบลงด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา (375 คน)

การกำหนดวิธีการดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้เห็นตัวบุคคลที่อาสามาบริหารบ้านเมืองก่อนหน้าที่จะกาบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครจากพรรคใด หน้าตาและคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ และอาจสำคัญที่สุดของการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดมาเป็นผู้แทนเพื่อให้พรรคนั้นมีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

พรรคแต่ละพรรคมีสิทธิที่จะเสนอชื่อไม่เกิน 3 ชื่อ หรือไม่เสนอก็ได้

ดังนั้น เราจึงเห็นพรรคที่เสนอ 3 ชื่อ เช่น พรรคเพื่อไทย เสนอคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติศิริ

และพรรคที่เสนอชื่อเดียว เช่น พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามลำดับ

และตัวอย่างเช่น พรรคประชาชนปฏิรูป (มีมติยุบพรรคตัวเองไปแล้ว) ไม่เสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น


นายกรัฐมนตรีลาออก ต้องเลือกจากใครต่อ

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงห้าปีแรกของการมีรัฐสภาชุดแรก (นับไปจนวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2567) ต้องกระทำในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภา โดยเลือกจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อ

หากไม่มีการเปลี่ยนขั้วการเมืองใดๆ ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อจากพรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาล จะเหลือเพียง 2 คน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีปัจจัยชี้ขาดคือสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง แต่หากไม่มีใครได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา ก็ต้องไปใช้ทางออกในวรรคสองของมาตรา 272 คือ นายกฯ นอกบัญชี

นายกฯ นอกบัญชีนั้นเป็นใครก็ได้ ยกเว้นพระ ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง วิกลจริตจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 แต่ต้องได้รับการเสนอญัตติจากสมาชิกสองสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งให้ยกเว้นการเลือกนายกฯ ในบัญชี ต้องมีมติไม่น้อยกว่าสองในสามให้ยกเว้นการเลือกนายกฯ ในบัญชี และผู้ที่จะเป็นนายกฯ นอกบัญชีได้ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา

ลำดับมาทั้งหมดแล้ว การมี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. 250 คน จึงเป็นหมากกลที่วางไว้เพื่อสร้างความได้เปรียบในทุกช่องทาง

นายกฯ นอกบัญชีลอยมาไม่ยาก ภายใต้การออกแบบเช่นนี้

ผู้นำที่ประชาชนไม่ได้เลือก อาจไม่ใช่คำตอบของการแก้วิกฤต

แม้กระบวนการทางรัฐสภาที่กำหนดวิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี แต่กระบวนการดังกล่าวกลับมีสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. 250 คน มาเป็นตัวแปรสำคัญของการลงมติ

250 เสียงของวุฒิสภา คือหนึ่งในสามของรัฐสภา ซึ่งหากเอนเอียงไปในทางใดทางหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นการคาดการณ์ได้ว่า ชื่อนายกรัฐมนตรีในทุกครั้งของการลงมติในห้าปีแรก ไม่สามารถเป็นคนที่ คสช.ไม่เห็นชอบได้

แล้วจะมีความหมายอะไร หากนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกจากผู้แทนของประชาชน

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่ากับยังถูกผูกขาดในกลุ่มผู้มีอำนาจและครอบครองอำนาจแบบยาวนานต่อเนื่อง เพียงแต่เปลี่ยนโฉมหน้า เอาสินค้าเก่าที่หมดสภาพ ไร้ความนิยมออกจากหิ้ง เอาสินค้าตัวใหม่ ติดสลากให้ดูดี แต่ด้อยคุณภาพมาหลอกขายให้ประชาชนซื้อต่อไปเท่านั้น

ทางออกของสถานการณ์ จึงไม่สามารถเพียงแค่เรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนเสียงอย่างเป็นอิสระ เพราะอดีตที่ผ่านมาบ่งชี้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้มิได้มีอิสระในวินิจฉัย เป็นเพียงแค่กลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ร่วมเกาะกินกับระบอบผู้ครองอำนาจสร้างขึ้น และไม่อาจเป็นความหวังของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางที่ดีได้

การขอร้องเพียงแค่ให้งดออกเสียงในการลงมติไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะการนับคะแนนต้องใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา จะกี่สิบกี่ร้อยที่งดออกเสียง จำนวนนับเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรียังคิดที่เกินกึ่งของรัฐสภาเช่นเดิม

ดังนั้น การหลุดพ้นจากวงจรดังกล่าวคือ การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล ไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยการแก้ดังกล่าวไม่ใช่การแก้วิธีการแก้รัฐธรรมนูญจึงไม่ต้องไปผ่านการลงประชามติ เพียงแต่ในวาระหนึ่งและวาระสาม นอกจากเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาแล้ว ยังต้องมีสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภาที่ร่วมลงมติเห็นชอบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือราว 84 คนด้วย

ลงมติเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรี คือทางออกดีๆ ที่สมาชิกวุฒิสภาต้องเลือก

วุฒิสภาในสายตาของประชาชนอาจจะดูมีค่ามากขึ้น