อภิญญา ตะวันออก : จีน-เขมร-อเมริกัน ณ เขื่อนกั้นแปซิฟิก

อภิญญา ตะวันออก

อา สมัยอินโดจีน เรียม (*) คือตำบลชายทะเลที่ไม่เป็นที่รู้จัก เช่นโบกอร์และสีหนุวิลล์-เมืองตากอากาศแห่งแรกที่สหรัฐเปิดซิงทางหลวงหมายเลข 4 แม้จะถูกกำปอดและสีหนุวิลล์บดบังความสำคัญ มินานช้าก็พบว่า เรียมเป็นเขตลับของฐานทัพเรือที่อเมริกันสร้างทิ้งไว้สมัยสงครามเวียดนาม

เรียมจึงไม่ธรรมดา แต่เป็นเขตยุทธศาสตร์ทางทะเลที่คล้ายจะถูกลืมไปในแผนที่กัมพูชา

สำหรับฉัน เรียมคือส่วนหนึ่งของคำว่า “เขื่อนกั้นแปซิฟิก” (Un barrage contre le Pacifique) นวนิยายของมาร์เกอริต ดูราส์ ที่มีฉากหลังเป็นกำโปดและเรียม ในตอนหนึ่งของภาพยนตร์เวอร์ชั่นแรกนั้น เราจะเห็นหนุ่มชินัวร์-นักธุรกิจจีนขับรถเปอร์โยต์ผ่านทิวทัศน์ชายหาดเรียม

เรียมจึงเป็นแรงบันดาลใจในมุมแปลกของฉัน แม้นัยทีงานเขียนของมาร์เกอริต ดูราส์ จะไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นเขมรกัมพูชา นอกเสียแต่ความหมายในทางโอฬาริกของ “เขื่อนกั้นแปซิฟิก” นั่น ซึ่งบังเอิญมีความสำคัญอย่างมากทางการเมืองกับการเมืองร่วมสมัยในปัจจุบัน

และจากนี้ไป เรียมจะเป็นชื่อใหม่ที่ทุกคนจดจำ

 

เอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯพณฯ ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี ซึ่งรับตำแหน่งกันยายนปีกลาย เป็นม้าเปลี่ยนกลางศึกที่น่าสนใจนับแต่ฤดูใบไม้ร่วง 2017 เมื่อความสัมพันธ์เขมร-อเมริกาเริ่มเหินห่าง โดยมีจีนเป็นยาขมแทรกกลางทางการเมือง

ต้นปี 2020 ทีมเศรษฐกิจประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปัดฝุ่นแนวคิดภาคีอินโด-เอเชียแปซิฟิกกลับมาปรับใช้อีกครา และนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เป็นแขกวีไอพีลำดับแรกๆ ที่ได้รับเชิญ

ในท่าทีฮุน เซน ที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นนั้น ทูตอเมริกันหวังเต็มเปี่ยมว่า สมเด็จเขมรคงทบทวนได้ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าภาษีจีเอสพีตั้งแต่ปี 1993 ที่กัมพูชาได้สิทธิประโยชน์สินค้าส่งออก 600 กว่ารายการคงทำให้เขาทบทวน หลังจากที่อีบีเอ-สิทธิประโยชน์สินค้าส่งออกทุกรายการยกเว้นอาวุธกำลังทำให้กัมพูชาสั่นคลอนจากปัญหารุมล้อมอุตสาหกรรมส่งออก

ดังนี้ สไตล์การทูตพญาอินทรี ที่ปรับท่าทีผ่อนปรนแข็งแกร่งแต่นุ่มนวล จะทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐ-กัมพูชากลับมาชื่นมื่น เมื่อฮุน เซน ยอมรับเงื่อนไขหลายข้อ นั่นคือ การปล่อยตัวนักโทษการเมือง นักข่าวและสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่ง

แต่ดูเหมือนท่านแพทริก เมอร์ฟี จะสำคัญผิดไปมาก

เพราะเอาเข้าจริง การให้ความสนใจในการมาของเมอร์ฟีของฮุน เซน เป็นเพียงฉากหน้าบางอย่าง

ดังจะเห็นได้ว่า กรณี “ฐานทัพเรือเรียม” เสนอทุนปรับปรุงอาคารฐานทัพเรือที่สหรัฐสร้างไว้เป็นฐานทัพ หน่วยยุทโธปกรณ์และซ่อมบำรุงสมัยสงครามอินโดจีน และเพนตากอนได้เพียรส่งหนังสือถึงกัมพูชาที่จะอาสาปรับปรุงในนามของมูลนิธินั้น เพื่อให้กัมพูชาใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ทางนาวีเพื่อศูนย์ศึกษา ตลอดจนความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ของกองทัพ

เพนตากอนส่งจดหมายฉบับนั้นแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่กัมพูขากลับเพิกเฉย ซ้ำยังมีท่าทีที่เป็นไปได้ว่า กำลังจะละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ 1993 ที่ห้ามกองทัพต่างชาติเข้ามาทำกิจการภายในประเทศ!

แต่ดูเหมือนประเด็นที่อ่อนไหวของกัมพูชานั้น ดูจะไม่สำคัญเท่ากับนโยบายความมั่นคงเหนือน่านน้ำของไต้หวันและทะเลจีนใต้ที่สหรัฐพยายามสกัดกั้น

และด้วยเหตุนั้น ข้อเสนอลับๆ ที่จีนให้กับกัมพูชา กรณีฐานทัพเรือ เรียมจึงเชื่อได้ว่าเกิดขึ้นแล้วและเป็นการเอาคืนสหรัฐกรณีไต้หวันของจีนด้วย!

ทันใดนั้นเอง “เรียม” เอย ก็กลายเป็นพื้นที่ “ยุทธศาสตร์ทางทะเล” แห่งใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ร้อนแรงไม่แพ้ภูมิภาคอื่น

โดยเฉพาะไทยและเวียดนามที่เป็นเหมือนประตูผ่านทางทะเลของเรียม-กัมพูชา

และเป็นเหมือนเขื่อนกั้นทะเลแปซิฟิกของอเมริกา!

 

ช่างบังเอิญเสียกระไรที่สัมพันธไมตรีสหรัฐ-กัมพูชาได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 70 ปี และสหรัฐเองต้องการใช้โอกาสนี้เหนี่ยวรั้งกัมพูชาให้ออกจากอิทธิพลพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้จงได้

แต่ระหว่างที่ทูตเมอร์ฟีเดินหน้าโครงการ 70 ปีเขมร-สหรัฐอย่างแข็งขันอยู่นั้น ผู้นำเขมรก็ทำยิ่งกว่าตัดทางหลวงไฮเวย์ผ่านสันเขาทะเลเรียมเชื่อมต่อสีหนุวิลล์

แทนคำตอบคำถามของเพนตากอน ราวตุลาคมต้นเดือนนี้เอง กัมพูชาก็รื้อถอนทุบทิ้งตึกกองบัญชาการฐานทัพเรือที่เรียม!

ไม่เพียงแต่ไม่ไว้หน้าพญาอินทรีเท่านั้น สัปดาห์ต่อมา กัมพูชายังต้อนรับการมาเยือนของนายหวัง อี้-รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เพื่อลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าเสรีที่เชื่อว่าจะให้ประโยชน์ต่อกัมพูชาที่ 140 ล้านเหรียญสหรัฐโดยทันทีสำหรับการยกเว้นภาษีสินค้าเกษตร 300 รายการนั่น

หรือนี่จะเป็นการโต้ตอบสหรัฐและอียู ต่อประเด็นจีเอสพี-อีบีเอของกัมพูชา?

และนี่คือการโต้ตอบอเมริกาที่ทำให้จีนเดือดจัด กรณีขายอาวุธให้ไต้หวัน?

หากเป็นเช่นนั้น เท่ากับว่า ต่างจากอาคารฐานทัพเรือเรียมที่ทุบไปนั่น กัมพูชายังทุบความสัมพันธ์ 70 ปีเขมร-อเมริกันอย่างไม่เหลือซากใดให้จดจำ ไม่แต่เท่านั้น สมเด็จฯ ฮุน เซน ยังตามมาด้วยการทำให้เห็นว่า เขาไม่สนใจประเด็นจีเอสพี-อีบีเอที่สหรัฐและอียูขู่มาตลอดปี

มิไยที่จีเอสพี-อีบีเอนั่น จะเป็นเหมือนหม้อข้าวโตของแรงงานตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

แต่ชามข้าวใบเก่าเดิมที่บีบคั้นนายกรัฐมนตรีคนเดิมให้เดินตามรอยนโยบายประชาธิปไตยแบบเดิมๆ ทั้งที่ตะวันตกเองก็ทราบว่ากัมพูชามีนโยบายแบบพรรคเดียวมาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อน (2018) และมีแนวโน้มจะใช้นโยบายแบบพรรคคอมมิวนิสต์

ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เมื่อหลักฐานว่า ฐานทัพเรือเรียมดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่กองนาวีจีนเข้าไปเปิดซิงทำภารกิจสร้างกองบัญชาการที่นั่น

รวมทั้งการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญและอธิปไตยของตน เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์มหาศาลด้านความมั่นคงและการค้าของกัมพูชาในอนาคต

แม้ว่าจากนี้ไป ความมั่นคงของทะเลอ่าวไทยและคาบสมุทรแปซิฟิกจะเป็นเรื่องที่น่าระทึกพลันในกลุ่มประเทศอาเซียนและทะเลจีนใต้?

อนิจจาเขื่อนกั้นของทะเลแปซิฟิก จากเรียมยุคแรกภาคอินโดจีน ถึงเรียมยุค 2 ที่สหรัฐเป็นผู้สร้างและทำให้เรียมได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ทางทะเลในฉบับของตนเมื่อ 50 ปีก่อน หลังจากนั้นมาเรียมก็ไม่เคยกลับไปเป็นแค่ฉากหนึ่งในนวนิยายประโลมโลกย์ได้อีกเลย

เมื่อเรียมภาค 3 ได้กลายเป็นจุดแห่งการแย่งชิงยุทธศาสตร์ทางทะเลอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

แต่กึ่งศตวรรษที่ผ่านมาโลกได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ว และดูเหมือนว่า พระอาทิตย์ดวงเดิมจะไม่ได้ขึ้นที่ทิศตะวันตกอีกต่อไป เมื่ออนุภาคภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้ถูกมังกรผู้กลืนกินไปกว่าครึ่งแล้ว ณ ปฐมบทของศตวรรษที่ 21

ดูเหมือนพระอาทิตย์จะกลับมาขึ้นอีกครั้ง ณ ดินแดนตะวันออก โดยมหาอำนาจหนึ่งซึ่งเคยเกรียงไกรในสมรภูมิสงครามทั้งบก ทะเล และอากาศของภูมิภาคนี้ที่เคยถอนกำลังจากกัมพูชาเมื่อ 45 ปีก่อน

ถึงตอนนี้ วอชิงตันอาจจะลองทบทวนจดหมายฉบับนั้นของสมเด็จฯ ฮุน เซน ที่จะเขียนขึ้นทุกๆ 4 ปีหลังทราบผลเลือกตั้งและผู้นำสหรัฐคนใหม่สาบานตนเป็นประธานาธิบดี

ในจดหมายเหล่านั้น ที่มีท่วงทำนองแบบเดิมๆ กล่าวคือ เปลี่ยนเพียงชื่อของประธานาธิบดีตามที่นายฮุน เซน ใช้เปล่าเปลืองเวลาอย่างซ้ำซากหลายสมัยนั้น มีใจความว่า : เขาปรารถนาให้สหรัฐยกเลิกหนี้สินเงินกู้ที่เกิดในสมัยรัฐบาลลอนนอลจำนวน 274 ล้านดอลลาร์และจนบัดนี้ดอกเบี้ยก็พอกพูนไม่น้อย 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 15,000 ล้านบาท) แต่ผู้นำเขมรก็ไม่เคยสมหวัง

การรอคอยของฮุน เซน คงสิ้นสุดแล้ว มิพักว่าผู้นำสหรัฐคนใหม่จะเป็นใคร?

เมื่อขายฝันให้ศัตรูถึงเยี่ยงนั้น ก็อย่าหวังเลยว่าจะกลับมาเป็นอื่นได้?

(*)ภาษาเขมรแปลว่า พี่, บุคคลผู้เป็นที่รัก ไม่จำกัดเพศ ดังตำแหน่งสมเด็จพระเรียมพระองค์เจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวีสม พระพี่นางในกษัตริย์กัมพูชาองค์ปัจจุบัน