แอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ตัวแม่ เพราะศิลปะไม่ได้เป็นพื้นที่ของเพศชายเท่านั้น

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ก่อนหน้านี้เรานำเสนอเรื่องราวของศิลปินแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ตัวพ่อในวงการศิลปะอย่างแจ๊กสัน พอลล็อก ไปแล้ว

ในตอนนี้เราจะขอพูดถึงศิลปินแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ตัวแม่กันบ้าง เพื่อไม่ให้เป็นการน้อยหน้ากัน

ในยุคทศวรรษที่ 1950 ที่แอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ทรงอิทธิพลที่สุดในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ถึงแม้จะเป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ศิลปินเพศชายมีบทบาทอย่างสูง และเต็มไปด้วยฮอร์โมนเพศชายอย่างล้นเหลือ

แต่ในขณะเดียวกันกระแสเคลื่อนไหวนี้ก็มีศิลปินเพศหญิงผู้โดดเด่นอยู่จำนวนไม่น้อย ที่ต่างก็หาที่ทางของตัวเองในโลกศิลปะที่เพศชายครอบครองอยู่

ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหญิงอย่างลี แครสเนอร์ (Lee Krasner), อิเลน เดอ คูนนิ่ง (Elaine de Kooning) และโจน มิตเชลล์ (Joan Mitchell)

อิเลนเดอคูนนิง: Fairfield Porter #1 (1954), ภาพจากhttps://bit.ly/2H0ZMYE

แต่ด้วยค่านิยมของสังคมอเมริกันในช่วงสงครามเย็นที่เชิดชูสถาบันครอบครัวและกำหนดบทบาททางเพศในสังคมอย่างเข้มงวด เพื่อต่อสู้กับอุดมการณ์ของระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ผู้ชายอเมริกันต้องสวมบทบาทเป็นผู้นำครอบครัว และแสดงความเป็นแมนอย่างเหลือล้น เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นเกย์หรือรักร่วมเพศ

ส่วนผู้หญิงก็ต้องรับบทเป็นแม่บ้าน ดูแลครอบครัว ไม่ครองตัวเป็นโสด ไม่ทำงานนอกบ้าน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกสงสัยว่านิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือเป็นสายลับของโซเวียต จากลัทธิล่าแม่มดของโจเซฟ แม็กคาร์ธี (Joseph McCarthy)

ดังนั้น ต่อให้ศิลปินเพศหญิงที่กล่าวถึงเหล่านี้จะฝึกฝนฝีมือและความคิดจนมีผลงานโดดเด่นไม่แพ้ศิลปินเพศชาย

แต่ท้ายที่สุด พวกเธอก็ต้องแต่งงานและทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน สนับสนุนสามีตัวเอง

ผู้หญิงคนใดที่ไม่ยึดถือค่านิยมเช่นนี้ก็จะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่ล้มเหลว เห็นแก่ตัว สำส่อน

และอาจถูกสงสัยว่านิยมลัทธิคอมมิวนิสต์

ลีแครสเนอร์: Icarus (1964), ภาพจากhttps://bit.ly/3162d3d

ยิ่งไปกว่านั้น แวดวงศิลปะอย่างแกลเลอรี่ พิพิธภัณฑ์ หรือแม้แต่แวดวงวิจารณ์ศิลปะเองก็ไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้ศิลปินเพศหญิงสักเท่าไหร่ ศิลปินอย่างลี แครสเนอร์ เคยถูกนักวิจารณ์ชื่อดังวิจารณ์ผลงานของเธอว่า

“ทำผลงานออกมาได้ดีจนไม่น่าเชื่อว่าทำโดยผู้หญิง”

หรือศิลปินหญิงอีกคนอย่างโจน มิตเชลล์ ก็เคยกล่าวว่าหลายครั้งที่เธอได้ยินเหล่าบรรดาเพศชายผู้ทรงอิทธิพลในวงการศิลปะมักพูดว่า “ผู้หญิงวาดภาพไม่ได้หรอก”

เธอก็มักจะสงสัยว่า หรือว่ามันจะเป็นอย่างงั้นจริงๆ แต่สุดท้ายเธอก็บอกกับตัวเองว่า “ช่างหัวแม่งมันเถอะ”

ศิลปินเหล่านี้หลายคนต้องลงเอยด้วยการแต่งงานและกลายเป็นช้างเท้าหลัง กลายเป็นลมใต้ปีกที่คอยสนับสนุนสามีของเธอผู้เป็นศิลปินอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นลี แครสเนอร์ หรืออิเลน เดอ คูนนิ่ง

แต่ท้ายที่สุด พวกเธอหลายคนก็หย่าร้างกับศิลปินเพศชายเหล่านั้น และหวนกลับมาเป็นศิลปินเดี่ยว จนได้รับการจารึกชื่อในโลกศิลปะในภายหลัง

แถมยังได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์หลายคนว่ามีผลงานโดดเด่นกว่าสามีของพวกเธอด้วยซ้ำไป

ยกตัวอย่างเช่น ศิลปินหญิงอย่างลี แครสเนอร์ ที่ถึงแม้ชื่อเสียงของเธอจะถูกบดบังจากการเป็นภรรยาผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแจ๊กสัน พอลล็อก สามีของเธอ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว แครสเนอร์ก็เป็นศิลปินคนสำคัญและทะเยอทะยานที่สุดคนหนึ่งในกระแสเคลื่อนไหวแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์

เธอมีบทบาทอย่างมากในการร่วมก่อร่างสร้างรูปแบบใหม่ของการทำงานศิลปะนามธรรมที่ผสานเนื้อหาทางจิตวิทยาเข้าไปด้วย

ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ในที่สุด

เธอยังมีส่วนช่วยสนับสนุนพอลล็อกในการพัฒนาเทคนิคการทำงานจิตรกรรมแบบ all-over หรือการกระจายองค์ประกอบในภาพวาดไปอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งผืนผ้าใบ

ซึ่งส่งอิทธิพลต่อเทคนิคการหยด/สาดสีอันลือลั่นของพอลล็อกในเวลาต่อมา

ลีแครสเนอร์: Palingenesis (1971), ภาพจากhttps://bit.ly/3162d3

แครสเนอร์ทำผลงานภาพวาดนามธรรมขนาดมหึมาจากการใช้เทคนิคคอลลาจ (ปะติด) และการใช้สีสันอันสดใสเจิดจ้า เปี่ยมพลังความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง

ถึงแม้บทบาทในฐานะศิลปินของแครสเนอร์จะถูกเพิกเฉยและมองข้ามจากนักประวัติศาสตร์ศิลปะในยุคสมัยของเธอ

แต่เธอก็ถูกค้นพบอีกครั้งโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะสตรีนิยมในช่วงปี 1970 และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญผู้มีบทบาทในพัฒนาการของศิลปะนามธรรม

และมีส่วนในการพลิกโฉมหน้าวงการศิลปะในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นหนึ่งในศิลปินหญิงไม่กี่คนที่มีนิทรรศการแสดงผลงานเชิดชูเกียรติในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งนิวยอร์ก (MoMA)

หรือศิลปินหญิงอย่างอิเลน เดอ คูนนิ่ง ที่ถึงแม้ชื่อเสียงของเธอในฐานะศิลปินจะถูกบดบังอยู่ภายใต้เงาของวิลเลิม เดอ คูนนิ่ง (Willem de Kooning) ผู้เป็นสามี แต่ตัวเอเลนเองก็ถูกยกย่องในภายหลังว่าเป็นศิลปินคนสำคัญในกระแสเคลื่อนไหวแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์

ที่นอกจากจะสร้างผลงานในรูปแบบของแอ็กชั่น เพนติ้ง อันโดดเด่นทรงพลังแล้ว

อิเลนเดอคูนนิง: Bullfight (1959), ภาพจากhttps://bit.ly/3dun85

เธอยังทำงานจิตรกรรมรูปธรรม ที่นำเสนอภาพบุคคลและเรื่องราวรอบๆ ตัวทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันที่เธอได้พบเจอ ตั้งแต่ภาพพอร์ตเทรตผู้คน, ภาพทิวทัศน์ ไปจนถึงภาพการสู้วัวกระทิง หรือภาพวาดผนังถ้ำโบราณ และถ่ายทอดออกมาด้วยฝีแปรงอันดิบกระด้างทรงพลัง โดยจับบุคลิกลักษณะของบุคคลหรือความประทับใจที่มีต่อแบบที่วาดอย่างฉับพลัน มากกว่าจะนำเสนอความเหมือนจริงอย่างทื่อตรง

ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังวาดภาพเปลือยและภาพที่ส่อนัยยะทางเพศของผู้ชาย ซึ่งเป็นการท้าทายอำนาจและบทบาทของเพศชายที่ถือสิทธิ์ขาดในการวาดภาพเปลือยของเพศหญิง หรือนำเสนอภาพและเรื่องราวทางเพศของผู้หญิงในวงการศิลปะแต่เพียงผู้เดียวมาโดยตลอด

ในด้านชีวิตคู่ เธอยังยืนกรานที่จะมีความสัมพันธ์แบบเปิดกว้างทางเพศกับสามี และอุทิศตัวให้แก่การดื่มและสูบจัดไม่ต่างกับเพศชาย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ละเมิดบรรทัดฐานทางสังคมในการเป็นภรรยาที่ดีในสังคมอเมริกันยุคนั้นเป็นอย่างมาก

โจนมิทเชลล์: City Landscape (1955), ภาพจากhttps://bit.ly/3lI5L3G

หรือศิลปินอย่างโจน มิตเชลล์ ผู้อยู่ในกระแสเคลื่อนไหวแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ในฐานะ “ศิลปินรุ่นที่สอง” เธอเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดนามธรรมขนาดใหญ่ สีสันฉูดฉาดบาดตา ฝีแปรงหนักหน่วง เปี่ยมจังหวะความเคลื่อนไหวอันทรงพลัง ที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ทิวทัศน์

หรือแม้แต่บทกวี เธอยังสอดแทรกสัญลักษณ์หรือตัวหนังสือลงไปในภาพวาด หากแต่เป็นการนำเสนอความงามของเส้นสายและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกภายในอย่างฉับพลัน มากกว่าจะนำเสนอความหมายของถ้อยคำหรือความเป็นจริงอย่างที่ตาเห็น

ด้วยบุคลิกห้าวห่าม มาดมั่น ผิดแผกขนบความเป็นผู้หญิงในสังคมอเมริกันยุคนั้น ทำให้นักวิจารณ์ศิลปะหลายคนตีความผลงานของเธอ ว่าเป็นการแสดงออกถึงอารมณ์รุนแรงเกรี้ยวกราดจากความเก็บกดของเพศหญิง แต่ในทางกลับกันก็มีนักวิจารณ์หลายคนที่มองเห็นถึงความเป็นกวีอันเปี่ยมอารมณ์อ่อนหวานในผลงานของเธอเช่นเดียวกัน

โจน มิตเชลล์ เป็นหนึ่งในศิลปินหญิงจำนวนไม่กี่คนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในช่วงต้นยุค 1950 จนได้รับการยกให้เป็นศิลปินแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์คนสุดท้าย

ผู้ทำงานศิลปะนามธรรมจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

โจนมิทเชลล์: Ici (1992), ภาพจากhttps://bit.ly/3lLIoq

ศิลปินหญิงเหล่านี้เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่า ศิลปะไม่ได้เป็นพื้นที่ของศิลปินเพศชายเท่านั้น

แต่ยังรวมถึงศิลปินเพศหญิงที่มีความสามารถและผลงานโดดเด่นไม่แพ้กันด้วย

เพียงแต่ศิลปินเพศหญิงเหล่านั้นจะได้รับการพูดถึงและจดจำในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างเท่าเทียมกับศิลปินเพศชายหรือไม่

เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม

ในท้ายที่สุดแล้ว ศิลปินเหล่านั้นต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนๆ กันอยู่ดี