สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย ep.15 รัฐประหาร 2534-2535

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การปกครองโดยทหารในฐานะองค์กร หรือโดยผู้นำกองทัพ เป็นรูปแบบพื้นฐานของระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่”

Paul Brooker (2009)

รัฐประหารกุมภาพันธ์ 2534 เป็นสิ่งที่พอจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้า อันเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับรัฐบาลเริ่มปรากฏชัดขึ้นเป็นลำดับ

ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากการโยกย้ายทหารในเดือนตุลาคม 2533 ที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาของการผงาดขึ้นของกลุ่ม “จปร.5” ในตำแหน่งหลักในกองทัพทั้งหมดอย่างชัดเจน ได้แก่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำของกลุ่มดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.วิมล วงษ์วานิช และ พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ท.ศัลย์ ศรีเพ็ญ เป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1

พล.ร.อ.ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ

ซึ่งเท่ากับสามเหล่าทัพอยู่ในการควบคุมของกลุ่มผู้นำทหารรุ่น 5 แทบจะสมบูรณ์แบบ

และเป็นการคุมกองทัพในแบบที่ต่างจากยุคจอมพลถนอม-จอมพลประภาส ซึ่งในยุคนั้น ไม่ใช่เรื่องของรุ่น หากเป็นการคุมในแบบของความเป็นกลุ่มอำนาจภายในหมู่ผู้นำทหารระดับสูง (clique)

การคุมกองทัพในแบบของรุ่น 5 จึงถือเป็นรูปแบบใหม่ของการมีอำนาจของทหารในการเมืองไทยสมัยใหม่ และการขึ้นสู่อำนาจด้วยฐานรองรับที่เกิดจากความเป็นรุ่นในโรงเรียนทหารเช่นนี้ ได้กลายเป็นแบบแผนของ “ทหารกับการเมืองไทย” ในยุคสมัยใหม่

และผู้นำทหารที่ “หอมกลิ่นการเมือง” ในรุ่นต่างๆ มักจะฝันถึงความยิ่งใหญ่ในแบบของรุ่น 5 เสมอ แม้ฝันเช่นนี้อาจจะไม่ง่ายในท่ามกลางพลวัตของการเมืองไทย

เมื่อรัฐประหารหวนคืน!

ผลสืบเนื่องจากการคุมอำนาจของกลุ่มยังเติร์กในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่นายทหารระดับกลางเข้าไปยึดกุม “หัวใจ” อำนาจกำลังรบของกองทัพบก ด้วยการคุมกำลังรบโดยตรงในระดับกรม ดังนั้น ถ้าอำนาจของรุ่น 7 อยู่กับการควบคุมหน่วยในระดับกรม รุ่น 5 สร้างภาพใหม่ด้วยการขึ้นสู่ตำแหน่งในการควบคุมสามเหล่าทัพของกองทัพไทย โดยเฉพาะการคุมกองทัพบกโดยตรง อย่างที่เราแทบไม่เคยเห็นมาก่อน

ฉะนั้น ถ้าความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับรัฐบาลเกิดขึ้นแล้ว ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะพาตัวเองออกจากปัญหาเช่นนี้อย่างไร

เงื่อนไขเช่นนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการบริหารการเมืองไทย ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจที่แท้จริงยังอยู่ในมือของผู้นำทหาร ซึ่งอาจจะเป็นผลพวงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยไม่สามารถพากองทัพออกจากการเมืองได้จริง

ฉะนั้น เมื่อเกิดการขยายอำนาจทางการเมืองของกลุ่มทหาร รุ่น 5 ในสภาวะที่รัฐบาลกำลังมีปัญหากับผู้นำทหารนั้น ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งแตกหักระหว่างกองทัพกับรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในท่ามกลางความขัดแย้งเช่นนี้ ผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งมักจะมั่นใจเสมอว่า การที่รัฐบาลมีความชอบธรรมจะเป็นดัง “โล่การเมือง” ในการป้องกันตนเองจากการแทรกแซงของทหาร หรือบางครั้งเชื่อมั่นว่าความชอบธรรมเช่นนี้จะทำให้ผู้นำทหารไม่ตัดสินใจยึดอำนาจ เพราะการรัฐประหารเป็นความไม่ชอบธรรมในตัวเอง และการจัดตั้งรัฐบาลทหารก็ไม่ชอบธรรมในทางการเมืองไม่แตกต่างกัน

แต่ในอีกด้านต้องถือว่า รัฐประหารคือความสำเร็จของ “กบฏทหาร” ต่อรัฐบาลที่เป็นผู้บังคับบัญชาของทหารโดยตรง

ซึ่งอาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า การยึดอำนาจทำให้ข้อต่อของสายการบังคับบัญชาระหว่างผู้นำพลเรือนกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นทหารสิ้นสภาพลง และผู้นำทหารขึ้นเป็นรัฐบาลแทน

ฉะนั้น ผู้ก่อการจะต้องทำให้การยึดอำนาจเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้ ด้วยการสร้าง “วาทกรรมรัฐประหาร” เพื่อทำให้การจัดตั้งรัฐบาลทหารเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม ซึ่งอาจถือว่าเป็นคำตอบในตัวเองประการหนึ่งว่า ไม่ว่าทหารจะมีอำนาจมากเท่าใด แต่ยังมีความจำเป็นต้องพึ่ง “วาทกรรมความชอบธรรม” เป็นฐานรองรับเพื่อให้เกิดการยอมรับจากประชาชน ไม่เช่นนั้นแล้วการรัฐประหารจะพังทลายลงด้วยการต่อต้านจากประชาชน

ปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) ของกองทัพในการสร้างแรงจูงใจให้สังคมสนับสนุนการรัฐประหารจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าเช่นนั้นแล้วกองทัพจะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร 2534 อย่างไร เพราะการชิงอำนาจจากรัฐบาลชาติชายที่กำลังเป็นที่นิยมของประชาชน ต้องการคำอธิบายให้แก่สังคมอย่างมาก


วาทกรรมใหม่!

ในยุคสงครามเย็นจึงไม่แปลกนักที่จะต้องสร้างภาพของผู้นำทหารให้เป็นดัง “อัศวินม้าขาว” ที่เข้ามาเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดคือ การคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่สำหรับรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2534 นั้น เป็นการยึดอำนาจในการเมืองไทยครั้งแรกในสภาวะแวดล้อมของโลกที่เป็น “ยุคหลังสงครามเย็น” (The Post-Cold War Era) โลกชุดนี้เริ่มต้นอย่างชัดเจนจากการประกาศรวมชาติของเยอรมนี และตามมาด้วยการทุบทำลายสัญลักษณ์ใหญ่สำคัญของสงครามเย็นในเดือนพฤศจิกายน 2532… การเมืองโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น ข้ออ้างเดิมของการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์จึงเป็นประเด็นที่ไม่มีน้ำหนักเท่าใดนัก เพราะในโลกหลังสงครามเย็นนั้น การคุกคามของคอมมิวนิสต์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ประเด็นใหม่ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในครั้งนี้จึงได้แก่ การคอร์รัปชั่นของรัฐบาลพลเรือน การรังแกข้าราชการพลเรือน การมีเสียงในรัฐสภามากเกินไป การทำลายสถาบันทหาร และการบิดเบือนคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้ออ้างของทหารแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก

และนับจากนี้สองข้อหาหลักคือ การกล่าวโทษเรื่องคอร์รัปชั่นของรัฐบาลพลเรือนและการเป็น “เผด็จการรัฐสภา” จะกลายมาข้ออ้างพื้นฐานของการยึดอำนาจในอนาคตด้วย

แม้แต่ชื่อของคณะรัฐประหารก็ต้องตั้งเพื่อให้สังคมสนับสนุน ในชื่อว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) โดยมี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองหัวหน้า และ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นเลขานุการ

ซึ่งไม่ผิดนักที่จะเรียกว่าเป็น “รัฐประหารของรุ่น 5”

หลังจากการจู่โจมบุกจับกุมนายกรัฐมนตรีและคณะที่สนามบินทหารดอนเมืองแล้ว พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกควบคุมตัวไว้ 15 วันจึงได้รับการปล่อยตัว และได้ถูกขอให้เดินทางไป “พักผ่อน” ที่ประเทศอังกฤษ (เขาใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน)

และคณะรัฐประหารมาแนวเดียวกับเมื่อครั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจในปี 2500 ที่ไม่ตั้งผู้นำทหารขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ได้ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน แทน อีกทั้งได้มีการสั่งยึดทรัพย์นักการเมืองจำนวน 10 คน

พร้อมกันนี้ พล.อ.สุจินดาได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า “เราขอยืนยันว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยสมาชิกสภา รสช. และจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล… [และ] ขอยืนยันในที่นี้ว่า ทั้ง พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อ.เกษตร จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี”… จุดเริ่มต้นของวาทกรรมสืบทอดอำนาจ

สุดท้ายแล้วศาลฎีกาได้สั่งให้ยกเลิก เพราะประกาศคณะรัฐประหารเป็นโมฆะ และเอกสารการสอบสวนทั้งหมดได้ถูก “เผาทิ้ง” ซึ่งทำให้เกิดการตีความว่า การสอบสวนเป็นเพียงการต่อรองทางการเมือง เช่นที่ข้ออ้างเรื่องการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลก็เป็นเพียงวาทกรรมรัฐประหาร และความคลางแคลงใจมีมากขึ้น

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2534 เปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง และกลุ่ม รสช.ได้จัดตั้งพรรคทหารคือ “พรรคสามัคคีธรรม” เพื่อรับการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 โดยมีนายณรงค์ วงศ์วรรณ หนึ่งในนักการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์เป็นหัวหน้าพรรค เหมือนกับพรรคเสรีมนังคศิลา ยุคจอมพล ป. หรือพรรคสหประชาไทยุคจอมพลถนอม

แม้เสียงของฝ่ายรัฐบาลจะชนะเสียงฝ่ายค้านในการจัดตั้งรัฐบาล (กลุ่มพรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคความหวังใหม่ที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้า) แต่นายณรงค์ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ เนื่องจากถูกปฏิเสธการให้วีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา (แม้ยังไม่เคยถูกจับกุมในคดียาเสพติดมาก่อน)

ทำให้ผู้นำทหารต้องผลักดันให้ พล.อ.สุจินดาลาออกจากกองทัพบก เพื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การตัดสินใจเช่นนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างมาก เพราะ พล.อ.สุจินดาได้กล่าวมาแล้วว่า จะไม่รับตำแหน่ง

ทำให้เขาต้องกล่าวในวันอำลากองทัพว่า “จำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ”

คำกล่าวนี้กำลังมีผลอย่างมากกับชีวิตของเขาอย่างไม่คาดคิด

กระแสต้าน!

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเลยว่า การตัดสินใจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้จะนำไปสู่ความพลิกผันทางการเมืองครั้งใหญ่ และนึกไม่ถึงว่าแรงต้านวาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จะขึ้นสู่กระแสสูงอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การประท้วงใหญ่ในต้นเดือนพฤษภาคม 2535

โดยเริ่มจากการอดข้าวประท้วงของนายฉลาด วรฉัตร ในต้นเดือนเมษายน และของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในต้นเดือนพฤษภาคม

แต่ก็เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลมีท่าทีแบบไม่ถอย และพยายามตอบโต้ด้วยข้อเสนอว่า “ทำไมถึงต้องมาอดข้าว… ทำไมไม่เข้าไปเล่นในสภา”

ในอีกด้าน พล.อ.สุจินดาแสดงออกแบบไม่วิตกทุกข์ร้อนและไม่สนใจสถานการณ์ โดยเชื่อว่ารัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้ และยืนยันว่าตนเอง “จะไม่ลาออกเพราะการประท้วง” เป็นอันขาด สภาพเช่นนี้ทำให้การเมืองของทั้งสองฝ่ายเดินไปสู่การเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำในแบบที่ผู้นำทหารคุ้นชินคือ ผลักดันให้เกิดการก่อม็อบเพื่อการสนับสนุนรัฐบาล…

กลิ่นคาวเลือดบนถนนเริ่มฟุ้งโชยอีกครั้ง กระแสต่อต้านรัฐบาลทวีความเข้มข้นมากขึ้น และนำไปสู่การประท้วงใหญ่ ซึ่งสอดรับกับกระแสประชาธิปไตยในเวทีโลกจากการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในเดือนมิถุนายน 2532 ที่เชื่อว่ามีผู้ประท้วงถูกสังหารเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นรอยด่างในการเมืองจีนจวบจนปัจจุบัน

การประท้วงในไทยครั้งนี้มีปัจจัยสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทสำคัญ เช่น โทรศัพท์มือถือและโทรสาร ทำให้การแพร่กระจายของข่าวสารการประท้วงเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนเป็น “ม็อบมือถือ”

และในที่สุดการเผชิญหน้าก็ยกระดับเป็นการปะทะ ทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก

แต่การตัดสินใจใช้อาวุธในการปราบปรามประชาชนในช่วงวันที่ 17-18 พฤษภาคม กลับเป็นความพ่ายแพ้อย่างมีนัยสำคัญ

เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนรัฐบาล และนำไปสู่การสิ้นสุดของอำนาจของทหารในการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516!