E-DUANG : ยุทธศาสตร์ ประชาธิปัตย์ กับ รัฐประหาร

การออกมายืนยันจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สำคัญอย่างยิ่งทางการเมือง

เพราะเป็นการยืนยันบนพื้นฐานที่ยอมรับในบทบาทและความหมายของ อดีต ส.ส.ที่เป็นแกนนำ “กปปส.”

สะท้อน “แนวโน้ม”ที่จะเกิดขึ้นทางการเมือง

ความหมายจึงหมายความว่า การพบระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มิได้ว่างเปล่าและเลื่อนลอย

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกปปส.จึงมี “ความหมาย” เป็นอย่างสูงต่อพรรคประชาธิปัตย์และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เท่ากับชี้ว่า ไม่มี “หอกข้างแคร่”

 

คำยืนยันจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีลักษณะในทาง “ยุทธศาสตร์”

แสดงว่า “แนวทาง” พรรคประชาธิปัต์จะไม่เปลี่ยน

ไม่เปลี่ยนไปจากก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

ไม่เปลี่ยนไปจากก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นั่นก็คือ คู่สัประยุทธ์หลักในทางการเมืองยังเป็นพรรคเพื่อไทย อันเป็นอวตารแห่งพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย อยู่เหมือนเดิม

ความหมายก็หมายความว่า ยังดำรงความเป็นพันธมิตรในแนวร่วมอยู่กับ “ขบวนการรัฐประหาร”

โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น “สะพานเชื่อม

 

คำประกาศนี้ ด้าน 1 อาจเป็นเงื่อนไขพิเศษเหมือนที่พรรคประชาธิปัตย์ เคยได้

ก่อนเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550

ก่อนเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

ขณะเดียวกัน ด้าน 1 เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์จะต้องเข้าไปร่วมแบกรับ “รัฐประหาร” ที่ผ่านมา

ไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549

ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ยิ่งใกล้ “เลือกตั้ง” เมื่อใด คำถามอันเกี่ยวกับ “รัฐประหาร” จะต้องดังมาจากทุกสารทิศ