วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จีนโพ้นทะเลในไทย-‘อพยพ’ บนคำอธิบายเชิงทฤษฎี

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลักคิดแห่งการอพยพ (ต่อ)

และเนื่องจากหลักคิดเกี่ยวกับการอพยพมีอยู่มากมายหลายสำนัก ในที่นี้จะเลือกผลงานหลักคิดบางชิ้นมาอธิบายให้เห็นว่า ในบรรดาหลักคิดการอพยพที่อยู่มากมายนั้น เมื่อถูกนำมาประมวลแล้วจะสามารถแยกอธิบายเป็นชุดความคิดได้อย่างไรบ้าง

เพราะฉะนั้นแล้วอีกด้านหนึ่งของชุดความคิดนี้จึงคือแนวทางการศึกษา (approach) เรื่องการอพยพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีอยู่มากมายหลายแนว ซึ่งในที่นี้จะได้กล่าวถึงแต่โดยสังเขป

ดังนี้

 

แนวจุลภาคเชิงปัจเจก
(Micro-individual approaches)

หลักคิดในแนวจุลภาคเชิงปัจเจกนี้เห็นว่า การอพยพทั้งภายในรัฐและระหว่างรัฐมักรวมศูนย์อยู่ที่การตัดสินใจของปัจเจกบุคคล โดยก่อนการตัดสินใจลาจากที่พำนักเดิมของตน บุคคลนั้นได้ตรวจสอบค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่พึงเกิดจากการอพยพมาก่อนแล้ว

การตัดสินใจเช่นนี้ในด้านหนึ่งจึงคล้ายกับการลงทุนที่หวังผลตอบแทนแบบหนึ่ง

ต่อมาหลักคิดนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานให้กับการศึกษาในแนวนี้ที่ขยายให้เห็นว่า การอพยพของมนุษย์เป็นการเปลี่ยนถิ่นฐานที่พำนักที่มีทั้งที่เปลี่ยนอย่างถาวรและกึ่งถาวร และโดยไม่ขึ้นต่อระยะทางว่าใกล้หรือไกล หรือด้วยความสมัครใจหรือไม่สมัครใจ

และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการอพยพภายในหรือภายนอกรัฐ

แต่ทุกการอพยพจะมีปัจจัยประกอบอยู่สี่ส่วนด้วยกันคือ ต้นทาง (origin) ปลายทาง (destination) อุปสรรคแทรกแซง (intervening obstacles) และตัวบุคคล (personal)

ทั้งนี้ ปัจจัยอุปสรรคในที่นี้หมายถึงระยะทางระหว่างต้นทางกับปลายทาง ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กฎหมายการเข้าเมือง ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เช่น ภาษา ศาสนา หรือวิถีชีวิต ส่วนตัวบุคคลหมายถึง ฐานะทางเศรษฐกิจ การแสดงออก และบุคลิกลักษณะของบุคคล เป็นต้น

 

ควรกล่าวด้วยว่า หลักคิดที่ถูกขยายความนี้ได้กล่าวเป็นนัยถึงงานศึกษาเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ของ อี. จี. ราเฟนสไตน์ (E. G. Ravenstein) ซึ่งใช้ยุโรปเป็นพื้นที่ในการศึกษาผ่านผลงานเรื่องกฎแห่งการอพยพ (laws of migration, 1885) ขึ้นมา

โดยสาระสำคัญในกฎนี้ชี้ให้เห็นว่า การอพยพของมนุษย์มีสาเหตุมาจากประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลัก คือมีปัจจัยผลักดันมาจากการไร้งานทำ ความยากจน การไร้ที่ดินทำกิน การเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากร การมีฐานะทางสังคมที่ต่ำ หรือการเก็บกดทางการเมือง

ปัจจัยนี้ทำให้มนุษย์ต้องหาถิ่นฐานใหม่ และถิ่นฐานใหม่จะมีปัจจัยดึงดูดในเรื่องงานกับค่าแรง ระบบการศึกษากับสวัสดิการที่ดีกว่า มีที่ดินให้ทำกิน มีสิ่งแวดล้อมกับฐานะความเป็นอยู่ที่ดี มีเสรีภาพทางการเมือง เป็นต้น

ทั้งปัจจัยผลักดัน (push factors) และปัจจัยดึงดูด (pull factors) นี้เป็นไปตามหลักคิดการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice theory) อันเป็นหลักคิดที่เห็นว่า มนุษย์มักจะมีเหตุผลในการเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองเสมอ

โดยที่ต่อมาปัจจัยทั้งสองถูกเรียกว่าปัจจัยผลักดัน-ดึงดูด (push-pull factors)

 

การที่หลักคิดในแนวนี้ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล และเห็นว่าการตัดสินใจนี้สัมพันธ์กับเหตุผลทางเศรษฐกิจอย่างแยกกันไม่ออก การศึกษาแนวนี้จึงมุ่งไปยังหลักคิดเศรษฐศาสตร์จุลภาคของการอพยพ (Microeconomic theory of migration) ที่เพ่งไปที่การเลือกของปัจเจก

ซึ่งตัวผู้อพยพในฐานะปัจเจกได้คำนวณแล้วว่าการอพยพของตนต้องใช้ต้นทุนเท่าไร และจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ตนเพียงใด

นอกจากนี้ หลักคิดในแนวนี้ยังสนใจประเด็นเกี่ยวกับแบบแผนวิวัฒนาการของการอพยพที่สัมพันธ์กับประชากรศาสตร์อีกด้วยว่า ทฤษฎีการเคลื่อนย้าย (mobility) ที่อยู่บนฐานคิดในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นมีราคาค่างวดสำหรับนักประชากรศาสตร์ในแง่ที่ว่า มันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดและการตายของประชากรได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในแง่ประชากรศาสตร์นี้ในปัจจุบันถูกมองว่าล้าสมัยไปแล้ว และแม้จะมีคุณูปการอยู่ไม่น้อยก็ตาม แต่ถ้อยวิจารณ์ที่ปรากฏนั้น เห็นว่าเป็นการศึกษาของนักวิวัฒนาการ (evolutionist) ที่อิงหลักคิดสมัยใหม่ ซึ่งทุกวันนี้ถูกมองว่าเป็นแนวที่ใช้ “ตะวันตกเป็นศูนย์กลาง” (western-centric) ดังหลักคิดอื่นอีกไม่น้อย

การศึกษาในแนวนี้ต่อมาถูกเรียกว่าหลักคิดการอพยพคลาสสิคใหม่ (Neoclassical Migration Theory) และเรียกสั้นๆ ว่าหลักคิดคลาสสิคใหม่ (Neoclassical Theory) ซึ่งในที่นี้จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้าอีกครั้งหนึ่ง

 

อนึ่ง ที่ว่าใช้ “ตะวันตกเป็นศูนย์กลาง” นี้หมายความว่า งานศึกษาการอพยพที่มีขึ้นนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วมักอธิบายการอพยพที่เกิดขึ้นในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือออสเตรเลีย หรือในระหว่างสามพื้นที่นี้กับประเทศอื่นที่อยู่นอกพื้นที่ทั้งสามออกไป

จากเหตุนี้ การนำเสนอเชิงหลักคิด นโยบาย สถานการณ์ หรือเหตุผลที่ชักนำให้เกิดการอพยพ เป็นต้น จึงตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและทัศนะของตะวันตกเป็นหลัก แต่ผลที่ออกมาจะถูกนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์เดียวกันในสังคมอื่นด้วย

จนทำให้เกิดการเหมารวมว่า ที่อธิบายมานี้สามารถใช้ได้กับทุกสังคมหรือทุกประเทศในโลก

ทั้งๆ ที่สังคมอื่นหรือประเทศอื่นต่างก็มีชุดความคิด วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมืองที่ต่างจากตะวันตก คำอธิบายที่ใช้ “ตะวันตกเป็นศูนย์กลาง” จึงอาจใช้ได้หรือใช้ไม่ได้กับการอธิบายสังคมอื่น

อย่างไรก็ตาม นอกจากคำเรียกที่ว่าแล้วก็ยังมีอีกคำเรียกหนึ่งคือ “ยุโรปเป็นศูนย์กลาง” และไม่ว่าจะอย่างไรคำอธิบายอันเป็นผลิตผลของตะวันตกนี้ก็มีอิทธิพลสูงมาจนทุกวันนี้ ซึ่งแม้แต่งานศึกษานี้ก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลนี้

หาไม่แล้วก็อาจไม่ผ่านเกณฑ์ทางวิชาการที่กลายเป็นจริต อันปกติไปแล้วนี้เช่นกัน

 

แนวมหภาคเชิงโครงสร้าง
(Macro-structural approaches)

หลักคิดในแนวนี้มีที่มาจากนักวิชาการจำนวนมากเห็นว่า การเข้าใจบริบทโลกให้มากขึ้นจะทำให้เข้าใจการอพยพได้ดียิ่งขึ้น และบริบทโลกในที่นี้ก็คือ แบบแผนการอพยพระหว่างต้นทางกับปลายทางที่มีระบบของการลื่นไหลที่หลากหลาย

คือไม่เพียงลื่นไหลจากตัวผู้อพยพเท่านั้น หากยังมีการลื่นไหลของสินค้า การบริการ และความคิดอีกด้วย

หลักคิดนี้ถูกนำเสนอขึ้นเป็นครั้งแรกโดยนักวิชาการในแนวระบบ (systems approach) เมื่อ ค.ศ.1970 เพื่อหากรอบการวิเคราะห์แนวโน้มของสภาพการณ์ที่มีอิทธิพลต่อการอพยพแล้วก็พบว่า การอพยพจะผันแปรไปตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไปสู่เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมทางสังคมกับปัจจัยทางการเมือง

นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกสองปัจจัยที่ถูกนำเข้ามาวิเคราะห์คือ บทบาทของ “สารสนเทศ” (information) และความต่อเนื่องของ “ผลสะท้อนกลับ” (feedback) จากที่พำนักต้นทาง

ซึ่งเปิดประตูให้กับการศึกษาถึงความสำคัญของเครือข่ายทางสังคมกับครอบครัว และการโอนถ่ายเงินของกระบวนการการอพยพได้อย่างมากมาย

จะเห็นได้ว่า แนวระบบนี้ไม่ได้มองการอพยพเป็นเส้นตรงแบบเคลื่อนไหวไปทางเดียว แต่มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีการฝังตัวของระบบการพึ่งพาที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวงจรอยู่เสมอ แนวระบบจากที่กล่าวมาจึงเป็นการศึกษาการอพยพที่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่กว้างขวาง

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ เพราะเป็นการศึกษาในระดับนานาชาติที่ผูกติดกับโลกาภิวัตน์

แต่คงด้วยเหตุที่ยากในทางปฏิบัติดังกล่าว ต่อมาแนวระบบจึงได้รับการต่อยอดด้วยการสร้างต้นแบบของการหมุนเวียน (the circulation model) ที่ครอบคลุมรูปแบบวงจรการอพยพขึ้นมา

โดยเน้นไปที่ระดับนานาชาติ

—————————————————————————————————

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป