โควิดประชิดไทย ทั้งพม่าและมาเลเซีย : ปัญหาและทางออก

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

แม้ขณะนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เฉพาะที่เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น

แต่อย่าได้ประมาท เพราะประเทศทั้งเมียนมา และมาเลเซียเพื่อนบ้านของไทย กำลังมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นประชิดติดชายแดนไทยทั้งเหนือ ตะวันออกและใต้ที่มีชายแดนยาวมากๆ และมีช่องทางธรรมชาตินับพันๆ จุด ยากแก่การป้องกัน

สำหรับพม่าหรือเมียนมาวิกฤตหนักคุมไม่อยู่ ล่าสุด (10 ตุลาคม 2563) มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 26,064 ราย เสียชีวิตมากกว่า 598 คน ยิ่งสร้างความตระหนกให้กับคนไทย เมื่อพบว่าโชเฟอร์ชาวเมียนมา 3 คนติดเชื้อ ได้ข้ามพรมแดนมาซื้อสินค้าในตลาดค้าปลีกและส่ง ซึ่งใหญ่ที่สุดใน อ.แม่สอด จ.ตาก โดยขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องกำลังเร่งติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งฝั่งไทยและเมียนมา

และล่าสุดจังหวัดตากออกคำสั่งระงับการเข้า-ออก จุดผ่านแดนถาวร ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม ส่งผลกระทบการค้าขาย (ทางเศรษฐกิจ) สุดท้ายก็ต้องเปิด แต่เปิดได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องเจอชาวแม่สอด จ.ตาก ถือป้ายไปชุมนุมประท้วงที่ด่านพรมแดนไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 หรือบริเวณบ้านวังตะเคียนใต้ ต.ท่าสายลวด ทั้งนี้ เพื่อชุมนุมประท้วงขอให้ทางราชการไทยปิดด่านพรมแดนไทย-เมียนมาโดยสิ้นเชิง ห้ามรถยนต์และคนเมียนมาเข้ามายังเขตไทยเด็ดขาด

โดยให้เหตุผลว่า “โควิดถ้าติดแล้วจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเสียหายมากกว่า” จากนั้นได้ยื่นหนังสือถึงนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก

ส่วนมาเลเซียรายงานโดยรอยเตอร์สว่า กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในวันอังคาร (6 ตุลาคม) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 691 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 คน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ทำสถิติใหม่ หลังจากเริ่มพบการระบาดเป็นวงกว้าง นับตั้งแต่มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในรัฐซาบาห์ จนทำให้มีนักการเมืองจำนวนมากเสี่ยงติดโควิด-19

ขณะที่ล่าสุดมีรัฐมนตรีอย่างน้อย 13 คนต้องถูกกักตัวอยู่ที่บ้านพัก เนื่องจากพบว่ามีรัฐมนตรีรายหนึ่งมีผลตรวจเชื้อเป็นบวก

ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อทั้งประเทศอยู่ที่ 13,504 ราย ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่าอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มียอดรวมติดเชื้อทะลุกว่า 300,000 รายไปแล้ว

ในขณะที่ดาโต๊ะสรี ดร.ซุลกิฟลี มูฮัมหมัด อัลบักรี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการศาสนาติดโควิด-19 ซึ่งติดโควิดด้วย ได้ขอให้คนที่ได้เจอกับท่านในช่วงวันที่ 24 กันยายน ถึง 4 ตุลาคม ไปตรวจหาโควิดโดยด่วน

หลังจากนั้นสื่อได้นำเสนอไทม์ไลน์การเดินทางของ รมต.ท่านนี้เพื่อสะดวกในการจัดการ ซึ่งท่านได้ไปเยือน 5 รัฐ คือ Sabah, Selangor, Kelantan, Terengganu และ Negeri Sembilan

มัสยิด 3 แห่งคือ Masjid Ulul Albab ที่ Jerteh (25 September), Surau An-Nur ที่ Bangi (27 September), Masjid Jamek Sultan Hisamuddin ที่ Serdang (3 Oktober)

และไปเยือนมหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ Universiti Sains Islam Malaysia (Usim), Universiti Teknologi Mara (UiTM) Shah Alam, Universiti Kebangsaan Malaysia (UKM), Bangi

อาจารย์รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ นักวิชาการชาวไทยเชื้อสายมลายูปาตานี ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมลายา ประเทศมาเลเซีย ให้ทัศนะว่า

“เมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรกกับรอบนี้ ก็ยังรู้สึกว่ารอบแรกน่ากังวลกว่ามากเพราะตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเผชิญ ต้องปรับตัวหลายด้านในการใช้ชีวิตที่อยู่ภายใต้มาตรการ MCO เกือบ 3 เดือน”

“แต่การระบาดรอบนี้เป็นการระบาดในพื้นที่จำกัด คือในเรือนจำที่ซาบาห์ เกอดะห์ ปีนัง Klang ของสลังงอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดง่ายต่อการควบคุม ถึงแม้ว่าการระบาดจากเรือนจำจะมีการระบาดกับเจ้าหน้าที่เรือนจำและแพร่ไปยังครอบครัวและคนรอบข้าง แต่ก็มีการตรวจหาโควิดคนใกล้ชิดนับพันคน และมีการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงที่เกิดการระบาดเกิน 40 คน ทำให้สบายใจได้ว่ามีการรับมือที่เป็นระบบและไม่กระทบกับคนหมู่มาก เพราะไม่มีการปิดเมืองทั่วประเทศเหมือนที่ผ่านมา”

นอกจากนี้ อาจารย์รุสนันท์ยังสะท้อนถึงวิกฤตโควิดรอบนี้ เมื่อดูสถานการณ์โลกที่ยังระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในระยะยาวและเป็นวงกว้างในทุกด้าน มหาวิทยาลัยที่สอนก็ต้องปรับตัวต่อ

ผลกระทบครั้งนี้ส่งผลต่อคนงานไทย แรงงานไทย และนักศึกษาไทยที่เรียนที่มาเลเซียซึ่งเดินทางกลับไทยและจะไม่สามารถเข้ามาเลเซียยาวแน่แม้จะประกาศจนถึง 31 ธันวาคม 2563 แต่อาจมีต่อหลังจากประกาศนี้

“มหาวิทยาลัยเรียนทางออนไลน์ยาวไปค่ะ แต่นักศึกษาต่างชาติก็โดนชะลอไม่ให้เข้ามาก่อนจนถึงสิ้นปี เด็กใหม่ก็เรียนออนไลน์ค่ะ คาดว่าน่าจะตลอดปีการศึกษา 2020/2021 ยิ่งตอนนี้ ที่ UM (มหาวิทยาลัยมลายา) ที่สอนอยู่ ยิ่งเข้มงวดมากๆ เลย ดิฉันเป็นคนไทยที่สอนที่นี่ น่าจะไม่ได้กลับนานเลย ต้องปรับตัวและทำใจ”

นางสาวฮุสนา ดินอะ นักศึกษาไทยชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัย USIM ซึ่งเดินทางกลับไทยช่วงโควิด-19 วันก่อน ก็ไม่สามารถเข้าไปเรียนต่อในมาเลเซียได้ แต่ก็ยังดีที่มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้เรียนและส่งงานออนไลน์

ฮุสนา ดินอะ กล่าวว่า “ก็รู้สึกกังวลกลัวไม่จบเพราะตอนนี้อยู่ปีสุดท้าย อย่างไรก็แล้วแต่ ก็โล่งใจที่เขาให้โอกาสเรียนและส่งงานออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ก็ขอพรให้มาเลเซียพ้นวิกฤตครั้งนี้เร็วที่สุด”

ผู้บริหารโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แจ้งว่า “นักเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ 5 คนซึ่งได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย USAS มาเลเซีย ปีการศึกษา 2020/2021 ได้ถอนตัวไม่ไปต่อเพราะวิกฤตโควิดมาเลเซียรอบใหม่

ในขณะเดียวกันอดีตนักศึกษาโรงเรียนจริยธรรมศึกษา มูลนิธิอื่นๆ ที่ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยทั่วโลก ไม่ว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย และโลกอาหรับรวมกับเพื่อนๆ เขาอีกนับพันคนอยากให้รัฐช่วยพวกเขาในการโอนหน่วยกิตเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย เพราะการกลับไปเรียนที่ต่างประเทศน่าจะยากท่ามกลางวิกฤตโควิดทั่วโลก”

ผู้เขียนได้พบส่วนหนึ่งเจ้าของร้านอาหารไทยในมาเลเซียระบายทุกข์ว่า เขาคงหมดโอกาสไปเปิดร้านอาหารต่อ แต่ค่าเช่าร้านก็ต้องจ่ายทุกเดือนถ้าสถานการณ์ในมาเลเซียเป็นแบบนี้

นายทวีศักดิ์ ปิ หนึ่งในคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซีย กล่าวว่า “ณ สถานการณ์ปัจจุบัน อัตราตัวเลขผู้ติดเชื้อของมาเลเซียได้มีจำนวนไม่ลด ส่งผลทำให้คนไทยโดยเฉพาะคนชายแดนใต้ หมดกำลังใจ หมดความหวัง หมดความรู้สึกต่อการเฝ้ารอที่จะเข้าไปทำงานในมาเลเซียในต้นปีหน้า ตามที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ประกาศไว้ในก่อนหน้านี้ ว่าปิดด่านพรมแดนยาวถึงธันวาคม 2020”

นั้นก็หมายความว่า ตลอดระยะเวลาที่เหลือในปี 2020 นี้ไม่สามารถข้ามไปทำงานได้แล้วในทุกกรณี

คนไทยที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับมาเลเซียมีจำนวนมาก

ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการและลูกจ้างร้านอาหาร ผู้ใช้แรงงาน หรือแม้กระทั่งคนทำงานในบริษัทระหว่างประเทศ เป็นอันต้องชะงักลง

หากว่ามีวีซ่าแล้วตัวเองอยู่มาเลเซีย ก็ไม่อยากกลับไทย ยอมที่ไม่กลับมาเยี่ยมครอบครัว เยี่ยมญาติ เป็นเวลา 6 เดือนแล้ว เนื่องจากหากกลับไทยก็จะเข้าไปในมาเลเซียไม่ได้แล้ว พวกเขาจึงเลือกงาน เลือกอาชีพที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้

หากพวกเราอยู่ในไทย เป็นอันว่าต้องตกงาน เพราะพรมแดนไม่เปิด หรือต้องหาอาชีพใหม่ทำ ซึ่งมีคนไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน อยู่ในระหว่างรอคอยกลับไปทำงานในประเทศมาเลเซียอีกครั้ง

รวมทั้งคนไทยที่อยู่ตามชายแดนไทย ไม่ว่าจะเป็นสุไหงโก-ลก ตากใบ หรือสะเดา พวกเขาก็รอเวลาที่ด่านเปิดกลับมาอีกครั้ง เพราะตอนนี้ไม่มีผู้คนผ่านไปผ่านมา ค้าขายก็ไม่ได้ หลายเจ้าเป็นอันต้องคืนแผงลอย ร้านค้า เนื่องจากทนกับค่าจ้างไม่ไหว

พวกเขาเหล่านี้รอเวลาเพียงแค่ด่านพรมแดนไทย-มาเลเซียเปิดอีกครั้ง