เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | พลังภูมิเมืองแพร่

ชาวคณะศิลปะและวัฒนธรรมไปร่วมเวทีสานเสวนา ปัญหางานด้านศิลปวัฒนธรรมที่เมืองแพร่ ระหว่างวันที่ 30 กันยายน-1 ตุลาคมที่ผ่านมา

เป็นช่วงเวลาผลัดเจ้าเมืองแพร่ จึงมีรองผู้ว่าฯ คุณวรญาณ บัญณราช มาเป็นประธานแทนฝ่ายจังหวัด กับคุณธีรวุธ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ พร้อมผู้เกี่ยวข้องจากทุกฝ่ายมาร่วมหารือ ทำความเข้าใจเพื่อหามติร่วมแก้ปัญหา

โดยเฉพาะปัญหาโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนเลียบน้ำยม

กับพ่วงพันธกิจติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารบ้านไม้ “บอมเบย์เบอร์มา” ซึ่งอยู่ระหว่างเริ่มต้นศึกษาข้อมูลโครงสร้างทั้งหมดอย่างเป็นระบบด้วยความดูแลเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดจากทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม คือภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ อย่างดียิ่ง

วิกฤตข่าวบ้านบอมเบย์เบอร์มาที่ผ่านมากลายเป็นโอกาสใหม่ของการเห็นความสำคัญของ “พลังสามประสาน” หรือ “ไตรภาคีของงานด้านศิลปวัฒนธรรม” คือความเป็นเอกภาพของภาคราชการ ภาคเอกชน (ธุรกิจ) และภาคประชาสังคม คือประชาชนทั้งสามส่วนร่วมเป็นเอกภาพอย่างมีดุลยภาพ

สานพลังสามภาคส่วนในทุกงานด้านศิลปวัฒนธรรม

นี้คือวิถีใหม่ของการปฏิรูปงานด้านศิลปวัฒนธรรม ที่คณะทำงานเรามุ่งเน้นนำเสนอ

ปัญหาของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนเลียบน้ำยมคือ ขอให้ชะลอโครงการไว้ก่อนเพื่อศึกษาถึง “ผลกระทบและผลประโยชน์” ต่อเมืองแพร่และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

ถนนเลียบน้ำยมตามโครงการ เริ่มจากท่าน้ำศรีชุมไปจนถึงสะพานบ้านน้ำโค้ง

ซึ่ง “ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่เห็นด้วยกับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ฯ แต่ควรพัฒนาให้สอดคล้องกับคุณค่าภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเมืองเก่าแพร่”

ที่พึงตระหนักและพิจารณาร่วมกันคือ ถนนนี้จะกลายเป็นเขื่อนกั้นน้ำยมอันมีผลกระทบต่อทางน้ำและวิถีชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น จึงควรชะลอโครงการไว้ก่อนจนกว่าจะตกลงเป็นมติร่วมกันได้

ที่ประชุมของทุกภาคส่วนในวันนั้นมีท่าทีที่ดีและยอมรับจะร่วมหารือเพื่อหาข้อยุติต่อไป

ทางภาคีเครือข่ายฯ สรุปข้อชี้แจงว่า

“…สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดแพร่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราเชื่อว่าการพัฒนาและการอนุรักษ์สามารถเดินหน้าไปพร้อมกันได้ ทุกๆ อย่างอยู่ที่ “การศึกษาผลกระทบรอบด้านอย่างละเอียด” และการออกแบบจากข้อมูลที่ได้จากการศึกษานั้น เราได้ถอดบทเรียนจากกรณีโบราณสถานบอมเบย์เบอร์มาไว้แล้วว่า ในการทำโครงการต่างๆ การศึกษาถึงผลกระทบรอบด้านสำคัญที่สุดเสมอ ทางภาคีฯ ยินดีร่วมมือกับทุกองค์กรและทุกหน่วยงานภาครัฐในการใช้ความรู้ ความสามารถของบุคลากรเพื่อช่วยพัฒนาจังหวัดแพร่อย่างเต็มกำลังความสามารถที่มี”

เมืองแพร่กำลังโบกธงนำร่องให้เห็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 หมวด 5 ว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ” โดยเฉพาะมาตรา 57(2) ว่าศักดิ์สิทธิ์และเป็นจริง คือ

“มาตรา 57 รัฐต้อง

(2) อนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการ และได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ชาวคณะเราพลอยภาคภูมิไปกับการ “สานพลังสามภาคส่วน” ของชาวแพร่ในสถานการณ์ที่ผ่านมาและกำลังดำเนินการอยู่ในวันนี้ และขอเป็นกำลังใจให้บรรลุล่วงด้วยดี ด้วยพลังไตรภาคีของชาวแพร่นั้นเอง

คุณพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดแพร่ และคุณเอกชัย วงศ์วรกุล ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ ร่วมประสานงานให้คณะเราได้พบปะกับกลุ่มศิลปินเมืองแพร่ที่มีอยู่แทบจะครบทุกสาขา นำโดยศิลปินแห่งชาติ นางประนอม ทาแปง สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศีลป์ ศิลปะผ้าทอ)

ศิลปินอื่นผู้มีบทบาทสร้างสรรค์งานศิลป์อันเป็นอลังการของเมืองแพร่ เช่น วิทยา สุริยะ นิรันดร ปัญญามูล อิทธิพล ปัญญาแฝง ชินวรณ์ ชมพูพันธ์ ศุภร พรินทรากุล กุลศักดิ์ ชัยวัณณคุปต์ ประหยัด วัลลังกา กวีวัธน์ เมฆแสน จีระศักดิ์ ธนูมาศ ปิยศักดิ์ ปิ่นทอง กฤษณา กาญจนสุรกิจ ฝ้ายคำ อยู่ศิลป์ โกมล พานิชพันธ์ ศักดิ์จิระ เวียงเก่า วุฒิไกร ผาทอง

พิเศษคือ นคร บุญญาสัย ฉายา “เทพเกรยองวาดสองมือ” ซึ่งได้แสดงความสามารถวาดสดบนผ้าใบด้วยแท่งเกรยองทั้งสองมือฉวัดปาดป้ายเป็นรูปเศียรพระลอในช่วงสองนาทีเศษ

ศิลปินแพร่ได้โบกธงนำร่องงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างคึกคักยิ่ง ดังมีทั้งหอศิลป์เมืองแพร่ บ้านศิลปินและกิจกรรม “ประตูชัย อะไรดี” ซึ่งเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพ ทั้งศิลปะ ดนตรี งานฝีมือ ณ ลานหน้าหอศิลป์เมืองแพร่ แยกประตูชัย ทุกเย็นวันศุกร์ ตั้งแต่ 17.00-21.00 น.

กราบพระธาตุช่อแฮ ศูนย์รวมใจที่เป็นดั่งองค์ปูมประวัติเมืองแพร่ ซึ่งปัจจุบันท่านพระโกศัยเจติยารักษ์ เป็นเจ้าอาวาส ดังคณะเราร่วมกราบนมัสการก่อนกลับพร้อมถวายบทกวีบูชาองค์พระธาตุช่อแฮ

ด้วยดั่งนี้แลนา

พระธาตุช่อแฮ

เปลวทอง พระธาตุปลั่ง

กระทั่งปลายประกายทอง

ช่อไม้ละไมมอง

ละเมอทิพย์พระธัมมา

เหลี่ยมรับระดับลด

ระชดช้อยขึ้นบูชา

ธาตุเกศพระเกศา

อันสถิต พระสัทธรรม

โพธิ์คำ พระทองขาน

คือแผ่นคำ ผคมคำ

กลีบแก้วจงกลกรรม

อันเหนือกรรมอยู่ไกวัล

พลิ้วพลิ้ว พนมแพร

คือช่อแฮ ระเหิดหัน

รับธาตุมณเฑียรธรรม์

ณ แพร่แพร่ พระธรรมเสถียร ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์