“กนกรัตน์ เลิศชูสกุล” : เด็กๆ กลัวว่าเขาจะเป็น “เหยื่อ” รายต่อไป

“ดิฉันคิดว่าเราต้องถามว่า คนที่เป็นคนเดือนตุลาในปัจจุบันมีเด็กกี่คนที่รู้จัก? คนรุ่นดิฉัน ดิฉันไม่อยากจะพูดนะ ดิฉันมีรูปคุณเสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) คุณจิระนันท์ (พิตรปรีชา) อาจารย์ธีรยุทธ (บุญมี) พกอยู่ในกระเป๋าเลยนะตอนอยู่ปริญญาตรี ตัดรูปแล้วพกในกระเป๋าเลย

“รู้สึกแบบเฮ้ย! เราอยากเป็นแบบคนพวกนี้ มันคือพลัง แต่ดิฉันถามว่าคนรุ่นนี้รู้จักชื่อคนเดือนตุลากี่คน?…

“เสกสรรค์ จิระนันท์ ดิฉันคิดว่าเขาก็ไม่รู้จักว่าคือใคร คุณจิระนันท์เนี่ยน่าจะเป็นแขกรับเชิญในรายการ “เที่ยวเถื่อน” (เถื่อน Travel) ของคุณวรรณสิงห์ เด็กน่าจะเห็นภาพตอนไปฟิจิ แล้วยืนลิ้นแฮกๆๆๆ แบบว่าเดินขึ้นเขาไม่ไหว นั่นเป็นภาพจำของเด็กสมัยนี้

“คุณเสกสรรค์นี่ดิฉันคิดว่าแบบเด็กไม่รู้จักด้วยซ้ำ รู้จักวรรณสิงห์ก่อนรู้จักเสกสรรค์ และ point of reference (จุดอ้างอิง) ไม่ใช่ point ว่าคนเดือนตุลาที่เป็นพ่อของคุณวรรณสิงห์ เขาเป็น point of reference ว่าอ๋อ วรรณสิงห์มีพ่อที่เป็นคนเดือนตุลาหรอ?

“คือภาพจำมันไม่ใช่วีรบุรุษคนเดือนตุลา คนเดือนตุลาคือเหยื่อ คนเดือนตุลาคือผู้สูญเสีย คนเดือนตุลาคือคนแบบเขาที่ไม่มีชื่อ ไม่มีตัวตน ไม่ได้ถูกจำ ไม่ได้ถูกนับในประวัติศาสตร์ นั่นคือสิ่งที่เขาจำ”

6ตุลาคม 2563 ทีมข่าวมติชนทีวีไปพูดคุยกับ “ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในประเด็นว่าด้วยความทรงจำเกี่ยวกับการเมืองเดือนตุลา ณ บริบทปัจจุบัน

ในฐานะที่อาจารย์กนกรัตน์คือเจ้าของหนังสือเรื่อง “Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand : The Power and Conflict Among Former Left Wing Student Activists in Thai Politics” ซึ่งพัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของผู้เขียน

ขณะเดียวกันอาจารย์กนกรัตน์ก็เป็นนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ไม่กี่คนในประเทศนี้ ที่ออกตระเวนสัมภาษณ์เยาวชนยุคใหม่ซึ่งกำลังลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนอย่างเข้มข้นจริงจัง

บทสนทนาเรื่องสถานะวีรบุรุษ-สตรีของ “คน 14 ตุลา” ที่หายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญสองด้านดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

เกือบห้าทศวรรษผ่านไป อาจารย์กนกรัตน์จำแนกเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “คนเดือนตุลา” ในสังคมไทยออกเป็น 3 ชุด

“ชุดแรกก็คือชุดที่เราโตมา คือชุดที่คนเดือนตุลามีความหมายเท่ากับ 14 ตุลา คือชัยชนะของพลังนิสิต-นักศึกษา คือแรงบันดาลใจ คนเดือนตุลาอยู่ในทุกที่ ดูเป็นคนก้าวหน้า ทั้งพรรคการเมือง ทั้งในเอ็นจีโอที่ผลักดันประเด็นเรื่องที่ก้าวหน้า สิ่งแวดล้อม สิทธิของคนที่ด้อยโอกาส เขาเป็นนักวิชาการที่น่าสนุกน่าตื่นเต้นน่าติดตาม

“แต่พอถึงชุดที่สอง มันเป็นเรื่องเล่าที่คนพูดถึงขบวนการในมุมที่แตกต่าง คือความขัดแย้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง คนเดือนตุลากลายเป็นสัญลักษณ์ของความย้อนแย้ง

“มันเป็นสัญลักษณ์ของการที่คนที่เคยสนใจประวัติศาสตร์ไทยสนใจการเมืองไทย ลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า เฮ้ย! ไอ้พลังที่เคยถูกเชื่อว่าคนเดือนตุลาคือพลังของการเปลี่ยนแปลง พลังประชาธิปไตย ทำไมพวกเขาถึงขัดแย้ง ย้อนแย้ง สนับสนุนพลังที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยด้วย-พลังอนุรักษนิยม มันจึงกลายเป็นอีกหนึ่งชุดการเล่าการพูดถึงความหมายของคนเดือนตุลา

“ชุดสุดท้ายคือชุดของคนรุ่นนี้ สำหรับคนเดือนตุลาของคนรุ่นนี้ ความหมายมันแตกต่างจากเดิมมาก สำหรับคนรุ่นนี้ การพูดถึงคนเดือนตุลาของเขาคือ “เหยื่อ” ความพ่ายแพ้ การถูกกระทำโดยรัฐ ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่จุดให้คนรุ่นนี้หันมาสนใจการเมือง มันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่ง”

“เรื่องเล่าคนเดือนตุลา 3 ชุด” นั้นล้อไปกับ “ประวัติศาสตร์เดือนตุลา 3 แบบ” ดังที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้นี้อธิบายโดยละเอียดว่า

“ชุดแรกคือประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยคนตุลาเอง ประวัติศาสตร์ชุดนี้ถึงแม้ว่าจะมีการถกเถียงมีการต่อสู้หลากหลายชุด แต่ท้ายที่สุด ชุดที่มันครอบงำประวัติศาสตร์เรื่องเล่าที่เขียนโดยคนตุลาคือประวัติศาสตร์ที่ดิฉันคิดว่า (อธิบาย) สั้นง่ายๆ ได้ใจความก็คือ “ประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่” ผู้บริสุทธิ์ ที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกัน ประชาธิปไตย และต่อสู้กับความอยุติธรรม

“นี่คือภาพข้อสรุปที่เป็นประวัติศาสตร์ของคนเดือนตุลาที่คนเดือนตุลาเขียน

“ชุดที่สองคือชุดที่เขียนโดยคนหลังยุคเดือนตุลา คนรุ่นนี้เติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปของคนเดือนตุลา บทบาทของคนเดือนตุลาที่ย้อนแย้งในช่วงการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง คนอีกรุ่นหนึ่งก็จะเขียนประวัติศาสตร์เดือนตุลาผ่านการตั้งคำถาม เขาพยายามรื้อถอน เขาพยายามสร้างใหม่ เขาพยายามวิพากษ์ต่อประวัติศาสตร์เดือนตุลา ในแบบที่คนเดือนตุลาอาจจะไม่พอใจ

“ในแง่หนึ่งในแง่วิชาการมันก็ดีนะคะ มันก็ดี มันก็ทำให้เราทำการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็อาจจะเป็นการปะทะที่เจ็บปวดของระหว่างคนที่คาดหวังกับคนเดือนตุลาในยุคหลังตุลากับคนเดือนตุลาเอง ที่สำหรับเขา ที่ยืนในสังคมนี้มันก็น้อยมาก สำหรับประวัติศาสตร์ของผู้แพ้ สำหรับประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายที่อกหัก สำหรับคนเดือนตุลาที่ไม่มีที่ยืน

“ดังนั้น เลยคิดว่าการที่จะพูดถึงประวัติศาสตร์เดือนตุลามันมีมิติเยอะมาก ที่เราจะต้องทำความเข้าใจ มันไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายที่รื้อถอนรื้อสร้างจะบอกว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าสิ่งที่คนเดือนตุลาเขียน (เราควรมี) ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ มันจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าการเติบโตขึ้นและพลวัตของประวัติศาสตร์เดือนตุลา มันปะทะสังสรรค์กับคนหลากหลายกลุ่มมาก”

แต่ไฮไลต์สำคัญที่สุดในมุมมองของอาจารย์กนกรัตน์ก็คือ “ประวัติศาสตร์เดือนตุลา” ชุดล่าสุด ซึ่งกำลังทำงานของมันอย่างน่าตื่นเต้น

“นี่ยังไม่นับถึงประวัติศาสตร์ชุดที่สามที่ดิฉันคิดว่าน่าสนใจมากคือประวัติศาสตร์เดือนตุลาของคนรุ่นนี้ ของคนที่อยู่บนท้องถนนตอนนี้ ดิฉันคิดว่าประวัติศาสตร์เดือนตุลาของคนรุ่นนี้ ภาพจำของเดือนตุลามันไม่ใช่ภาพจำของคนรุ่นก่อนหน้านี้

“อาจารย์ธำรงศักดิ์ (เพชรเลิศอนันต์) เคยทำงานวิจัยไว้ชิ้นหนึ่ง สำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ในยุคเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ว่าประวัติศาสตร์เดือนตุลาสำหรับเขา เขาเข้าใจอย่างไร? น่าสนใจก็คือว่า คนส่วนใหญ่ พูดง่ายๆ ก็คือรุ่นดิฉัน แยกไม่ออกระหว่าง 14 ตุลา กับ 6 ตุลา จะมีนวัตกรรมใหม่คือ “16 ตุลา” อยู่ตลอดเวลา จะมีเรื่อง 16 ตุลา

“แต่จากที่ดิฉันพูดคุยกับเด็กร้อยกว่าคน เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 6 ตุลา ดิฉันบอกเลยว่าเขาแยกออกทันทีว่า 14 ตุลาคือชัยชนะของนักศึกษา 6 ตุลาคือการล้อมปราบ เป็นความพ่ายแพ้ เมื่อมันเป็นอย่างนี้ปุ๊บ มันมาถึงคำถามว่าแล้วเขาเชื่อมโยงตัวเองอย่างไรกับประวัติศาสตร์ชุดนี้

“เขามองประวัติศาสตร์แตกต่างกับยุคดิฉันนะคะ ชัยชนะของคนเดือนตุลาใน 14 ตุลา สำหรับเขามันไม่เรียกว่าชัยชนะ มีเด็กหลายคนถามดิฉันว่าชนะได้อย่างไร? อีกสามปีก็ถูกฆ่า อีกสามปีก็ถูกล้อมปราบ ไอ้แค่เปลี่ยนรัฐบาลเปลี่ยนผู้นำมันไม่ใช่ชัยชนะ

“สำหรับคนรุ่นนี้ 14 ตุลามันจึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของชัยชนะ มันเป็นเพียงฉากหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่จะก้าวต่อไปถึงประวัติศาสตร์ที่นิสิต-นักศึกษาถูกปราบปราม

“ในยุคของดิฉัน ภาพของนิสิต-นักศึกษา ประวัติศาสตร์เรื่องเล่ามันคือคนที่เป็นอภิสิทธิ์ชน มีการศึกษาสูงกว่าคนอื่น เป็นอภิสิทธิ์ชนที่มีบทบาททางการเมืองอย่างกว้างขวาง

“แต่สำหรับคนรุ่นนี้เขาไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเขาเองกับคน 14 ตุลาได้ เขาคือคนที่ไม่มีพื้นที่ในสังคม เขาไม่ได้เป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ชน การจบปริญญาตรีไม่การันตีอะไรเลยถึงอนาคตและสถานภาพของคนรุ่นนี้ ไม่เหมือนคนรุ่น 14 ตุลา

“สำหรับเขา ภาพจำของเขาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตุลามันคือภาพ 6 ตุลาเพราะอะไร? คนรุ่นนี้ถกเถียงทุกเรื่อง ในครอบครัวเถียงกันเอาเป็นเอาตาย กับเพื่อนก็เถียงกัน การถกเถียงของความคิดที่แตกต่างทางการเมืองไม่เคยนำไปสู่ความรุนแรง ภาพการฆ่านิสิต-นักศึกษา ภาพของคนที่ยืนล้อมนักศึกษาที่ถูกแขวนคอ.oสนามหลวงที่หัวเราะ เด็กพวกนี้ช็อกมากนะคะ

“เด็กส่วนใหญ่ที่ดิฉันคุยด้วย (เมื่อ) ถาม (เขา) ว่าอะไรคือความจำของ 6 ตุลา 14 ตุลา เขาบอกว่าคือภาพที่นักศึกษาถูกแขวนคอ ดิฉันตกใจมากเพราะมันเกี่ยวอะไรกับพวกคุณ? เด็กบอกว่าเขาไม่เข้าใจว่าแค่คิดต่าง เราต้องฆ่ากันเลยเหรอ?

“คือสำหรับเด็กรุ่นนี้คือช็อก และเด็กก็จะเล่าต่อถึงประวัติศาสตร์ปี 2553 เขาเชื่อมโยง 6 ตุลากับปี 2553 คือเขาบอกว่าแล้วเขาจะเป็นคนต่อไปไหม? เพราะเด็กพวกนี้รู้ว่าตัวเองคิดต่างจากผู้ใหญ่ คิดต่างจากชุดความคิดของรัฐ คิดต่างจากแบบเรียนในโรงเรียน คือเขากลัวมากว่าเขาจะเป็นเหยื่อรายต่อไป

“เขากลัวมากว่าเขาจะต้องเป็นสิ่งที่เขาเห็นในประวัติศาสตร์ 6 ตุลา”