ย้อนพิเคราะห์ “ลิฟท์แดง” “หนังสยองขวัญ 6 ตุลา” ต้นทศวรรษ 2550 | คนมองหนัง

คนมองหนัง

“ลิฟท์แดง” คือหนังสั้นตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “มหา”ลัยสยองขวัญ” ของสองผู้กำกับฯ “บรรจง สินธนมงคลกุล” และ “สุทธิพร ทับทิม”

ด้านหนึ่ง “ลิฟท์แดง” เป็นหนังไทยที่กล่าวถึง “เรื่องเล่า” ของ “การเมืองเดือนตุลา” รุ่นเดียวกับ “October Sonata รักที่รอคอย” ซึ่งคอลัมน์นี้เพิ่งแนะนำไปเมื่อสัปดาห์ก่อน (ทั้งสองเรื่องเข้าฉายในปี 2552 เหมือนกัน)

อีกด้านหนึ่ง นี่ก็เป็นหนังไทยที่หยิบยืมเอาบริบท “การเมืองเดือนตุลาคม” มาใส่เป็นฉากหลังในภาพยนตร์แนวผี-สยองขวัญ เช่นเดียวกับ “โคลิค เด็กเห็นผี” (2549) ซึ่งอ้างอิงเหตุการณ์ 14 ตุลา

และ “เชือดก่อนชิม” (2552) ที่อ้างอิงเหตุการณ์ 6 ตุลา

ลักษณะเด่นประการสำคัญของหนังผี-สยองขวัญไทยที่ยึดโยงตัวเองเข้ากับ “เรื่องเล่าเดือนตุลา” ก็คือ การมุ่งเน้นเรื่องราวไปยังเหตุการณ์ความรุนแรงนองเลือด ทั้งโดยการอ้างอิงภาพเหตุการณ์ปราบปราม-สังหารหมู่อันโหดเหี้ยมที่เคยเกิดขึ้นจริง, ภาพจำลองของเหตุการณ์ประเภทแรก และภาพจินตนาการในเชิงอุปมาเปรียบเทียบ

สำหรับหนังเหล่านี้ การรำลึกถึง 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา จึงมีแก่นสารหลักอยู่ตรงประเด็นเรื่องความรุนแรงและความโหดเหี้ยมที่น่าสยดสยอง

หากมองจากหน้าหนัง “ลิฟท์แดง” ก็คล้ายจะเดินตามแนวทางดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาที่เนื้อหา หนังสั้นตอนนี้กลับมิได้มุ่งซัดกระหน่ำความรุนแรงใส่คนดู ทว่าพยายามตั้งคำถาม/สร้างสถานการณ์สมมติบางข้อ ที่จะนำพาผู้ชมไปสู่ความเป็นไปได้ชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากการนั่งมองเหตุการณ์นองเลือดตรงหน้าจอภาพยนตร์

“ลิฟท์แดง” ตั้งคำถามอย่างน่าสนใจและท้าทายว่า ถ้าหากตัวละคร “หลานสาว” ของผู้มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อเหตุสังหารหมู่นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้เข้ามาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอีกหลายทศวรรษให้หลัง แล้วเธอต้องเผชิญหน้ากับ “ผีนักศึกษา” ที่ถูกเข่นฆ่าในช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เรื่องราวดังกล่าวจะคลี่คลายไปในลักษณะเช่นไร?

ในหนังสั้นแนวผี-สยองขวัญเรื่องนี้ ผีนักศึกษาผู้ชายตนนั้นได้คอยเดินติดตามตัวละครนำหญิงไปแทบทุกหนแห่งของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน นางเอกก็ยังถูกนักศึกษารุ่นพี่อีกรายหนึ่งคอยด่าทอทวงถามความรับผิดชอบจากคุณปู่ของเธอด้วยอารมณ์ดุเดือดเลือดพล่าน

ตัวละครหญิงพยายามยืนกรานตอบโต้-ชี้แจงรุ่นพี่ผู้นั้นว่า ปู่เธอไม่ได้กระทำความผิด, เรื่องในอดีตเป็นเพียงความแตกต่างทางอุดมการณ์ เรื่อยไปจนถึงการตั้งคำถามย้อนกลับว่านักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำทุกอย่างถูกต้องทั้งหมดจริงหรือ?

แล้วอารมณ์ของหนังก็พลันผันเปลี่ยน เมื่อตัวละครหลักมีโอกาสเดินเข้าไปใน “ลิฟท์แดง”

ฉากที่ผู้ชมหลายคนคาดหวังกันว่าจะมีเหตุการณ์สุดสยองขวัญอุบัติขึ้น กลับไม่ได้มีความรุนแรงโชกเลือดหลอกหลอนใดๆ บังเกิดขึ้นมากนัก

แต่สิ่งที่ตัวละครหญิงผู้เป็นทายาทของผู้ร่วมกระทำผิดในกรณี 6 ตุลา ได้ประจักษ์/สัมผัสในลิฟท์ผีสิงก็คืออารมณ์ความรู้สึกของรุ่นพี่ที่ต้องพลัดพรากตายจากกันในเหตุการณ์การสังหารหมู่ทางการเมืองอันโหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

เพราะแท้จริงแล้ว ผีนักศึกษาผู้ชายรุ่นพี่ที่คอยติดตามนางเอกไปแทบทุกหนแห่งในมหาวิทยาลัยนั้น ก็คือดวงวิญญาณที่ยังเฝ้ารอคอยผีนักศึกษาหญิงคนรักของตนเอง ซึ่งถูกสังหารอยู่ภายในลิฟท์แดง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

มรดกตกค้างจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ใน “ลิฟท์แดง” จึงอาจเป็นเรื่องราวของความรู้สึกแห่งการพลัดพรากสูญเสีย มากกว่าความรุนแรงนองเลือดหรือไล่ล่าล้างแค้น

ภารกิจสุดท้ายที่ตัวละครหลานสาวของผู้มีส่วนกระทำความผิดในกรณี 6 ตุลา ต้องร่วมชดใช้-รับผิดชอบ ก็คือการพยายามทำความเข้าอกเข้าใจถึงความรู้สึกพลัดพรากสูญเสีย/ประวัติศาสตร์บาดแผล (สด) ซึ่งยังคงดำรงอยู่ในสังคม และการหาหนทางให้วิญญาณ 2 ดวง ได้หวนกลับมาพบกันอีกครั้ง

นี่เป็นภารกิจที่ตัดข้ามเจเนอเรชั่น ไชชอนลัดเลาะข้ามฝักฝ่ายกลุ่มก้อนทางการเมือง และก้าวข้ามความรุนแรงใดๆ

กระนั้นก็ตาม การเสียชีวิตลงอย่างคาดไม่ถึงของนางเอกเพราะ “อุบัติเหตุ” เบื้องหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ณ ตอนจบของภาพยนตร์ ก็อาจบ่งชี้ว่าความรุนแรงยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

แม้มันจะเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาในอุดมคติ ความคิด ความเชื่อ ความใฝ่ฝัน ของบรรดาคนรุ่นหลัง ซึ่งกำลังลงมือปฏิบัติภารกิจทางการเมืองครั้งใหม่โดยสันติ