บทเรียนจากชายแดนภาคใต้ “กฎหมายพิเศษ” ไม่ใช่ทางออกวิกฤตการเมือง กทม.

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทำให้นายกฯ มีอำนาจในการออกประกาศและข้อกำหนดเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ซึ่งมีทั้งข้อห้ามและอำนาจจัดการ

เช่น

อำนาจจับกุมและควบคุมตัวไม่เกิน 7 วัน (สูงสุด 30 วัน) บุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

อำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวเพื่อให้ถ้อยคำ เอกสาร หรือหลักฐาน

อำนาจยึดหรืออายัดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร อาวุธ สินค้า หรือวัตถุอื่นใด

อำนาจตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง

อำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลกระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดๆ

อำนาจเหล่านี้มีบทเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากมายตลอด 16 ปี ของการประกาศใช้ยิ่งจะเอื้อให้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนจนปัญหาไม่จบทุกวันนี้

เช่น มีการถ่ายบัตรประชาชน คุกคามพ่อ-แม่และญาติของผู้ต้องสงสัย มีการจับกุมมากมายที่รัฐทำผิดกฎหมายเสียเอง เช่น #ชายฉกรรจ์นับ 10 คน ขับรถ 5-6 คันไล่ตาม แล้ววิ่งรถตัดหน้าลงมาทุบกระจกรถเขาแตก (โปรดดูรายละเอียด https://www.facebook.com/611804345/posts/10158612494489346/?extid=0&d=n)

จึงไม่แปลกที่หลายองค์กรทั่วประเทศไทยแม้แต่ชายแดนภาคใต้ออกมาคัดค้านไม่ว่าสภาประชาสังคมชายแดนและ CAP หรือสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี เพราะเครือข่ายประชาสังคมเหล่านี้ทราบดีว่าบทเรียนกฎหมายพิเศษตลอด 16 ปีของไฟใต้ไม่ใช่ทางออก

ในรายงานของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ทำงานส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) มากว่า 10 ปี ร่วมกับเครือข่ายสิทธิมนุษยชนชายแดนภาคใต้/ปาตานี และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากฎหมายพิเศษ พบว่า นับแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส ในปี 2547 เป็นต้นมา ประชาชนทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธจำนวนมาก ได้ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงตลอดมา จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน…

ในรายงานได้สะท้อนอีกว่า การประกาศกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ภายใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขัง ผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบได้อย่างกว้างขวาง โดยขาดการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักนิติธรรมที่กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลไม่สามารถปกป้อง คุ้มครอง สิทธิมนุษยชนอย่างได้ผล

หรือในบางกรณีองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมกลับเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง เช่น การซ้อมทรมานระหว่างการจับกุมและการควบคุมตัว การห้ามเยี่ยม ห้ามพบและปรึกษาทนายความ

การใช้คำรับสารภาพที่ได้จากการซักถามผู้ที่ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ มาใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี

การออกหมายจับหรือหมาย ฉฉ. โดยปราศจากพยานอันเพียงพอ

การตั้งข้อหาหนักเกินกว่าพฤติกรรมของการกระทำผิด และการห้ามประกันตัวในระหว่างการพิจารณา ทั้งในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา การอายัดตัวซ้ำซาก

สิ่งเหล่านี้ยิ่งเพิ่มให้ประชาชนขาดความไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เคียดแค้นและเอาใจออกห่างจากรัฐในที่สุด

สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร แม้เราจะเห็นที่กรุงเทพมหานครยังดีที่ผู้ถูกจับกุมได้พบทนายและได้ประกันตัว ต่างจากจังหวัดชายแดนภาคใต้

ไม่เพียงเท่านั้น กฎหมายพิเศษที่ใช้ขาดการตรวจสอบจึงเอื้อให้เจ้าหน้าที่ทำผิดโดยไม่ถูกลงโทษทั้งๆ กระบวนการยุติธรรมจะต้องมีบทบาทในการให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย สามารถตรวจสอบถ่วงดุลอย่างโปร่งใสได้

ในขณะเดียวกันด้วยความขัดแย้งอย่างนี้ทำให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งสร้างความแตกแตก ความเกลียดชังโดยเข้าไปมีส่วนร่วม สนับสนุน โฆษณา ชี้นำ ทั้งในทางตรงและทางอ้อมในความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวพุทธและชาวมุสลิม รวมทั้งการฝึกอาวุธให้ประชาชนและปฏิบัติการด้านการปล่อยข่าวเท็จ และการป้ายสี สร้างมลทิน (Information Operation – IO) ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่บางคน จากหน่วยงานด้านความมั่นคงบางแห่ง โดยใช้งบประมาณภาษีของประชาชนตามที่เราทราบในสื่อและอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร

การสร้างความเกลียดชังคนสองฝ่ายกำลังเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร และเริ่มปะทะกระทบกระทั่งบ้างแล้ว ส่วนวาจาไม่ต้องพูดถึง ในโลกโซเชียลเต็มไปด้วยการอาฆาตมาดร้าย

เมื่อกฎหมายพิเศษไม่ใช่ทางออกวิกฤตการเมือง กทม. และบทเรียนจากชายแดนภาคใต้ตลอด 16 ปีเห็นแล้วเชิงประจักษ์จึงไม่แปลกที่หลากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในการหยุดยั้งผู้เห็นต่างทางการเมืองทุกกลุ่ม

ในสถานการณ์ที่รัฐสภาไม่สามารถเป็นตัวแทนประชาชนได้ จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้แสดงออก รัฐบาลควรเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ใส่ใจในข้อเรียกร้องของขบวนการเยาวชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันหาทางออกเพื่อให้สังคมไทยก้าวพ้นวิกฤตการเมืองครั้งนี้โดยไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ทุกฝ่าย

รวมทั้งรีบเปิดสภาวิสามัญ แก้วิกฤตการเมือง