วิเคราะห์ | “บิ๊กตู่” คลำทางลงวิกฤตม็อบ ยอมถอย? เปิดประชุมวิสามัญ ไม่ยอมลงหลังเสือ ไม่ลาออก

รัฐบาล โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับข้อเสนอจากฝ่ายนิติบัญญัติสำหรับแนวทางการหาทางออกของสถานการณ์การชุมนุมที่กำลังลุกลามไปทั่วประเทศ

เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หลังจากที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองและตัวแทนฝ่ายต่างๆ อาทิ คณะรัฐมนตรี (ครม.) วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้านมาหารือ กระทั่งมีมติร่วมกัน 2 ข้อ

เป็น 2 ข้อที่นายชวนได้ลงนามในหนังสือคำสั่งด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/10188 ถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อระบุแนวทางการแก้ไขวิกฤตร่วมกันตามกรอบอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตามที่บรรดาพรรคการเมืองได้ร่วมหารือ

ข้อแรก ครม.ควรมีมติเห็นชอบในการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสอภิปรายแสดงความคิดเห็นและชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และลดปัญหาข้อขัดแย้ง

ข้อสอง ครม.สมควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก ส.ส. และ ส.ว. โดยขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของสมาชิกรัฐสภาตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า ไม่มีใครกดดัน เป็นความคิดของรัฐบาลอยู่แล้ว โดยรัฐบาลจะประนีประนอมให้มากที่สุด

“รัฐบาลสนับสนุนการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้มีการพิจารณาร่วมกัน นำข้อเท็จจริงมาพูดจากัน ดีกว่าให้เป็นเรื่องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว เพื่อลดความขัดแย้งลงไปให้ได้มากที่สุด และยิ่งวันนี้ปัญหาประเทศไทยมีอยู่หลายประการด้วยกัน รัฐบาลจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องเหล่านี้ และยินดีที่จะใช้กลไกรัฐสภา” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้นำเข้าที่ประชุม ครม. มีมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมาทันที

โดยมีรายงานข่าวระบุว่า จะเปิดประชุมในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ เพื่ออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเท่านั้น ยังไม่ใช่การพิจารณารับหลักการในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงสนับสนุนให้รัฐสภาเป็นเวทีสำหรับหาทางออกให้กับวิกฤตของประเทศในขณะนี้จากทุกฝ่ายก็จริง

แต่เสียงอันเป็นคำถามที่น่าสนใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามในการผลักดันให้มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญก็มีขึ้นเช่นกันว่า ช้าเกินไปหรือไม่?

ทันที่จะดับไฟ หรือลดกระแสที่กำลังลามทุ่งอยู่ในขณะนี้หรือเปล่า?

ต้องยอมรับว่า สาเหตุที่ทำให้การชุมนุม นับตั้งแต่เป็น “เยาวชนปลดแอก-ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เรื่อยมาเป็น “ประชาชนปลดแอก” ก่อนรวมกันเป็น “คณะราษฎร” กระทั่งยกระดับเป็น “ราษฎร” ชุมนุมกันแบบดาวกระจายทั่วประเทศที่ทุกคนเป็นแกนนำ สามารถชุมนุมติดต่อกันได้จนถึงขณะนี้ รัฐบาลกับรัฐสภาถือว่ามีส่วนสำคัญทำให้เกิดขึ้น

เพราะหากพิจารณาจาก 3 ข้อเรียกร้อง ที่พัฒนามาจาก 3 ข้อเรียกร้องเดิมนั้น ในจำนวนนี้มี 2 ข้อถือว่าเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล รวมถึงรัฐสภาโดยตรง

ทั้งการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามร่างที่ประชาชนเข้าชื่อร่วมกันกว่า 1 แสนชื่อ เสนอให้รัฐสภาพิจารณารับหลักการ

แน่นอนว่าตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสที่จะถอนฟืนออกจากกองไฟได้ รับบางข้อเรียกร้องได้หลายต่อหลายครั้ง

แม้จะมีความพยายามจากพรรคร่วมรัฐบาลในการถอนฟืนออกจากกองไฟ ในการผลักดันให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้น กระทั่งพรรคพลังประชารัฐ แกนนำพรรครัฐบาล ยอมเป็นผู้เสนอญัตติแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.ร.) ขึ้นมา

ประสานเข้ากับอีก 4 ญัตติรายมาตราของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

กระทั่งผลักดันให้เข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เมื่อวันที่ 24 กันยายน ในช่วงท้ายสมัยประชุมที่ผ่านมา

แต่เหตุการณ์ที่เรียกว่า “ค่ำคืนหลอกลวง” ก็เกิดขึ้น

เมื่อ 250 ส.ว.ที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง กับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เล่นเกม “ลองของ” ขอยื้อ เตะถ่วงให้ที่ประชุมรัฐสภายังไม่รับหลักการ

ด้วยการเสนอตั้ง กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ ดึงเวลาออกไปอีก 30 วัน หวังพลิ้ว หากกระแสม็อบลดลง

แต่ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นอย่างที่เห็น

เกมเสี่ยงที่รัฐบาลเลือกเล่น กลับกลายเป็นการเติมเชื้อฟืน

ยิ่งเมื่อประสานเข้ากับการตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม. เพื่อทำให้การชุมนุมตามรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ก่อนที่จะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ด้วยรถควบคุมฝูงชน ฉีดน้ำสีฟ้าแรงดันสูง ที่แยกปทุมวัน ย่านสยามสแควร์ กลางใจเมืองกรุง ยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณของม็อบลุกลามจนขยายวงออกไปทั่วประเทศ

กระทั่งปรากฏเป็นภาพข่าวที่ทั่วโลกให้ความสนใจถึงสถานการณ์การชุมนุมภายในประเทศไทย

จนวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมให้เปิดประชุมสภาได้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอแล้วเสนออีกในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจากนี้ คงทำได้เพียงแค่การบรรเทาสถานการณ์เท่านั้น

เพราะต้องยอมรับว่า ความไม่จริงใจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เสียงตะโกน “ตู่ออกไปๆ” ดังกระหึ่มขึ้นแล้วทั่วประเทศ

อย่างที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน ระบุ

“ทางออกดีที่สุดเวลานี้คือนายกรัฐมนตรีต้องถอดสลักโดยการลาออก ไม่ต้องยุบสภา หรือพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยอาจจะช่วยถอดสลักตรงนี้ก็ได้”

แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นไปได้ยากมาก หากพิจารณาคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยืนยันว่า จะไม่ลาออก ประกอบกับตามกติกาของรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์ไว้สำหรับให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งโดยเฉพาะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ช่องทางออกก็ไม่ได้ปิดโอกาสซะทีเดียว

เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงในระบบ ไม่ใช่การรัฐประหาร โดย พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจดับชนวนด้วยการลาออกตามเงื่อนไขเรียกร้องของผู้ชุมนุม

รัฐสภายังสามารถเลือก 6 แคนดิเดตนายกฯ ตามบัญชีที่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.เกิน 25 คนเสนอได้อยู่

โดยนอกจาก พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ยังมีแคนดิเดตนายกฯ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 คน

ไม่ว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากประชาธิปัตย์

พร้อมๆ กับอีก 3 แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย

ทั้ง “เจ๊หน่อย” น.ส.สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ทั้งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รวมไปถึงชัยเกษม นิติสิริ

แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แต่รัฐสภาดันเลือกก๊อกที่สอง เฟ้นนายกฯ คนนอกบัญชี ตามมาตรา 272 ของบทเฉพาะกาล โดยใช้เสียง 250 ส.ว.โหวต แบบไม่เห็นหัวประชาชน

ยืนยันกติกา อันเป็นข้อครหาสืบทอดอำนาจอีกครั้ง

ถึงวันนั้นผลร้ายจากการ “กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด” จะวนเวียนกลับมาไม่รู้จบแน่นอน