Do You Hear? (the people sing)

ประดาบก็เลือดเดือด สำหรับคณะราษฎรที่ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาคม 2563 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เป้าหมายยกระดับกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำตาม 3 ข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุม

ทำให้สถานการณ์การเมืองไทยตลอดเดือนตุลาคม เป็นที่จับตาของประชาชนในประเทศและต่างประเทศ

สัญญาณความดุเดือดเริ่มขึ้นเมื่อนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน แกนนำคณะราษฎรอีสาน และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ The Bottom Blues นักร้องชื่อดัง นำผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งยึดพื้นที่รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 13 ตุลาคม ก่อนชุมนุมใหญ่คณะราษฎร 1 วัน

ตำรวจต้องรีบนำกำลังเข้าขอคืนพื้นที่ทันที เนื่องจากวันนั้นมีหมายกำหนดการขบวนเสด็จพระราชดำเนินผ่านบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยช่วงเย็น

เจ้าหน้าที่ฝ่าวงล้อมเข้าจับกุมตัวไผ่ ดาวดิน รวมทั้งแอมมี่ และผู้ชุมนุมรวมทั้งหมด 19 คนไปดำเนินคดี

ทำให้เย็นวันนั้นนายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร ประกาศนัดชุมนุมด่วนหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ

ก่อนที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นำขบวนเคลื่อนไปปิดถนนหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กดดันให้ปล่อยตัวแกนนำและผู้ชุมนุมทั้ง 19 คน แต่ไม่เป็นผล จึงแยกย้ายกลับไปเตรียมตัวสำหรับการชุมนุมใหญ่วันรุ่งขึ้น

การจับไผ่ ดาวดิน ไม่ต่างจากการสาดน้ำมันใส่กองไฟ ส่งผลให้อุณหภูมิการเมืองบนท้องถนนวันที่ 14 ตุลาคม ร้อนระอุมากขึ้น

ทนายอานนท์นำกลุ่มมวลชนเข้ายึดพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม กดดันรัฐบาลทำตามเสียงเรียกร้องของผู้ชุมนุม 3 ข้อหลัก และให้ปล่อยตัวไผ่ ดาวดิน กับผู้ถูกจับกุมทั้งหมด

ห้วงเวลาเดียวกันมีกลุ่มประชาชนสวมใส่เสื้อเหลืองมารอเฝ้าฯ รับเสด็จตลอดถนนราชดำเนิน ทั้งกลุ่ม นพ.เหรียญทอง แน่นหนา กลุ่มนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพุทธะอิสระ กลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มไทยภักดีของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

เกิดเหตุกระทบกระทั่งเล็กน้อยระหว่างผู้ชุมนุมคณะราษฎรกับประชาชนเสื้อเหลือง ตำรวจต้องเข้าห้ามปราม แยกสองฝ่ายจากกัน

ช่วงบ่ายวันนั้น ทนายอานนท์นำมวลชนเคลื่อนขบวนไปกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ถึงทำเนียบรัฐบาล ตลอดเส้นทางต้องฝ่ากำลังตำรวจที่ตั้งด่านสกัด แต่ก็สามารถเจรจาผ่านไปได้ ผู้ชุมนุมกระจายกำลังเข้ายึดพื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาล

ช่วงหนึ่งขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีเคลื่อนผ่านมาทางถนนพิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่จำนวนหนึ่ง หลังเหตุการณ์ตอนนั้น นายเอกชัย หงส์กังวาน นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง และนายสุรนาถ แป้นประเสริฐ

ถูกจับกุมดำเนินคดีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 110 ฐานพยายามประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี

ตลอดช่วงดึกคืนวันที่ 14 ต่อเนื่อง 15 ตุลาคม มีกระแสข่าวฝ่ายรัฐเตรียมใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่ปักหลักพักค้างรอบทำเนียบ

ทนายอานนท์เหมือนรู้เหตุการณ์ร้ายล่วงหน้า บอกกล่าวให้มวลชนเดินหน้าสู้ต่อแม้จะไร้ซึ่งแกนนำ พร้อมให้ยุติการชุมนุมเวลา 6 โมงเช้า และนัดรวมตัวกันใหม่บริเวณแยกราชประสงค์เวลา 4 โมงเย็น

แต่ไม่ทันการณ์ ตี 4 วันที่ 15 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ลงนามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ

ระบุถึงการปรากฏบุคคลหลายกลุ่มเชิญชวน ปลุกระดมและชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จ มีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่าเป็นการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ

จากนั้นราวครึ่งชั่วโมง กำลังเจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุม จับกุมแกนนำทั้งนายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และผู้ชุมนุมรวม 22 คน

การเผชิญหน้าใกล้ถึงจุดแตกหัก

ช่วงบ่ายวันที่ 15 ตุลาคม ประชาชนทั่วทุกสารทิศทยอยเข้ายึดพื้นที่แยกราชประสงค์ ตำรวจพยายามเข้าสกัดขัดขวาง แต่ต้านไม่อยู่ ต้องยอมถอยร่น

ประชาชนยังคงเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ไม่สนใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงที่เพิ่งประกาศก่อนหน้าแค่ 12 ชั่วโมง โดยมีนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ที่รอดจากการถูกจับกุมช่วงเช้ามืดเป็นแกนนำหลัก

การชุมนุมวันนั้นยุติเวลา 4 ทุ่ม ไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงเตรียมเอาผิดทุกคนที่เข้าร่วมชุมนุม พร้อมเตือนผู้ “เช็กอิน” หรือ “เซลฟี่” ในม็อบแล้วโพสต์ลงสื่อโซเชียล จะถือว่ามีความผิดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

รวมถึงสื่อที่ไลฟ์สดการชุมนุม ให้ระวังเนื้อหา

16 ตุลาคม กำลังตำรวจหลายร้อยนายตั้งด่านปิดรอบแยกราชประสงค์ หลังมีข่าวผู้ชุมนุมอาจใช้เป็นจุดนัดหมายรวมตัวอีกครั้ง แต่กลายเป็นการ “โดนแกง”

เพจเฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก” ประกาศเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมไปยังแยกปทุมวัน ก่อนมีประชาชนเข้าชุมนุมเต็มพื้นที่ชั่วพริบตา

และแล้วฝ่ายรัฐก็ตัดสินใจผิดพลาดครั้งสำคัญ เมื่อสั่งการตำรวจ ตชด. และตำรวจควบคุมฝูงชน ติดอาวุธโล่และกระบองพร้อมรถฉีดน้ำแรงดันสูง เคลื่อนกำลังเข้าสลายการชุมนุมจนแตกกระเจิง

แกนนำและผู้ชุมนุมโดนจับกุมเพิ่มอีกหลายคน เกิดความระส่ำระสาย ต้องประกาศยุติชุมนุมไปในที่สุด

หลังใช้วิธีรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม ตำรวจโดนวิพากษ์วิจารณ์หนัก โดยเฉพาะการฉีดน้ำผสมสารเคมีสีฟ้าใส่ผู้ชุมนุม คณะบุคลากรทางการแพทย์ 386 คนลงชื่อออกแถลงการณ์ ระบุเป็นมาตรการรุนแรงเกินกว่าเหตุ

จากเหตุการณ์ในวันนั้น หลายคนคิดว่าเมื่อฝ่ายรัฐใช้ “ไม้แข็ง” กลุ่มผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและนักศึกษา ประกอบกับการไร้ซึ่งแกนนำ น่าจะทำให้ม็อบ “ฝ่อ” รวมตัวกันไม่ติด และสลายหายไปในที่สุด

แต่แล้วเหตุการณ์ที่เกิดหลังจากนั้น กลับกลายเป็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่หลายคนรวมถึงรัฐบาลคาดการณ์เอาไว้ พูดง่ายๆ คือคิดผิดนั่นเอง

17 ตุลาคม เกิดม็อบดาวกระจายไปทั่วกรุง ห้าแยกลาดพร้าว แยกอุดมสุข หน้ารามคำแหง และวงเวียนใหญ่ ไมค์ ระยอง ถูกชาร์จจับย่านรามคำแหงหลังยุติการชุมนุม

18 ตุลาคม กลุ่มผู้ชุมนุมไร้แกนนำขับเคลื่อน ประกาศใช้ชื่อใหม่ในนาม “ราษฎร” ภายใต้ความหมาย “ทุกคนคือแกนนำ” นัดรวมตัวครั้งใหญ่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้การชุมนุมทางการเมือง อีกจำนวนหนึ่งชุมนุมแยกอโศกและแยกบางนา

19 ตุลาคม นัดชุมนุมแยกเกษตร หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และสถานีรถไฟฟ้าหน้ากระทรวงสาธารณสุข

20 ตุลาคม ม็อบประกาศบิ๊กเซอร์ไพรส์ ชู 3 นิ้วร้องเพลงชาติ 6 โมงเย็น ตามสถานีรถไฟฟ้าทุกแห่ง จากนั้นแยกย้ายกลับบ้าน พักชุมนุม 1 วัน แต่บางส่วนไม่หยุด ยังไปรวมตัวกันหน้าห้างสรรพสินค้าหลายแห่งใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมือง

21 ตุลาคม กลุ่มคนเสื้อเหลืองเริ่มออกมาต่อต้านกลุ่มราษฎร อ้างเป็นการเคลื่อนไหวปกป้องสถาบัน มาจากการจัดตั้งของใครหรือไม่ ยังไม่มีหลักฐานชัด ขณะที่กลุ่มราษฎรเรือนหมื่นนัดพบกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนเดินเท้าเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล กดดัน พล.อ.ประยุทธ์ลาออก

ผู้ชุมนุมราษฎรสืบทอดเจตนารมณ์คณะราษฎร มาอย่างไม่ขาดหกตกหล่น ทั้งสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว การร่วมกันร้องเพลง “Do you hear the people sing” จากละครเวที-ภาพยนตร์เพลง “เล มิเซราบล์ (Les Miserables)”

สื่อความหมายส่งตรงไปยังผู้นำรัฐบาล

บทสรุปจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง การใช้กำลังรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม และการไล่กวาดจับแกนนำคณะราษฎร

นั่นคือยิ่งทำให้มีผู้ออกมาชุมนุมเพิ่มมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง ลุกลามทั่วประเทศ ภายใต้จุดยืน 3 ข้อเรียกร้องเดิม เพิ่มเติมคือความโกรธแค้นที่แปรเป็นความมุ่งมั่น

กดดันจน พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลต้องยอมถอย 1 ก้าว เห็นชอบให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา 26-27 ตุลาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็น ส.ส. และ ส.ว. หาทางออกจากวิกฤตการณ์

นอกจากนี้ ยังยอมปล่อยตัวแกนนำและผู้ชุมนุมบางคนที่โดนจับกุม เพื่อหวังลดอุณหภูมิให้เบาลง แม้จะลดได้ไม่มากนักก็ตาม

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านยื่นต่อศาลแพ่งให้พิจารณาสั่งยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พร้อมสั่งคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมของประชาชน เช่นเดียวกับที่เคยมีคำสั่งคุ้มครองการชุมนุมกลุ่ม กปปส.

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. ยื่นแถลงการณ์พร้อมรายชื่ออาจารย์ 1,118 คน เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์รับฟังข้อเสนอผู้ชุมนุมราษฎรที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา

อันเป็นการเคลื่อนไหวชุมนุมตามท่วงทำนองเพลง “Do you hear the people sing” ที่ส่งผ่านความหมายไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล ให้เสียสละเพื่อประเทศชาติ

ทั้งนี้ เมื่อเย็นต่อเนื่องถึงค่ำวันที่ 21 ตุลาคม กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเคลื่อนพลไปทำเนียบรัฐบาล โดยสามารถฝ่าด่านตำรวจไปประชิดศูนย์อำนาจรัฐบาล และได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำใบลาออกจำลองขนาดใหญ่ไปให้ พล.อ.ประยุทธ์เซ็นเพื่อลาออก ถือเป็นการรุกคืบอีกขั้น

ความสำคัญอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้ยินหรือไม่?