เชิงบันไดทำเนียบ : 10 ปี จาก ‘ศอฉ.’ ถึง ‘กอร.ฉ.’ ใต้เงา ‘3ป.’

จากเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ของ ‘คณะราษฎร63’ เมื่อ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ทำให้ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตัดสินใจออก ‘ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง’ ในพื้นที่ กทม. ช่วงตี 4 ของวันที่ 15ต.ค. และทำการสลายการชุมนุมรอบ ทำเนียบฯ พร้อมจับกุมแกนนำ
.
แต่เหตุการณ์ชุมนุมผ่านมา 1 สัปดาห์แล้ว ยังไม่ยุติ กลายเป็น ‘แฟลชม็อบ’ ที่ไม่ยืดเยื้อ ไม่ค้างคืน มาเร็ว โยนประเด็น ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการ ‘ดาวกระจาย-คู่ขนาน’ ไปทั่วกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แกนนำผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัว สลับกับมีการปล่อยตัวชั่วคราว
.
ทั้งนี้รัฐบาลได้มีมติประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ 1 เดือน และตั้ง ‘กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง’ หรือ กอร.ฉ. ขึ้นมา โดยมี ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็น ผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และ ‘บิ๊กปั๊ด’พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เป็น หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

ทว่าสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรกลับไม่ลดลง อีกทั้งมีการออกมาของ ‘คนเสื้อเหลือง’ ในพื้นที่ต่างๆด้วย ซึ่งเสี่ยงต่อการ ‘เผชิญหน้า’ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เลือกที่จะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หลังออกแถลงการณ์นายกฯ ที่ขอให้ ‘ถอยคนละก้าว’ ทำให้ ‘กอร.ฉ.’ ต้องยุติลงไปด้วย แต่อีกมุมก็มีการมองว่าการยกเลิกประกาศฯ ก็ทำให้การชุมนุมขอบทั้ง 2 ฝ่ายง่ายขึ้น อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เท่านั้น
.
ทั้งนี้ได้มีการใช้มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ถ.วิภาวดีฯ เป็นวอร์รูมสถานการณ์ โดยมีการประชุมวันละ 2-3 ครั้ง แต่มอนิเตอร์ 24 ชั่วโมง ในช่วงที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยในการประชุมบางครั้งมี ‘บิ๊กป้อม’ นั่งหัวโต๊ะเอง และมี ‘หน่วยความมั่นคง’ เข้าร่วมประชุมครบทุกหน่วยงาน

การตั้ง ‘กอร.ฉ.’ ในการกรำศึกของ ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ หลังเคยกรำศึกร่วมกันเมื่อ 10 ปีก่อน ในการตั้ง ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน’ หรือ ศอฉ. ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มี ‘บิ๊กป้อม’ เป็น รมว.กลาโหม ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขณะนั้นเป็น ผบ.ทบ. ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่ง 5 เสือ ทบ. โดย ศอฉ. มีที่ตั้งใน ร.11 รอ.
.
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป จากม็อบ นปช. – คนเสื้อแดง มาสู่ม็อบ ‘คณะราษฎร63’ ที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็น ‘คนรุ่นใหม่-เยาวชน’ แต่ก็มีเส้นทางเดินเดียวกับ ‘คนเสื้อแดง’ ที่ต่อต้านรัฐประหาร-การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร
.
แม้จะมี ‘วัฒนธรรมทางการเมือง’ ที่แตกต่างกัน แต่คนทั้ง 2 รุ่น ก็เดินร่วมทางกันได้ อีกทั้งข้อเรียกร้องที่ ‘ทะลุเพดาน’ 1 ใน 3 ข้อ คือ การปฏิรูปสถาบัน ทำให้การชุมนุมของ ‘คณะราษฎร63’ มีความแหลมคมกว่าอดีต
.
รวมทั้งรูปแบบการชุมนุมที่เป็น ‘แฟลชม็อบ’ ที่มีการสื่อสารผ่าน ‘โซเชียลฯ’ จึงแตกต่างจากสมัยปี53 ถือเป็น ‘สมการใหม่ทางการเมือง’ ที่ผู้ชุมนุมเป็น ‘เยาวชน-นักศึกษา’ สวมชุดนักเรียน-นักศึกษา มาชุมนุม การตัดสินใจใดๆของ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ จึงไม่สามารถใช้ ‘ฐานคิดเดิม’ ได้อีก ในสภาวะที่สถานการณ์ยากจะเห็น ‘ทางออก’ ร่วมกัน
.
10 ปี จาก ‘ศอฉ.’ สู่ ‘กอร.ฉ.’ ในวันที่ อะไรก็ไม่เหมือนเดิม !!