เทศมองไทย : “พันธมิตรชานม” จากฮ่องกง-ไทเป ถึงกรุงเทพฯ

ในช่วงการชุมนุมทางการเมืองเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “พันธมิตรชานม” ถูกสื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนักพาดพิงถึงเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเอเอฟพี, รอยเตอร์ส หรือสื่อหลักในอังกฤษอย่างไฟแนนเชียล ไทม์ส กับอัลจาซีรา สถานีข่าวโทรทัศน์ของกาตาร์ และซีเอ็นเอ็นแห่งสหรัฐอเมริกา

ไฟแนนเชียล ไทม์ส ถึงกับชี้ให้เห็นว่า กลยุทธ์การชุมนุมประท้วงแบบดาวกระจายที่ไม่กำหนดวันเวลาที่แน่ชัดกันล่วงหน้านั้น เป็นการหยิบยืมมาโดยตรงจากแกนนำการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ที่สามารถยืนหยัดต่อต้านทางการได้เกือบตลอดทั้งปีที่ผ่านมา

จอห์น รีด ผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยของไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุว่า สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงต่อการชุมนุมประท้วงที่กรุงเทพฯ ในยามนี้ก็คือ การที่จู่ๆ มีการ “โยกย้าย” การใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวนมหาศาล จากสื่อโซเชียลที่รู้จักกันดีในไทย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ และวอตส์แอพพ์ เป็นต้น ไปใช้งาน “เทเลแกรม”

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ เพราะเทเลแกรมมีฟีเจอร์ให้สามารถ “เข้ารหัส” ข้อความที่ส่งถึงกันและกันได้ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เทเลแกรมเป็นแอพพลิเคชั่นยอดนิยมสำหรับผู้ประท้วงในฮ่องกง เพราะสามารถป้องกันไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้เนื้อหา การนัดหมายและอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่

 

รายงานของไฟแนนเชียล ไทม์ส เผยแพร่ออกมาเมื่อ 18 ตุลาคม วันที่ 19 ตุลาคม ก็ปรากฏรายงานข่าวในเว็บไซต์ของบีบีซี เวิร์ลด์นิวส์ ว่า รัฐบาลไทยกำลังมองหาช่องทาง “แบน” แอพพลิเคชั่นเทเลแกรมนี้

ถึงขนาดมีคำสั่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้แจ้งต่อผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทุกรายให้ “ระงับ” การให้บริการเทเลแกรมเป็นการชั่วคราว

แต่จนกระทั่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ความพยายามที่ว่าของทางการมีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะยังคงเกิดม็อบ “ดาวกระจาย” อยู่อย่างต่อเนื่อง

ย้อนหลังไปเมื่อราว 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้กำลังเริ่มก่อตัว รอยเตอร์สโดยพัชร์พิชา ธนาเกษมพิพัฒน์ กับแยนนี โช ทำรายงานขนาดยาวเอาไว้ถึงการก่อตัวของ “มิลก์ที อไลแอนซ์” หรือ “พันธมิตรชานม” ที่พูดถึงกันอยู่ในเวลานี้เอาไว้

ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ในการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เมื่อเดือนสิงหาคมที่กรุงเทพมหานคร มีแผ่นป้ายเรียกร้องเสรีภาพของฮ่องกง และไทเป ที่ไม่ควรมีปรากฏอยู่ด้วย

ในขณะเดียวกัน ที่กรุงไทเป ก็มีผู้คนหลายสิบคนรวมตัวกัน “แสดงความสนับสนุนต่อการประท้วงในประเทศไทย” ปรากฏขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน พร้อมๆ กับที่มีการใช้แฮชแท็ก #MilkTeaAlliance. ส่งเสียงสนับสนุนการประท้วงในไทยจากฮ่องกง

 

รอยเตอร์สเรียกปรากฏการณ์ที่ว่านั้นว่าเป็น “ขบวนการเยาวชนข้ามแดน” ที่ก่อกำเนิดขึ้นจากความพยายามผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นภายในประเทศ รวมทั้ง “ความอึดอัด” ต่ออิทธิพลของจีน ที่นับวันยิ่งทวีขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์จีนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับรอยเตอร์สไว้ตอนนั้นว่า น่าทึ่งมากที่ความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับไต้หวันขยายขอบเขตกลายเป็นพันธมิตรชานมกับไทย ประเทศที่มีอธิปไตยของตนเอง และไม่ได้แม้แต่จะใช้ภาษาจีนเป็นหนึ่งในภาษาประจำชาติด้วยซ้ำไป

รอยเตอร์สบอกว่า #MilkTeaAlliance โด่งดังไปในอีกหลายประเทศอาเซียน อาทิ ฟิลิปปินส์ ที่มีปัญหาขัดแย้งอยู่กับจีนในทะเลจีนใต้ เรื่อยไปจนถึงอินเดีย ซึ่งกำลังมีปัญหาพรมแดนอยู่กับจีนมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

 

รอย อึ้ง อี้หลิง นักเคลื่อนไหวและบล๊อกเกอร์ชาวสิงคโปร์ ซึ่งเคยถูกศาลสิงคโปร์พิพากษาว่ามีความผิดจริงฐานหมิ่นประมาทต่อนายกรัฐมนตรี ลี เซียน หลุง จากเนื้อหาที่โพสต์ในบล๊อกเมื่อปี 2014 ก็ให้ความสนใจต่อความเคลื่อนไหวของพันธมิตรชานม มากจนถึงขนาดไปปรากฏตัวในการชุมนุมเพื่อสนับสนุนผู้ประท้วงไทยที่กรุงไทเป

เขาบอกว่า พันธมิตรชานมกลายเป็นพื้นที่กลางที่ปลอดภัย ซึ่งทุกคนสามารถใช้ร่วมกันเพื่อแสดงออกถึงความสามัคคี เป็นเอกภาพ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เขาเชื่อว่า ด้วยความสามัคคี พันธมิตรชานมจะก่อรูปมีโครงสร้าง มีองค์กรชัดเจนขึ้นในอนาคต

“พันธมิตรชานม” จึงนับเป็นความเคลื่อนไหวในบริบทระหว่างประเทศที่น่าสนใจไม่น้อยจริงๆ