ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 ตุลาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ธรรมลีลา |
เผยแพร่ |
ทาลิธาคุม เป็นภาษาฮิบรู พระเยซูเจ้ารับสั่งกับเด็กหญิง แปลว่า “เจ้าจงลุกขึ้นเถิด”
ในงานที่ภิกษุณีธัมมนันทาไปร่วมกิจกรรมกับซิสเตอร์นิกายคาทอลิกในประเทศไทย ในประเด็นการยุติการซื้อขายมนุษย์ โครงการนี้ใช้ทาลิธาคุมเป็นชื่อโครงการ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และถือเป็นมงคลเมื่อเป็นพระวจนะของพระเยซูเอง
โชคดีที่ตอนที่ผู้เขียนไปศึกษาต่อที่ประเทศแคนาดานั้น ผู้เขียนได้ปริญญาตรีไปจากประเทศอินเดีย ซึ่งทั้งแคนาดาและอินเดียเป็นประเทศที่มีความผูกพันกับอังกฤษ การศึกษาก็ยังเป็นระบบเดียวกัน จึงมีความสะดวกกว่าที่จะไปประเทศอื่น
แต่ที่จบมาจากอินเดียนั้นเป็นสาขาวิชาปรัชญา แม้จะได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ แต่เป็นสาขาศาสนา ผู้เขียนจึงต้องเรียนปริญญาตรีซ้ำเป็นปีที่สี่ เรียกว่า continuing year และเพราะอาจารย์ทราบความมุ่งหมายว่าผู้เขียนตั้งใจที่จะค้นคว้าวิจัยทางด้านศาสนาพุทธ จึงจำเป็นต้องได้รับการปูพื้นฐานในศาสนาอื่นก่อน
ในการเรียนปีที่ 4 นี้ วิชาที่เรียนจึงอัดแน่นด้วยศาสนายิวและคริสต์ ต้องศึกษาพระคัมภีร์เก่าและพระคัมภีร์ใหม่
อธิบายเพิ่มเติมสำหรับท่านที่ไม่คุ้นกับเนื้อหาส่วนนี้ ชาวยิวถือพระคัมภีร์เก่า ส่วนชาวคริสต์ถือทั้งพระคัมภีร์เก่าและพระคัมภีร์ใหม่
คัมภีร์ไบเบิลก็จะมีทั้งสองส่วนนี้เสมอ
พระคัมภีร์เก่า หรือที่เรียกว่า พันธสัญญาเดิมนั้น มีความหนาประมาณ 4-5 เท่าของพระคัมภีร์ใหม่ (พันธสัญญาใหม่)
ที่มีความโชคดี โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้มาก่อนก็คือ มหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ ก่อนที่จะได้รับการยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยนั้น เดิมเป็น Seminary คือโรงเรียนฝึกพระในศาสนาคริสต์ เพราะฉะนั้น การเรียนศาสนาคริสต์จึงเข้มข้น มีมาตรฐาน หากบอกว่าจบมาจากแม็กมาสเตอร์ ก็จะได้รับการยอมรับในเรื่ององค์ความรู้ทางศาสนาคริสต์ ในแวดวงชาวคริสต์
ตอนนี้ก็พูดได้ อธิบายได้คล่องแคล่วนะคะ แต่ตอนที่เรียนอยู่นั้น เครียดสุดๆ
เพราะไม่มีพื้นฐานเดิมในเรื่องศาสนาคริสต์เลย แม้มารดาของผู้เขียนท่านจะเคยเป็นนักเรียนจากอัสสัมชัญคอนแวนต์ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของท่าน ผู้เขียนไม่เคยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับศาสนาคริสต์มาก่อนเลย
ชั้นเรียนแรกที่เข้า เป็นการอ่านพระคัมภีร์ (Bible Reading) ไม่รู้เรื่องเลย อาจารย์ที่สอนเป็นชาวอเมริกัน ท่านขับรถข้ามพรมแดนมาสอนอาทิตย์ละสองครั้ง
มหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์อยู่ในเมืองฮามิลตัน ใกล้น้ำตกไนแอการาค่ะ อาจารย์จะผ่านพรมแดนเข้ามาทางเมืองบัฟฟาโลว์
อาจารย์ท่านนี้ หน้าตาคล้ายพอล นิวแมน ดาราหนังคนหนึ่งของฮอลลีวู้ด เวลาสอน ท่านเดินไปมาอยู่หน้าชั้นเรียน มือถือพระคัมภีร์ อ่านไปด้วยอธิบายไปด้วย
ท่านอินมากกับสิ่งที่สอน
แต่ผู้เขียนไม่รู้เรื่องเลย
ท่านจะบอกอ้างอิงที่ท่านกำลังสอน เช่น มาร์ก 1/12 ครั้งแรก ผู้เขียนแม้จะเปิดพระคัมภีร์ตาม ก็ไม่รู้ค่ะ ว่ามาร์กคืออะไร 1 คืออะไร 12 คืออะไร
ตกใจหมดเลย นั่งมือเย็น เหงื่อแตก
ในพันธสัญญาใหม่นั้น มีผู้เขียนประวัติของพระเยซูที่เรียกว่าพระวรสาส์น 4 คน คือ มาร์ก (มาระโก) แมตธิว (มัดธาย) ลูก (ลูกา) และจอห์น (โจฮัน)
ท่านกำลังอ่านของนักบุญมาร์กค่ะ บทที่ 1 และวรรคที่ 12
นักบุญทั้งสี่ท่านก็จดบันทึกประวัติของพระเยซูเรื่องเดียวกันนั่นแหละ ทำไมไม่เอามาร้อยเรียงเข้าด้วยกันให้เป็นเรื่องเดียวกัน จะได้ไม่ต้องเปิดอ่านทั้ง 4 ฉบับ
มีคนคิด และก็มีคนที่พยายามทำจริงๆ ด้วย แต่ไม่สำเร็จ
นักบุญแต่ละท่านเขียนประวัติของพระเยซู โดยมีเป้าหมายผู้รับฟังที่ต่างกัน หากพยายามเอามายำเข้าด้วยกันก็จะเสียอรรถรสที่ตั้งใจไว้เดิมโดยสิ้นเชิง
ยกตัวอย่างนะคะ ฉบับของนักบุญมาร์กมีการเริ่มต้นที่ไม่เหมือนฉบับอื่น คือให้รายละเอียดการสืบทอดตระกูลของพระเยซูย้อนขึ้นไปจนถึงกษัตริย์ดาวิด
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะนักบุญมาร์กต้องการให้ข้อมูลที่จะพิสูจน์ว่า พระเยซูนั้นสืบสายมาจากกษัตริย์ดาวิด ต้องตรงกับคำทำนายว่า พระเมสสิอาห์ที่จะมาในอนาคตที่จะมาช่วยชาวยิวให้พ้นจากการเป็นทาสนั้น มีคุณสมบัติต้องตรงกับคำทำนายคือ เป็นเชื้อสายของกษัตริย์ดาวิด เช่นนี้เป็นต้น
ผู้เขียน นักเรียนที่มาจากเอเชียไม่ได้เป็นทั้งยิวและคริสต์ ใช้เวลานานกว่าจะมาถึงความเข้าใจข้างต้นที่ว่ามากทีเดียว
แต่พอจับทิศทางได้ บวกกับอาจารย์พอล นิวแมน ท่านนี้ ทำให้การเรียนในชั้นสนุก น่าติดตาม เข้าเรียนไม่เคยขาดเลยค่ะ
ทีนี้จะกลับมาที่ทาลิธาคุม
ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ต้องมีศรัทธาเป็นพื้นฐาน ความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า จะเรียกว่า God จะเรียกว่าพระอัลลอฮ์ หรือจะเรียกว่าพระยะโฮวาห์ ก็หมายถึงองค์เดียวกันนั่นแหละ
ในศาสนาคริสต์นั้น ต่างไปตรงที่มีพระเยซู ที่มีฐานะเป็นพระบุตร ที่ศาสนาอิสลามและยิวไม่ยอมรับ
ในช่วงที่พระเยซูอุบัติขึ้นนั้น ยิวก็แตกเป็นสองฝ่าย คือยิวที่ไม่ยอมรับพระเยซูว่าเป็นพระบุตร ไม่ยอมรับว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิอาห์ ผู้ที่ชาวยิวรอคอยว่าจะมาช่วยให้ชาวยิวรอดพ้นจากการเป็นทาส ชาวยิวพวกนี้ก็เป็นชาวยิวต่อไป และชาวยิวพวกนี้แหละที่เป็นเหตุให้พระเยซูถูกตรึงจนสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
ชาวยิวที่ยอมรับว่าพระเยซูเป็นพระบุตร และเป็นพระเมสสิอาห์ผู้ที่จะมาช่วยให้ชาวยิวรอดพ้นจากความเป็นทาส ชาวยิวกลุ่มนี้ ต่อมาก็เป็นชาวคริสต์นั่นเอง
ประเด็นของความแตกต่างคือ ศรัทธากับไม่ศรัทธา
เมื่อพระเยซูรับสั่งกับเด็กหญิงว่า “เจ้าจงลุกขึ้นเถิด” หากเด็กหญิงนั้นมีศรัทธา เธอก็จะลุกขึ้นได้ แม้ว่าเธออาจจะพิการมาก่อนก็ตาม
ปรากฏการณ์ในการเกิดขึ้นของพระเยซูนั้น ที่ชาวคริสต์ยอมรับพระองค์นั้น ไม่มีอะไรอื่น นอกจากความศรัทธา
ความศรัทธาที่ฝังรากลึกนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชีวิต จิตวิญญาณนั้น ต้องอาศัยศรัทธาที่ก้าวกระโดด นักวิชาการเรียกว่า leap of faith
แม้ลูกศิษย์คนที่ใกล้ชิดที่สุดอย่างนักบุญปีเตอร์เองนั้นก็ถูกทดสอบความศรัทธามาแล้ว และตอนแรกก็สอบตก โดยที่พระเยซูเองรับสั่งเช่นนั้น พระเยซูท่านทำนายนักบุญปีเตอร์ไว้ว่า “เจ้าจะปฏิเสธเรา 3 ครั้งก่อนไก่ขัน”
เช้าวันที่ทหารโรมันมาจับกุมพระเยซู ทหารโรมันหันไปทางปีเตอร์ ก็เป็นจริงที่ปีเตอร์ปฏิเสธว่ามิใช่ศิษย์ของพระเยซู ครั้นสิ้นเสียง ปีเตอร์เองสลดใจเมื่อได้ยินเสียงไก่ขัน เพราะเป็นจริงตามที่พระเยซูทำนายไว้ล่วงหน้า
คนที่มีศรัทธาไม่คลอนแคลนตามพระเยซูไปสู่หลักที่พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน เป็นผู้หญิงค่ะ หลายท่านคงเคยดูฉากนี้ในหนังมาแล้วนะคะ
เมื่อพระเยซูหายไปจากถ้ำที่ทหารโรมันเอาพระศพท่านไปเก็บไว้ ก็ผู้หญิงอีกที่เป็นคนแรกที่ไปพบ
เช่นนี้ การที่ซิสเตอร์คาทอลิกในเมืองไทย จะใช้พระวจนะ ทาลิธาคุมเป็นชื่อของโครงการที่รณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ก็สมควรอยู่ เพราะเป็นพระวจนะที่รับสั่งกับเด็กหญิง ด้วยศรัทธาในพระองค์ ผู้หญิงและเด็กก็จะลุกขึ้น ปลดแอกที่ตนแบกมานานได้
ทาลิธาคุม เจ้าจงลุกขึ้นเถิด
ชาวพุทธเราก็ศรัทธานะ ศรัทธาในพระพุทธเจ้า เราจึงประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เชื่อว่า พุทธ ความตื่นรู้ที่พระพุทธเจ้าเข้าถึงนั้น สามารถจะเป็นจริงกับเราได้ แต่ศรัทธาของเราจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อเราน้อมนำมาปฏิบัติ
การเป็นพุทธ ไม่ได้อยู่ที่ริมฝีปาก แต่อยู่ที่การปฏิบัติ ปฏิบัติ แปลว่า ย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเอง ไม่ต้องวิ่งตามไปหาความหลุดพ้นนอกตัวเรา ไปไกลเท่าไร ยิ่งออกไปไกลจากเป้าหมาย
พระเยซูศรัทธาในพระเจ้า ขนาดยอมถวายชีวิต เช่นกัน ในการที่เราจะหลุดพ้นจากความทุกข์แห่งการเกิด เราก็ต้องถวายชีวิตในการปฏิบัติตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าแสดงหนทางไว้ให้แล้ว
ศรัทธาไม่ได้สำคัญสำหรับชาวคริสต์อย่างเดียว แม้ชาวพุทธก็ต้องมีศรัทธา และต้องทำให้ปรากฏในชีวิตเราเช่นกัน