พระราชกรณียกิจในหลวง-ราชินี ที่ “อีสาน” และ พระราชปฏิสันถาร : “บ้านเมืองต้องการคนรักชาติ ต้องการคนรักสถาบัน”

ระหว่างวันที่ 15-20 ตุลาคม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน คือ วันที่ 14 ตุลาคม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้ช่วยศาตราจารย์จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ นำนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 38 แห่ง และนายกสภามหาวิทยาลัยสวนดุสิต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายครุยวิทยฐานะแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จำนวน 19 สาขา รวม 39 ชุด

ประกอบด้วย

1.ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

2. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาสังคม ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

3. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

4. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชนและสังคม ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

5. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

6. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

7. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมบริการ (วิชาเอกธุรกิจการบิน) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

8. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารและการพัฒนาชุมชน ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

9. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธุรกิจการบิน ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

10. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

11. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

12. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

13. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

14. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการพัฒนา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

15. นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

16. รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

17. บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

18. บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

19. บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสในวโรกาสนี้ ตอนหนึ่งว่า

“ในฐานะที่เป็นคนกันเองมากว่า 20 ปีแล้ว ขอขอบใจที่ท่านมีความเอ็นดูสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ ซึ่งข้าพเจ้าและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่รักและอบอุ่นกับพวกท่านมาเสมอ มีความภูมิใจ ก็ขอบใจแทนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีด้วย”

การนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า

“เกียรติยศในครั้งนี้ ข้าพเจ้าขอตั้งมั่นในการทำหน้าที่ ให้สมกับเกียรติยศที่ทุกท่านมอบให้”

นอกจากทรงปฏิบัติพระราชภารกิจพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สกลนคร แล้ว

เมื่อเวลา 21.21 น. วันที่ 15 ตุลาคม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ ห้องรับรองที่ประทับ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้แกนนำคณะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยใน 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

ประกอบด้วย จังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และอุดรธานี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

โดยแกนนำคณะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยทั้งหมดเคยร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในพื้นที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานความช่วยเหลือในด้านต่างๆ จนปัจจุบัน อดีตสมาชิกคอมมิวนิสต์ทุกคนเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ใช้ชีวิตเรียบง่าย มีความหนักแน่น และยังได้น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต

ในการนี้ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับแกนนำคณะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ความว่า

“เท่าที่ฟังมาก็อยากจะพบแล้ว สมเด็จพระราชินีท่านก็เล่าให้ฟังว่า เคยเจอสหายต่างๆ ที่มีความสามารถ แล้วก็เดี๋ยวนี้ก็เป็นกำลังของชาติ

น่าซาบซึ้ง น่าปลื้มใจที่ท่านทั้งหลายเป็นกำลังของชาติ

แล้วก็ท่านทั้งหลายรักประเทศชาติบ้านเมือง รักประชาชน รักสถาบัน

ซึ่งเขาพูดไว้ว่า แม้แต่ตอนท่านหนุ่มๆ สาวๆ กัน ท่านก็รักประเทศชาติ รักประชาชนแล้ว ก็ถือว่า ได้แสดงความรักชาติ

แต่ตอนนั้นเหตุการณ์บ้านเมืองก็เป็นแบบนั้น

เข้าใจว่าท่านทั้งหลายก็ต้องเลือกในการรักชาติ ในการรักประชาชน รักชาวบ้าน รักบ้านเมือง ก็ทำให้ท่านได้เข้าใจอะไรต่างๆ ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงพระราชทาน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ท่านได้พระราชทานความรัก พระราชทานความห่วงใยกับประชาชนมาตลอด

เพราะฉะนั้น เราก็ร่วมกันรักชาติ ร่วมกันรักษาประชาชน และทุกอย่างของท่านทำก็ถือว่าก็เป็นประสบการณ์ที่ดี แล้วก็พูดกันตรงๆ ว่าท่านก็ได้ทำประโยชน์กับประเทศชาติ

ตอนนี้ก็คงจะเข้าใจว่าบ้านเมืองต้องการคนรักชาติ ต้องการคนรักสถาบัน

และก็มีประสบการณ์ใดๆ ที่เคยได้ทำมา หรืองานที่ผ่านมาเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ และก็สามารถจะสอนเด็กๆ รุ่นใหม่ด้วยประสบการณ์ที่ตนเองได้มีมา เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ความจริงข้าพเจ้าก็อยากเจออยากพบ อยากคุย และมีเวลามากก็อยากคุย อยากพบ อยากให้เล่าให้ฟังว่าทำอะไรมาบ้าง

ได้รำลึกความหลังกัน”

ขณะที่เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังลานหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทรงเยี่ยมราษฎรที่ไปเฝ้าฯ รับเสด็จ และทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานจากกองแพทย์หลวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกหน่วยบริการตรวจรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทาง รวมทั้งให้บริการด้านทันตกรรมแก่ราษฎรในพื้นที่

โอกาสนี้ ทรงมีพระราชดำรัสกับประชาชนที่มาเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายรายงานการทำงานโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำที่ดินในโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งสิ้น 30 ฟาร์มจากจำนวน 61 ฟาร์มทั่วประเทศ มาใช้สนับสนุนการจ้างงานประชาชน ภายใต้ “โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19”

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานกำลังใจตลอดจนส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จนก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชน ว่า

“เราสามารถทำเศรษฐกิจพอเพียงแล้วเรามีอาหารทาน มีรายได้จากผลผลิตที่เราปลูก ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี และเราไม่ต้องลำบาก ทำให้เรามีงาน มีรายได้ตลอดไป อยากให้ช่วยขยายความรู้นี้ให้กับคนรุ่นถัดๆ ไปจะได้รู้สึกรักบ้าน และอยากอยู่ถิ่นฐานที่บ้านต่อตัวเอง และสามารถประกอบอาชีพและมีรายได้”

“ส่งกำลังใจให้นะคะ เพราะก็อยากจะช่วยให้ทุกคนมีรายได้ช่วงโควิด”

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เป็นผู้แทนพระองค์ไปถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม

และก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เดินทางไปถวายเทียนเป็นพุทธบูชา ผ้าไตรและเครื่องสังฆทานพระราชทาน ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งเยี่ยมชมการดำเนินงานของมูลนิธิ ดิ อาร์ค ในพระบรมราชูปถัมภ์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

รวมถึงวันที่ 16 ตุลาคม เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เป็นประธานจิตอาสาพัฒนา เก็บผักตบชวา ณ อ่างเก็บน้ำห้วยวังนอง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร่วมกับส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่