เศรษฐกิจ / คลื่นม็อบการเมือง ซัดการบริโภค ท่องเที่ยว ลงทุน หวังพึ่งส่งออก ยาโด๊ปพยุง ศก.

เศรษฐกิจ

 

คลื่นม็อบการเมือง

ซัดการบริโภค ท่องเที่ยว ลงทุน

หวังพึ่งส่งออก ยาโด๊ปพยุง ศก.

 

ขณะนี้สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้สร้างความเวียนหัวยังไม่จางหาย ก็ต้องมาเวียนหัวกับสถานการณ์การชุมนุมและเสถียรภาพทางการเมือง

คลื่นการชุมนุมต่อยาวเข้าสัปดาห์ที่สอง ดูเมื่อไม่มีสัญญาณชัดเจนถึงจุดจบ แต่ได้ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมไปแล้ว ทางตรงนั้นไม่ว่าประเทศจะเจอเหตุการณ์ใด ตลาดหุ้น ความเชื่อมั่น และการท่องเที่ยว จะเจอก่อนเพื่อน เข้าภาวะชะงัก ดูได้จากการเทขายหุ้น จนประเมินกันแล้วว่าดัชนีหุ้นไทยจะหลุดไปต่ำกว่า 1,200 จุด การท่องเที่ยวเดิมนั้นเตรียมทยอยเปิดให้ต่างชาติเข้าประเทศไทยอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 3 เดือนตุลาคมเป็นต้นไป และตั้งเป้านำร่อง 1,200 คนก่อน ก็ยังไม่มีอะไรเติมจากนี้

ยังไม่นับรวมถึงหลังการปรับคณะรัฐมนตรี “ตู่ 2/3” ได้ทีมเศรษฐกิจใหม่ และขุนคลังคนใหม่ มาพร้อมกับการออกโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายรับเทศกาลปีใหม่ 2564 ทั้งโครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน และโครงการเที่ยวด้วยกัน

อีกทั้งในอีก 1 เดือนข้างหน้า แต่ละกระทรวงต้องส่งการบ้านต่อรัฐบาล ที่ได้เตรียมคิดออกโครงการหรือมาตรการพิเศษสุดๆ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ ดูเหมือนวันนี้เข้าภาวะสงบนิ่ง รอๆๆๆ เพราะไม่รู้ว่าการชุมนุมจะส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งหรือไม่

หรือจะเกิดภาวะสุญญากาศ หยุดดูว่าอะไรจะเดินหน้าหรือถอยหลัง!!

 

เริ่มเหตุการณ์ชุมนุมไม่นาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงความรู้สึกเมื่อถาม “ไทยเพิ่งผ่านจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เหมือนกันทั่วโลก คือเป็นคนป่วยที่ต้องรักษา แต่ไทยเหมือนพ้นจากโควิด-19 มาเป็นผู้ป่วยที่รอการพักฟื้น และกำลังลุกเดินต่อได้ แต่เมื่อเกิดเหตุชุมนุม แม้มีไม่มาก ก็อาจทำให้เศรษฐกิจสะดุด แต่ก็หวังว่าจะสะดุดไม่นาน …สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือต้องช่วยกันประคองเศรษฐกิจให้มีการใช้เงินมากที่สุด”

อีกผู้บริหารระดับชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการเปิดตัวครั้งแรกหลังรับตำแหน่งว่า ประเมินเศรษฐกิจไทยคงติดลบต่อเนื่อง อาจถึงต้นปี 2564 และคาดฟื้นกลับเป็นบวกคงเป็นไตรมาส 2/2564

อย่างไรก็ตาม คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับคืนมาเหมือนช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 เข้าไตรมาส 3 ต้องยอมรับวิกฤตโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก พร้อมกันทุกประเทศ ประเทศต้องล็อกดาวน์กระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก นักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 6.7 ล้านคน จากเดิมเคยมาเที่ยว 40 ล้านคน คิดเป็นรายรับหายไปถึง 10% ของจีดีพี

การส่งออกที่ผ่านมาหดตัวหนักเพราะปิดประเทศ ส่งออกได้ยาก เปรียบเสมือนอาการของผู้ป่วยหนักที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู

หันมาปัจจัยการเมือง หากยืดเยื้อและยาวนาน มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงกระทบความสามารถในเรื่องของการจัดการภายในด้วย

 

ด้านนักวิชาการ อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ชุมนุมการเมือง ระยะสั้นกระทบทันทีต่ออารมณ์คนจับจ่ายใช้สอย กระทบลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ รวมถึงแผนการเดินทาง หากยืดเยื้อและความรู้สึกว่าไม่มั่นใจว่าหากการชุมนุมยุติลงแล้ว แรงกระเพื่อมทางการเมืองจะจบลงจริง นั่นหมายถึง ระยะยาวจะมีผลต่อภาคการลงทุน ต่อจากตอนนี้ภาคบริโภคและภาคท่องเที่ยวโดนผลกระทบเต็มๆ แล้ว ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากโควิด-19 ถึงเหตุชุมนุมการเมือง

“คงเหลือที่เป็นความหวัง คือภาคส่งออก ซึ่งแรงผลักดันโดยตรงคือภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะมีการอย่างไรก็ต้องค้าขาย ต้องส่งออก หากไม่มีเหตุรุนแรงถึงขั้นปิดระบบการขนส่งหรือปิดการผลิต อย่างไรก็ไปได้ ยิ่งในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี ปกติเป็นช่วงส่งออกได้สูง เพราะเป็นการสต๊อกสินค้าของทั่วโลก เตรียมไว้ขายก่อนหยุดยาวปีใหม่ และผู้ส่งออกไทยมีฝีมือ มีความน่าเชื่อถือ ความสามารถแข่งขันส่งออกจึงเป็นแรงผลักสำคัญ”

“ถามถึงปี 2564 ก็มั่นใจส่งออกไทยพลิกจากปีนี้ลบ 2 หลัก ประมาณลบ 10-12% กลายเป็นบวกได้ แต่ไม่ชัดว่าจะบวกเท่าไหร่ อาจบวก 1-3% เพราะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของประเทศมีอำนาจของโลก ทั้งจีน สหรัฐ จะขยายตัวได้มาก น่าจะบวกได้ 4-5% จากปีนี้ลบ 3-5% ยกเว้นจีนที่เป็นบวกได้ปีนี้ 2%”

“อีกทั้งประเมินว่าวัคซีนจะออกมาแพร่หลายมากในกลางปี 2564 เป็นแรงหนุนการใช้จ่ายและเดินทางอีกครั้ง ที่สำคัญคือฐานมูลค่าการส่งออกปี 2563 ของไทยต่ำมาก อย่างไรปีหน้าก็เป็นบวก”

 

สอดคล้องกับจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้มั่นใจว่าทิศทางการส่งออกปี 2564 กลับมาเป็นบวก พร้อมโชว์แนวทางอีกมากมาย ทั้งการดึงภาคเอกชนร่วมผลักดัน กำชับทูตพาณิชย์อัดแน่นลงพื้นที่ เจาะตลาดใหม่เก่า ปูพรมกิจกรรมทุกเดือนทุกสัปดาห์

ที่สำคัญชูการใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยงผู้ส่งออกและผู้นำเข้า จึงมั่นใจว่าจะพลิกจากปี 2563 การส่งออกไทยลบ 6-7% หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 220,903 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเติบโตบวกในกรอบบวก 3-5% และค่ากลางที่มีความเป็นไปได้คือบวก 4% ในปี 2564 ซึ่งมองว่า 3 กลุ่มทำเงินของไทย คือ อาหารสำเร็จรูป ถุงมือยาง และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ที่ยังแนวโน้มเติบโตได้ดีในช่วงโควิด-19 อีกทั้งปัจจัยแวดล้อมยังเอื้อ ทั้งเศรษฐกิจโลกปีหน้าอย่างไรก็ดีกว่าปีนี้ ราคาเชื้อเพลิงยังทรงๆ

ขณะที่ปัจจัยเชิงลบบันทอนภาคส่งออก คือ

  1. ความเปราะบางจากภาวะการจ้างงานในตลาดโลก
  2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศยังมีข้อจำกัดจากหนี้สาธารณะที่สูงในหลายๆ ประเทศ

และ 3. ความเสี่ยงที่หลายประเทศอาจจะกลับมาล็อกดาวน์ Lockdown อีกครั้ง หากการแพร่ระบาดของโควิดกลับมารุนแรงระลอก 2-3

 

เมื่อหันไปถามผู้ส่งออกในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ต่างก็ยืนยันโอกาสส่งออกปีหน้า อย่างไรก็เป็นบวก แม้ไม่ได้ทำอะไรมากนัก โดยอธิบายบนหลักของตัวเลขสถิติ ไว้ว่า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าการติดลบปี 2563 ที่ 7% นั้นมาจากการที่ 4 เดือนที่เหลือของปี มูลค่าส่งออกเฉลี่ย 19,221.5 ล้านเหรียญต่อเดือน จึงทำให้การส่งออก 8 เดือนแรก 2563 ติดลบ 7.8% เหลือแค่ 7%

แต่การตั้งเป้าหมายเติบโต 4% โดยยึดที่มูลค่าส่งออก 230,967 ล้านเหรียญ บนสมมุติฐานตัวเลขเฉลี่ยส่งออกต่อเดือน 19,247 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งดูตัวเลขแล้วพบว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยมูลค่าส่งออกในปี 2563 ที่เผชิญวิกฤตโควิด-19

ด้วยประการฉะนี้ ส่งออกปี 2564 อย่างไรก็เป็นบวก และเป็นที่พึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น