ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 ตุลาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
‘บิ๊กตู่’ ปฏิวัติเงียบ ?
ปฏิวัติเงียบ ‘บิ๊กตู่’ ?
เจาะเบื้องหลังประกาศฉุกเฉิน
‘บิ๊กแก้ว-บิ๊กบี้’ ขยับ!
จับตาศึก ‘บูรพาพยัคฆ์เฒ่า’ กับนักศึกษา
ประเทศไทย การเมืองไทย และกองทัพไทย มาถึงจุดที่ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ว่าจะไปต่อยังไง และจะจบลงอย่างไร อีกครั้ง
หลัง 14 ตุลาคม 2563 ที่ทำให้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม
การชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรที่มีนักเรียน-นักศึกษาออกมาจำนวนมากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนมาล้อมทำเนียบรัฐบาล จนรัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร เมื่อตี 4 วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ตำรวจ ทหารเต็มเมือง
แต่หาได้หยุดยั้งการชุมนุมได้ไม่ เพราะยังคงมีการชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์สุดเบิ้ม ตามมาด้วยที่แยกปทุมวัน ที่แม้จะถูกตำรวจสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำสีฟ้า แต่ก็ยิ่งปลุกให้เกิดการชุมนุมแบบดาวกระจายทั่วเมือง และลามไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ
แม้จะจับกุมแกนนำการชุมนุมหลายรุ่น แต่ที่สุด ศาลก็ปล่อยตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่หาได้หยุดการชุมนุมได้ เพราะกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่มีหัว ไม่มีแกนนำ แต่ทุกคนที่มาชุมนุมสามารถเป็นแกนนำในการชุมนุมได้ แถมใช้กลยุทธ์สับขาหลอกฝ่ายรัฐ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องสถานที่การชุมนุมในแต่ละวัน
ผลพวงการสลายการชุมนุม 16 ตุลาคม ที่แยกปทุมวัน ถูกต่อต้านอย่างหนักว่าเป็นการใช้ความรุนแรง เพราะแม้ผู้ใช้การฉีดน้ำผสมสารเคมีที่ทำให้ระคายเคืองนั้นจะอ้างเป็นวิธีสากล แต่ทว่าผู้ชุมนุมเป็นเด็กๆ เยาวชน นักเรียน นักศึกษาไม่เห็นด้วย
จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องสั่งตำรวจให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง แต่ก็ออกมาเตือนว่า อย่าสร้างสถานการณ์จนนำไปสู่การใช้กำลัง
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์เชื่อว่าเด็กๆ เหล่านี้ถูกชักจูงด้วยข้อมูลผิดๆ มานาน และมีผู้อยู่เบื้องหลัง จึงทำให้ไม่ฟังเสียงผู้ชุมนุมเท่าที่ควร
จึงมีแค่การเปิดสภาสมัยวิสามัญ เพื่อหาทางออก และเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ทว่าประกาศที่จะไม่ยอมลาออกตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม
ยังคงเล่นบทแข็งกร้าวในการปกป้องสถาบัน และการเอาผิดดำเนินคดีกับพวกที่ล่วงละเมิดสถาบัน
จนทุกสายตาจับจ้องว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทานทนกับสภาพการณ์เช่นนี้ไปได้นานแค่ไหน และจะแก้เกมอย่างไร
อย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ พี่น้อง 3 ป. เคยผ่านวิกฤตเสื้อแดงปี 2552-2553 มาแล้ว มีการใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยอ้างว่าฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดงขณะนั้นมีกองกำลังติดอาวุธ จนนำมาซึ่งการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง และมีผู้เสียชีวิต 99 ราย ที่ยังเป็นคดีในศาล
แต่ในเวลานั้น รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ก็ไม่ได้ลาออก
พี่น้อง 3 ป. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และ พล.อ.ประยุทธ์ รอง ผบ.ทบ. ที่มีบทบาทสำคัญในการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
ผ่านวิกฤตนั้นมาได้ แม้ต่อมามีการเลือกตั้งใหม่ เปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้ถูกเด้ง ถูกย้าย
ตรงกันข้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์เล่นบทซอฟต์ ญาติดีกับทหาร เอาใจกองทัพ และสนิทสนมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จนเสมือนเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว
แต่ที่สุดก็ถูกรัฐประหารด้วยกลยุทธ์ที่แยบยล
จนที่สุด พล.อ.ประยุทธ์มามีวันนี้ วันที่ผ่านการเป็นนายกฯ ในรัฐบาล คสช.มา 5 ปี แล้วเป็นนายกฯ จากรัฐบาลเลือกตั้งอีกกว่า 1 ปี จากการมีรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ รวมทั้ง 250 ส.ว.ที่โหวตเลือกนายกฯ ได้
ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ถามว่า “ผมผิดอะไร” เมื่อมีม็อบมาขับไล่ให้ลาออกในเวลานี้นั้น จึงไม่ต้องมีคำตอบอะไร เพราะทุกอย่างชัดเจนในช่วง 7 ปีของการครองอำนาจ และส่อเค้าจะอยู่ในอำนาจไปอีกนาน ด้วยกลไกที่สร้างขึ้นมา
จากที่สู้กับผู้ใหญ่ คนเสื้อแดง มาตอนนี้ พี่น้อง 3 ป. ที่เคยกรำศึกชายแดนกับเขมร และเวียดนาที่เขาพนมปะมาในสมัยเป็นทหารหนุ่มๆ มาตอนนี้ต้องมาเจอกับลูก-หลานที่เป็นนักเรียน-นักศึกษา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับบูรพาพยัคฆ์ในการทำศึกยุค 5 จี
บูรพาพยัคฆ์เฒ่า กับลูกแกะ หรือลูกวัวอ่อน ทว่าอาจเป็นลูกหมาป่าในสงครามลูกผสมในยุคใหม่ ในยุคโซเชียล ยุคออนไลน์ ที่ไม่อาจเอาชนะได้ด้วยกำลังทหาร ตำรวจ หรืออำนาจรัฐ
หรือแม้แต่การปฏิวัติรัฐประหารที่จะยิ่งปลุกกระแสต่อต้าน และอาจนำไปสู่การจลาจล สงครามกลางเมือง และการนองเลือด
แม้จะเคยมีโมเดล 6 ตุลาคม 2519 มาแล้วก็ตาม
แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และกองทัพจะย้อนยุคไปสู่ความสูญเสีย และต้องหนีเข้าป่า หรือหนีออกนอกประเทศกันอีกหรือ โดยใช้ประเด็นเรื่องสถาบันมาเป็นข้ออ้าง
แต่ถึงอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ก็จะไม่ลาออก
ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า พล.อ.ประวิตรพี่ใหญ่ ถอดใจแล้ว พร้อมถอย และหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก
แต่ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ยืนกรานว่ายังลาออกไม่ได้ เพราะยังมีภารกิจในการปกป้องสถาบันกษัตริย์
เพราะมองว่า ถ้าล้ม พล.อ.ประยุทธ์ได้ ก็จะขาดปราการที่แข็งแกร่งในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ จะกลายเป็นโดมิโน่ล้มตามกันไป
จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศในที่ประชุม ครม. 20 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า พร้อมที่จะตายแทนสถาบันกษัตริย์ได้ หลังการเปิดเพลง “จะอยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี” ตอกย้ำหน้าที่ของรัฐบาล
“เมื่อเกิดมาเพื่อปกป้องสถาบัน ถ้าตายขอตายเพื่อสถาบัน” พล.อ.ประยุทธ์พูดในวง ครม.
พร้อมตัดพ้อว่า “ไม่มีใครช่วยปกป้องผมเลย” … “ไม่ต้องปกป้องผมหรอก แต่ขอให้ช่วยกันปกป้องสถาบัน”
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างประดังประเดเข้ามา ไม่ใช่แค่การชุมนุมดาวกระจายแบบรายวันของม็อบจำนวนมาก แถมเป็นนักเรียน-นักศึกษา คนรุ่นใหม่เท่านั้น
แต่รวมถึงภารกิจในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ที่กำลังถูกท้าทายด้วยข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการแสดงออกที่หนักมากขึ้นๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระบรมราชินี เมื่อ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา
ที่ผลพวงยังไม่จบ…
ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นทหารเก่า และเป็นทหารเสือราชินี ร.21 รอ. ที่เคยถวายงานใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ 9 และโดยเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เป็นองค์ผู้ก่อตั้ง ร.21 รอ. และเป็นองค์ผู้บังคับการกรมกิตติมศักดิ์
พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่นายทหารเสือฯ ถวายอารักขาอย่างใกล้ชิดมายาวนานในการติดตามเสด็จพระราชกรณียกิจทั่วประเทศ
ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์กระทบขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่สะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อเย็นวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่พอใจอย่างมาก และมีแรงกดดันรอบทิศทาง
จนสั่งตำรวจให้ดำเนินการกับผู้ที่ขัดขวางขบวนเสด็จพระราชดำเนินและผู้ที่กระทำอื่นใดในลักษณะที่เป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดโดยไม่ละเว้น
“ถือว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ เป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ เป็นการบ่อนทำลายการบริหารราชการแผ่นดินและความสงบสุขของประชาชน”
และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจพลิกเกมชั่วข้ามคืนในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร เมื่อตี 4 วันที่ 15 ตุลาคม 2563 แก้ไขสถานการณ์ม็อบคณะราษฎรล้อมทำเนียบรัฐบาล
มีรายงานว่า จากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์จะปล่อยให้ผู้ชุมนุมล้อมทำเนียบรัฐบาล เพราะถึงขั้นที่เตรียมใช้บ้านพิษณุโลกและกระทรวงกลาโหมเป็นที่ทำงานสำรอง เพราะสวมหมวก รมว.กลาโหมด้วย และจะต้องต้อนรับ รมว.ต่างประเทศจีนที่มาเยือน
แต่มีสัญญาณบางอย่างที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจ
ทั้งกระแสความไม่พอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับขบวนเสด็จ
จนกลุ่มมวลชนต่างๆ ประกาศที่จะออกมาขับไล่ผู้ชุมนุมคณะราษฎรที่ล้อมทำเนียบรัฐบาล
และกระแสเสียงจากบรรดาผู้จงรักภักดี ที่กดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับขบวนเสด็จ
แม้จะเป็นที่กังขาของฝ่ายผู้ชุมนุม โดยเฉพาะนายอานนท์ นำภา แกนนำ ที่ตั้งข้อสังเกตว่า มีการวางยาผู้ชุมนุมด้วยการปล่อยให้ขบวนเสด็จมาทางพื้นที่การชุมนุมหรือไม่ เพื่อปูทางสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม
แน่นอน ในฝั่งรัฐบาลได้มีการสอบสวนภายในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วพบว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางเสด็จสำรองเดิมอยู่แล้ว ที่จะไปขึ้นทางด่วนยมราช โดยมีการประสานงานก่อนการเสด็จว่าผู้ชุมนุมยังมาไม่ถึงพื้นที่ดังกล่าว เพราะยังคงติดอยู่ที่แยกนางเลิ้ง
แต่ตำรวจในพื้นที่รายงานว่า มีผู้ชุมนุมที่เดินเท้าเล็ดลอดเข้ามารอขบวนผู้ชุมนุมใหญ่ราว 50-100 คน ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการอารักขาขบวนเสด็จ
แต่ในที่สุดขบวนเสด็จก็มุ่งหน้ามา โดยมีตำรวจนับร้อยนายวิ่งมาเคลียร์พื้นที่ก่อนแค่ไม่กี่นาที
แล้วเหตุการณ์นั้นก็เกิดขึ้น ท่ามกลางความโกลาหล และตั้งตัวไม่ติดของเจ้าหน้าที่ แม้แต่ผู้ชุมนุมเอง
จนมีการตั้งข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 กับผู้ชุมนุมบางคนที่แสดงออกโดยมิควรต่อขบวนเสด็จ
มีรายงานบางกระแสพบว่า ในพื้นที่พบชายชุดดำปรากฏตัวข้างๆ ก.พ. ใกล้เส้นทางเสด็จ
แต่จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำเนียบฯ ไม่พบว่ามีชายชุดดำแต่อย่างใด มีแต่กำลังตำรวจที่มาดูแลทำเนียบรัฐบาลตามปกติ
พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องพลิกเกม พลิกสถานการณ์ โดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
หลังมีการหารือกับบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด และบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่มีส่วนในการกระตุ้นการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์
พร้อมคำสั่งให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์เตรียมกำลังทหารพร้อมสำหรับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่ราว 5 ทุ่ม
โดยที่เวลานั้นเกิดกระแสข่าวว่า ตำรวจ ทหาร จะสลายการชุมนุมในช่วงดึกๆ หรือใกล้รุ่ง เมื่อจำนวนผู้ชุมนุมลดน้อยลง
แต่ที่สุดคำสั่งให้เคลื่อนกำลังตำรวจและทหาร ก็ตกลงมาตอนตี 2 ให้เข้าที่หมาย รอบทำเนียบฯ ในเวลาก่อนตี 4
ทั้งเพื่อการยึดทำเนียบรัฐบาลคืน ก่อนที่จะยืดเยื้อหรือบานปลายไปสู่การเข้าไปในทำเนียบฯ ของผู้ชุมนุม และเพื่อสยบกระแสวิจารณ์และกดดันให้รับผิดชอบต่อกรณีขบวนเสด็จ
จนถูกมองว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ เป็นประหนึ่งการปฏิวัติเงียบ รัฐประหารตัวเอง เพื่อกระชับอำนาจในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ อดีตทหาร และอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่ครองอำนาจยาวนานตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557
และตามมาด้วยคำสั่งย้าย 3 นายตำรวจแห่งนครบาล เพื่อเป็นการรับผิดชอบกรณีขบวนเสด็จ จากเดิมที่มีกระแสข่าวสะพัดหนักว่าจะย้ายทั้ง ผบช.น. และ ผบ.ตร. ด้วยซ้ำไป
นอกจากจะยึดทำเนียบรัฐบาลคืนมาเป็นสถานที่ทำงานได้ตามปกติแล้ว ยังเป็นการพลิกเกม จากที่ถูกกดดันและถูกถามหาความรับผิดชอบในระดับรัฐบาล ให้กลายมาเป็นผู้คุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ไขสถานการณ์ต่อจากนี้
จากเดิมที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 มาตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดอยู่แล้ว ก็ประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินขึ้นมา เพื่อยึดอำนาจในมืออีกครั้ง
ท่ามกลางการถูกจับตามองว่าจะตามมาด้วยการปฏิวัติซ้ำ ปฏิวัติตัวเองหรือไม่ หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือจะตามมาด้วยการประกาศกฎอัยการศึกหรือไม่
“ใครจะทำปฏิวัติ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว เมื่อถูกถามถึงสถานการณ์นี้เสี่ยงต่อการเกิดรัฐประหารตามมา
เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องสั่งให้รัฐประหาร เพราะถึงยังไงก็คุมอำนาจเบ็ดเสร็จในมืออยู่แล้ว แถมเป็น รมว.กลาโหม และคุมตำรวจอยู่แล้ว และมีสถานภาพเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่จำเป็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องปฏิวัติตัวเอง
ยิ่งหากมองไปที่ ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่ชุดนี้ ที่เจอเหตุการณ์นี้ เป็นเสมือนการรับน้อง หลังจากที่เพิ่งขึ้นมาเป็น ผบ.เหล่าทัพได้แค่ไม่กี่วัน
แม้ว่า ทั้ง พล.อ.เฉลิมพล และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะไม่ใช่น้องรักสายตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันมา
แต่กระนั้นก็เกิดข่าวลือบางกระแสที่พาดพิงไปถึงบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองเลขาธิการพระราชวัง อดีต ผบ.ทบ. ที่บวชเป็นพระอภิรตโน ออกธุดงค์ อยู่ในฐานะที่เป็นนายทหารผู้จงรักภักดี
แม้แต่ข่าวการเรียกหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ เข้าหารือกลางดึก ที่ ร.11 รอ. ที่ออกมาในสื่อบางสำนัก ท่ามกลางความงุนงงว่า ทำไมจึงเป็น ร.11 รอ. ทั้งๆ ที่เป็นเขตพระราชฐานไปแล้ว ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ก็กำลังบวชเป็นพระและออกธุดงค์อยู่
ทั้งๆ ที่น่าจะเป็น ร.1 รอ. มากกว่า เพราะ พล.อ.ประวิตรตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์และสั่งการที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ที่เคยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของ ร.1 รอ. แต่ยังเรียกกันติดปากว่า บ้าน ร.1 รอ.
ที่คืนนั้น พี่น้อง 3 ป. ทั้ง พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ ต่างก็ช่วยกันคิดหาทางรับมือ แก้เกม แม้จะมีหลากหลายคำถาม หลากหลายข้อกังขาเกิดขึ้นเช่นกัน
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องทำหน้าที่ในการปกป้องสถาบันต่อไป
ท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้น แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมลาออก แล้วก็เริ่มมีกระแสข่าวปฏิวัติรัฐประหารออกมาอีกระลอก
โดยโฟกัสไปที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ในฐานะ ผบ.ทบ.ที่คุมกำลังมากที่สุด
จนมีการปล่อยข่าวจะก่อการรัฐประหาร เรียกประชุม ผบ.เหล่าทัพที่สโมสร ทบ.วิภาวดีฯ และส่งกำลังทหารไปยึดรัฐสภาแล้ว
ทั้งๆ ที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์มีการประชุมติดตามสถานการณ์ตามปกติอยู่แล้วทุกวัน ทั้งเช้าและเย็น แล้วแต่เหตุการณ์
แต่ในวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็เปิดวอร์รูม บก.ทบ. ติดตามสถานการณ์ และสั่งการเตรียมกำลังทหาร จนมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตอนตี 4 และอยู่ยันเช้า จนทหาร ตำรวจ ควบคุมพื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาลได้
พร้อมๆ กับกำลังทหารจาก พล.ร.9 กาญจนบุรี ที่มากันเกือบทั้งกองพล มาดูแลสถานที่สำคัญทางราชการ เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และวางกำลังใน ทบ. และกองทัพภาคที่ 1
และกำลังทหารจาก พล.ปตอ., พล.ร.11 และ มทบ.11 ที่มาเสริมกำลัง พร้อมดูแลสถานการณ์ หากได้รับคำสั่ง
ทั้งนี้เพราะทหารที่อยู่ในกรุง เช่น ร.1 รอ., ร.11 รอ. พล.1 รอ. พล.ม.2 รอ. หรือแม้แต่ พล.ร.2 รอ. ปราจีนบุรี สระแก้วนั้น ล้วนเป็นทหารคอแดง ฉก.ทม.รอ.904 จึงไม่สามารถนำมาใช้ในภารกิจดูแลความสงบเรียบร้อยตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้
เช่นเดียวกัน พล.อ.ณรงค์พันธ์แม้จะเป็น ผบ.ทบ. แต่ด้วยการเป็นนายทหารคอแดง และไม่ได้คุมกำลังทหารทั้งหมด ก็ไม่สามารถจะปฏิวัติรัฐประหารได้โดยลำพัง
อีกทั้งการรัฐประหารก็ไม่สามารถแก้ปัญหาครั้งนี้ได้
ที่น่าจับตามองคือ บทบาทของศาลในเรื่องการปล่อยตัวแกนนำการชุมนุมที่เป็นนักศึกษา รวมถึงบทบาทศาลรัฐธรรมนูญในการชี้ขาดกรณี พล.อ.ประยุทธ์ถูกร้องในคดีพักบ้านหลวงใน ร.1 รอ. หลังจากที่พ้นจาก ผบ.ทบ.แล้ว ไม่สามารถพักบ้านพักสวัสดิการทหารบกได้ และไม่มีการทำเรื่องเปลี่ยนจากบ้านสวัสดิการมาเป็นบ้านพักรับรอง ที่ทำให้ ทบ. โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ต้องเร่งชี้แจง เพราะอาจกลายเป็นประเด็นที่คาดไม่ถึง
ท่ามกลางการจับตามองว่า หากสถานการณ์การชุมนุมลุกลามบานปลายต่อไป ผบ.เหล่าทัพจะอยู่นิ่งได้หรือไม่ หรืออาจมีปัจจัยอื่นที่อยู่เหนือการควบคุม
การปฏิวัติเงียบ ขอให้นายกฯ ลาออก จะเกิดขึ้นหรือไม่ หลังจากที่มีการมองว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นฝ่ายปฏิวัติเงียบ ยึดอำนาจไว้ในมืออย่างเด็ดขาดแล้ว