คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / “ฆ่าไม่บาป” : กิตติวุฑโฒไม่ใช่คนแรก

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งไปชมนิทรรศการ “แขวน” นิทรรศการระลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียดายที่นิทรรศการต้องหยุดจัดแสดงไวไปหน่อย เพราะจะมีงานพระราชทานปริญญาบัตรอย่างไม่ทันได้ตั้งตัวกันล่วงหน้า

วันที่ผมไปชม ผมสังเกตว่ามีนักเรียนมัธยมทั้งมอต้นและมอปลายจำนวนมากทีเดียว อาจไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ชมรอบนั้น ซึ่งน่าดีใจว่าแม้จะไม่มีเรื่องหกตุลาในแบบเรียน แต่เด็กๆ เขาอยากศึกษาหาความรู้อะไรที่นอกเหนือไปจากหลักสูตร นี่นับว่าเป็นความก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ อย่างเชื่องๆ อีกแล้ว

ตัวผมเองกว่าจะรู้จักเรื่องราวเกี่ยวกับหกตุลาก็ต้องรอจนโตไปเรียนในมหาวิทยาลัย และไม่ใช่ทุกคนจะได้รู้เรื่องอะไรพวกนี้ เดชะบุญที่เรียนมาทางมนุษยศาสตร์ ได้เรียนวิชาเกี่ยวกับสังคมไทยบ้าง ที่สำคัญคือการได้รู้จักพี่ๆ ชมรมวรรณศิลป์ พี่ๆ พรรคนักศึกษา หรือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ที่ยังมีกลิ่นอาย “เพื่อชีวิต” อยู่

ประวัติศาสตร์หกตุลายังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่สังคมไทย “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” เพราะความโหดเหี้ยมที่มนุษย์กระทำต่อกันในวันนั้นได้ทำลายคำว่า “สยามเมืองยิ้ม” “เมืองไทยเมืองพุทธ” จนไม่เหลือชิ้นดี

ที่สำคัญ มูลเหตุหรือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในวันนั้นก็เกี่ยวกับพุทธศาสนาในบ้านเรา ทั้งการที่จอมพลถนอมบวชเป็นเณรจากต่างประเทศเข้ามาบวชพระที่วัดบวรฯ ทั้งการปล่อยข่าวว่านักศึกษาจะมาเผาวัดบวรฯ

ที่สำคัญคือการให้สัมภาษณ์ของพระภิกษุรูปหนึ่ง

 

กิตติวุฑโฒภิกขุ หรือในภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระเทพกิตติปัญญาคุณ” ให้สัมภาษณ์หนังสือจัตุรัส ผมขอยกมาดังนี้

“จตุรัส : การฆ่าฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์บาปไหม

กิตติวุฑโฒ : อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธ ก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือ ต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน”

“จตุรัส : ผิดศีลไหม

กิตติวุฑโฒ : ผิดน่ะมันผิดแน่ แต่ว่าผิดนั้นมันผิดน้อย…ถึงแม้จะฆ่าคนก็บาปเล็กน้อย แต่บุญกุศลได้มากกว่า เหมือนเราฆ่าปลา แกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาตรพระได้บุญมากกว่า”

จากสิ่งที่กิตติวุฑโฒกล่าว ทำให้กลุ่มต่อต้านขบวนการนักศึกษาใช้เป็นวาทกรรมเพื่อกระทำความรุนแรงในวันนั้น เพราะเชื่อว่านักศึกษาเป็นคอมนิวนิสต์ที่จะมาบ่อนทำลายทั้งชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์จนหมดสิ้น การฆ่าคนพวกนั้นย่อมถูกต้องชอบธรรมแล้ว

ความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์จึงเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเพลง เสียงปรบมือ เสียงหัวเราะ และการกระทำหยามหยาบต่อศพอย่างเลวร้ายที่สุด

 

แนวคิดที่ว่า การฆ่าผู้ทำลายพุทธศาสนามีบาปน้อย เพราะพวกนี้เป็นคนไม่เต็มคน และยังได้บุญเพราะปกป้องพุทธศาสนานั้น กิตติวุฑโฒไม่ได้คิดขึ้นมาเป็นคนแรก แต่เป็นแนวเรื่องเล่าที่อยู่ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเถรวาทเลยทีเดียว

ผมไม่ทราบว่ากิตติวุฑโฒทราบเรื่องนี้ไหม แต่กิตติวุฑโฒได้ทำให้มันแพร่หลายในสังคมไทย

ศรีลังกาซึ่งเป็นต้นกำเนิดพุทธศาสนาแบบเถรวาท ไม่ได้เพียงส่งพระธรรมคำสอนและจารีตประเพณีมาเท่านั้น แต่ยังส่งเอาปมปัญหาทางศาสนาของตนมายังดินแดนอื่นที่มีบริบทคล้ายๆ กันมายังบ้านเราด้วย

กล่าวคือ ลังกามีประวัติศาสตร์การต่อสู้กันของกษัตริย์ฝ่ายสิงหลและทมิฬอยู่ตลอด ทมิฬซึ่งนับถือฮินดูกลายเป็นศัตรูตัวร้าย เพราะมิได้เป็นเพียงอริราชศัตรูระหว่างอาณาจักรกับอาณาจักรเท่านั้น ทว่าเป็นศัตรูกับพุทธศาสนาด้วย

แม้แต่คำว่า “ทมิฬ” ยังกลายเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบในสังคมพุทธบ้านเรา ที่ได้รับเอาแนวคิดลังกามา เช่นคำด่าว่า ใจทมิฬหินชาติ

 

ที่จริงไม่เพียงแต่พวกทมิฬเท่านั้น แม้แต่พุทธศาสนานิกายอื่นๆ ก็ถูกเถรวาทลังกามองว่าเป็นตัวร้าย ถึงขั้นเรียกว่าเป็นพวกเดียรถีย์ก็มี

คัมภีร์ “มหาวงศ์” ซึ่งเล่าเรื่องการประดิษฐานพุทธศาสนาในลังกาและประวัติศาสตร์ลังกา แต่งขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่สิบโดยพระมหานามะ คัมภีร์นี้นับเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในฝ่ายเถรวาท มีเรื่องเล่าหนึ่งในมหาวงศ์ที่สะท้อนแนวคิดแบบเดียวกันกับกิตติวุฑโฒ คือเรื่องพระเจ้าทุฏฐคามินีหรือพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย

พระเจ้าทุฏฐคามินี เป็นกษัตริย์ที่ชาวสิงหลยกย่องมาก พระองค์รบพุ่งทำสงครามกับพวกทมิฬซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในลังกาตอนเหนือจนขับไล่พวกทมิฬออกไปได้ ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนามาก ได้ก่อสร้างเจติยสถานและวัดวาอารามมากมาย แต่การสังหารผู้คนในสงครามทำให้กังวลพระทัยว่าได้ทรงทำบาปมหันต์หรือไม่ ครั้นแล้วจึงได้ทรงสอบถามกับ “พระอรหันต์” องค์หนึ่ง ซึ่งมีปุจฉาว่า

“การฆ่าเพื่อบำรุงศาสนาไม่ห้ามสวรรค์ การฆ่าคนทุศีลหนึ่งคนเป็นบาปเท่ากับฆ่าคนครึ่งคน เพราะคนที่ไม่นับถือไตรสรณคมน์หรือคนไม่มีศีล 5 ขาดมนุษยธรรม มีความเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ ตายไปก็เหมือนสัตว์เดรัจฉาน พระองค์ได้ทําให้พระธรรมของพระพุทธองค์รุ่งเรืองในทิศต่างๆ โปรดจงเบาพระทัยเถิด”

เห็นชัดว่า ตรรกะของ “พระอรหันต์” ในคัมภีร์มหาวงศ์ มิได้แตกต่างจากกิตติวุฑโฒแม้แต่น้อย แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นตำนานที่ไม่ทราบว่าจริงเท็จอย่างไร แต่อย่างน้อยพระมหานามะผู้ประพันธ์คัมภีร์มหาวงศ์คงจะคิดเช่นนั้นจริงๆ

ที่สำคัญ ในตอนจบของคัมภีร์มหาวงศ์เล่าว่า เมื่อพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยใกล้จะสวรรคตก็ทรงเห็นเทวดานำราชรถมารอรับถึงหกคันจากสวรรค์ชั้นต่างๆ (เรียกว่ามาแย่งตัวกันเลยทีเดียว)

เมื่อสวรรคตแล้วก็ได้ไปจุติยังสวรรค์ชั้นดุสิตทันที เพราะกุศลสมภารที่ได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนานั่นเอง

 

ที่จริงตำนานฝ่ายเถรวาทของลังกายังมีเรื่องคล้ายๆ กันนี้อีก คือเรื่องพระเจ้าอโศกชำระพระศาสนาโดยสั่งให้อำมาตย์ไปบังคับให้พระลงอุโบสถ เพราะพวกพระเห็นว่ามีอลัชชี (ซึ่งหมายถึงพุทธศาสนานิกายอื่นๆ) ปะปนอยู่ในอารามของตน จึงไม่ยอมทำสังฆกรรมร่วมกัน อำมาตย์เผลอฆ่าพระที่ขัดขืนคำสั่งตน พระเจ้าอโศกทรงร้อนพระทัยว่าพระองค์ต้องรับบาปหรือไม่ พระอรหันต์โมคคัลลีบุตรติสสะเถระจึงปุจฉาว่าไม่ทรงมีบาปเพราะไม่มีเจตนาฆ่า แต่มีเจตนาดีในการรักษาพระศาสนา

แม้กรณีพระเจ้าอโศกจะต่างกับพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย แต่ก็แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ “พุทธศาสนา” นั่นเอง

การปกป้องพุทธศาสนาย่อมเป็นสิ่งที่เหนือกว่าอะไรทั้งหมด และภาระนี้เป็นภาระสำคัญของ “ธรรมราชา”

ดังนั้น กษัตริย์ในประเทศพุทธเถรวาทได้ใช้ความคิดนี้สร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองด้วยการแสดงพระองค์ว่าทรงปกป้องพระศาสนาหรือได้ทรงชำระพระศาสนาแล้ว

 

แม้แต่ในพม่า มีคนเล่าให้ผมฟังว่าผู้นำเผด็จการทหารพม่าเมื่อเข้ามามีอำนาจก็ต้องทำนุบำรุงวัดวาอาราม หรือสร้างวัดใหญ่โตและเจดีย์ใหม่ๆ เพื่อสร้างความนิยมในหมู่ศาสนิกชน แสดงให้คนเชื่อว่าอย่างน้อยๆ ก็ดีกว่าการปกครองแบบพวกฝรั่งมังค่าซึ่งอาจทำลายพระศาสนาตอนไหนก็ไม่รู้

การยกชูศาสนาหรือไม่ว่าอะไรก็ตามที่ถูกนิยามว่าเป็น “ความดี” ไว้เหนือสิ่งอื่นใด สุดท้ายก็จะทำให้ละเลยความเป็นมนุษย์ และพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อรับใช้ศาสนาหรือความดีสูงสุดนั้น ไม่ว่าเราจะต้องฆ่าแกงเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแค่ไหนก็ตาม

หากเราไม่ต้องการให้เหตุการณ์แบบหกตุลาเกิดขึ้นซ้ำ เราต้องไม่มีคนที่คิดแบบกิตติวุฑโฒหรือ “พระอรหันต์” องค์นั้นในมหาวงศ์อีกต่อไป

แต่จะเป็นไปได้ต่อเมื่อเราตระหนักว่า เพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดที่เราต้องถนอมรักษาไว้ ไม่ใช่ศาสนาหรือความเชื่อหรือสถาบันใดๆ

มองให้เห็นว่ามีส่วนใดในเรื่องเล่า ประเพณี คำสอนหรือท่าทีของศาสนาที่จะเป็นอุปสรรคต่อความรักในเพื่อนมนุษย์ เราพึงแยกแยะแล้วเลือกเฟ้นด้วยความรอบคอบหรือทิ้งไปหากจำเป็น

เหมือนที่องค์ทะไลลามะตรัสว่า ศาสนาที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันคือ

ความรัก