จรัญ มะลูลีม : กวีนิพนธ์และภาษาอาหรับ (1) – “จุดกำเนิด”

จรัญ มะลูลีม

ภาษาอาหรับแพร่ขยายไปพร้อมๆ กับศาสนาอิสลาม หรือในบางแห่งก็แพร่ขยายไปก่อนอิสลามก็มี ที่ตอนในของซีเรียและอิรักตะวันตกนั้น ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาอาหรับอยู่แล้วในตอนที่มุสลิมเข้าพิชิตเมืองใหม่ๆ พร้อมกับประชากรที่อพยพเข้ามาและรัฐบาลของพวกเขามีชาวอาหรับอยู่มากและทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ขยายภาษาออกไปอย่างกว้างขวาง

ภาษาอาหรับได้แพร่ขยายออกไปทั้งในฐานะที่เป็นภาษาพูด เป็นภาษาท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาเดิมที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน และในฐานะที่เป็นภาษาเขียนในรูปแบบที่มีเอกภาพและยังคงได้รับการสืบทอดต่อไปโดยพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ซึ่งถูกส่งลงมาเป็นภาษาอาหรับ

ในด้านที่เกี่ยวกับภาษาพูดนั้น ภาษาอาหรับได้เข้ามาปะทะกับพรมแดนในอิหร่านซึ่งยังคงมีการใช้ภาษาเปอร์เซียอยู่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภาษาอาหรับมิได้พบเครื่องกั้นพรมแดนอะไรภายในโลกอิสลาม

ศาสนาได้นำเอาภาษามากับศาสนาด้วย ผู้เปลี่ยนศาสนาที่มิได้มีเชื้อสายอาหรับ โดยเฉพาะชาวอิหร่านก็อ่านกุรอานด้วยภาษาอาหรับและได้เป็นส่วนสำคัญในการอธิบายระบบความคิดและกฎหมายซึ่งได้มาจากกุรอานให้ชัดเจนขึ้น

ส่วนผู้ที่มิได้เปลี่ยนศาสนาก็ยังคงใช้ภาษาของพวกเขาอยู่ต่อไป เพื่อความมุ่งหมายทางศาสนาและวรรณกรรม คือพิธีสวดของคริสตจักรตะวันออกบางแห่งยังคงเป็นภาษาซีรีแอกและคอปติก ส่วนภาษาฮิบรูและอารามาอิกนั้นเป็นภาษาในการสักการบูชาและภาษาในความรู้ทางศาสนาของชาวยิว

ตัวอักษรของผู้นับถือลัทธิโซโรแอสเตอร์ได้เป็นรูปเป็นร่างขั้นสุดท้ายในภาษาปาห์ลาวี อันเป็นรูปแบบของภาษาเปอร์เซียที่ใช้ก่อนการพิชิตของชาวมุสลิมหรือหลังการเข้ามาของอิสลาม

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ที่นี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ภาษาอาหรับกลายเป็นภาษาสำหรับแสดงความเคารพสักการะและเป็นภาษาในวรรณกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาในคริสตจักรตะวันออกบางแห่ง ชาวยิวในสเปนก็ใช้ภาษาอาหรับสำหรับเรื่องราวทางปรัชญาวิทยาศาสตร์และกวีนิพนธ์

 

การยับยั้งอย่างจริงจังต่อการแผ่ขยายของภาษาอาหรับเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่เก้าเมื่อภาษาเปอร์เซียเริ่มปรากฏตัวขึ้นมาเป็นภาษาทางวรรณกรรมในรูปแบบที่เป็นอิสลาม แต่ในอิหร่านภาษาอาหรับยังคงเป็นภาษาหลักในความรู้ทางศาสนาและกฎหมายอยู่ด้วย

ดังนั้น ในการเขียนของสมัยดังกล่าวคำบางคำเช่น คำว่า “อาหรับ” และ “ภาษาอาหรับ” จะมีความหมายกว้างขวางจนบดบังคำเก่าแก่เสียหมด

คำเหล่านี้อาจพาดพิงถึงผู้ที่ต้นกำเนิดของพวกเขาอยู่ในคาบสมุทรอาหรับ โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่สามารถอ้างว่าตนเป็นของชนเผ่าเร่ร่อนต่างๆ ที่มีประเพณีชอบสู้รบ หรือมันอาจใช้ในการติดต่อกับคนเหล่านั้นที่มาจากโมร็อกโกและสเปนไปจนถึงพรมแดนของอิหร่าน ผู้ซึ่งรับเอาภาษาอาหรับมาเป็นภาษาในชีวิตประจำวันของพวกเขา

หรืออีกอย่างหนึ่งคำเหล่านี้อาจขยายออกไปไกลกว่านั้น จนรวมถึงผู้ที่ภาษาอาหรับได้กลายเป็นสื่อสำคัญในการแสดงออกถึงวัฒนธรรมทางวรรณกรรมอันสูงส่งด้วย

ภายใต้ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyah) หรือที่ตะวันตกเรียกว่าอุมัยยาด (Umayyad) ประเพณีการแต่งบทกวียังคงรุ่งเรืองอยู่ต่อไปและกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสมัยแรกยังคงเป็นชาวอาหรับเชื้อสายเบดูอินคืออัคตัล (Akhtal) ฟาราชด๊าก (Farazdaq) และญารีร (Jarir)

อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างในเรื่องของการอุปถัมภ์จากราชสำนักคือของราชวงศ์อุมัยยะฮ์เองในกรุงดามัสกัส และรวมถึงพวกผู้นำชาวเผ่าที่มีอำนาจด้วย

คนเหล่านี้ได้ขยายระยะทางทางภูมิศาสตร์ของกวีนิพนธ์ออกไปและยังชอบเปลี่ยนลักษณะของมันอีกด้วย การยกย่องสรรเสริญผู้ปกครองและผู้มีอำนาจอย่างมากมายกลายเป็นสิ่งที่เด่นมากขึ้น

และในเวลาเดียวกัน กาซัล (qhazal) คือบทกวีรักก็ได้กลายเป็นเรื่องส่วนตัวมากขึ้นเช่นกัน

ในสมัยหลังของราชวงศ์อุมัยยะฮ์และในสมัยต้นของการปกครองของราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ (Abbasiyah) หรือที่ตะวันตกเรียกอับบาสิด (Abbasid) นั้น การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นมูลฐานมากขึ้นได้เกิดขึ้น การเข้ามาของอิสลามได้เปลี่ยนแปลงทรรศนะซึ่งประชาชนมีต่อภาษาอาหรับ

 

กุรอานเป็นคัมภีร์เล่มแรกที่ใช้ภาษาอาหรับและชาวมุสลิมเชื่อว่ากุรอานเป็นภาษาที่ได้รับการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้า กุรอานถูกกล่าวด้วยภาษาชั้นสูงซึ่งเคยเป็นภาษาที่ใช้แต่งบทกวีเมื่อก่อนนี้ แต่บัดนี้ถูกใช้ด้วยความมุ่งหมายที่แตกต่างออกไป

มันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ที่ยอมรับกุรอานว่าเป็นพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าที่จะต้องเข้าใจภาษาในกุรอาน สำหรับพวกเขา บทกวีสมัยโบราณมิได้เป็นเพียงที่พึ่งพิงหรือดิวานของชาวอาหรับเท่านั้น แต่ยังเป็นบรรทัดฐานของภาษาที่ถูกต้องอีกด้วย

บัดนี้ภาษาอาหรับได้กลายเป็นสื่อของการแสดงออกไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่มาจากอาณาจักรต่างๆ ของคาบสมุทรอาระเบียเท่านั้น

แต่สำหรับผู้ที่มีเชื้อสายอื่นๆ ที่ยอมรับศาสนาอิสลามหรือผู้ที่อย่างน้อยก็จำเป็นที่จะใช้ภาษาเพื่อความมุ่งหมายของงานหรือชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับข้าราชการชาวเปอร์เซียและอื่นๆ ที่ทำงานให้แก่ผู้ปกครองใหม่อีกด้วย

ศูนย์กลางแห่งกิจการทางวรรณกรรมได้ย้ายไปจากเมืองที่มีแหล่งน้ำหรือโอเอซิสและมีการตั้งค่ายของชนเผ่าไปยังเมืองใหม่ๆ คือบัศเราะฮ์และคูฟะฮ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอิรักก่อน ครั้นแล้วก็ไปยังนครแบกแดด (บัฆดาด) อันเป็นเมืองหลวงใหม่ของอาณาจักร

สิ่งแวดล้อมทางวรรณกรรมได้เปลี่ยนแปลงและขยายตัวออกไป จนรวมเอาเคาะลีฟะฮ์ (กาหลิป) หรือผู้ปกครองและข้าราชสำนักของพระองค์ ข้าราชการชั้นสูงและชนชั้นนำใหม่ๆ ในเมืองที่มีเชื้อสายผสมด้วย ถึงแม้ว่าการฝึกฝนการแต่งบทกวีด้วยวาจาและการอ่านบทกวียังคงมีอยู่ต่อไปด้วยดี แต่งานวรรณกรรมก็เริ่มใช้วิธีเขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษร และจากตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่เก้าการเผยแพร่งานเขียนได้รับการสนับสนุนด้วยการนำเอากระดาษมาใช้

แต่เดิมมีการใช้กระดาษปาปิรัสและแผ่นหนัง แต่ในระยะหลังของคริสต์ศตวรรษที่แปด ได้มีการนำเอาเทคนิคการทำกระดาษมาจากประเทศจีน มีการผลิตครั้งแรกในคูรอซาน (อิรักในปัจจุบัน) แล้วขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของอาณาจักร และในตอนกลางของคริสต์ศตวรรษที่สิบ

กระดาษที่ผลิตขึ้นนี้ก็ได้เข้ามาแทนที่กระดาษปาปิรัสไม่มากก็น้อย

 

นับเป็นผลตามธรรมชาติของการเผยแพร่ของภาษาอาหรับที่ผู้ใช้ภาษานั้นบางคนจะต้องมีความปรารถนาที่จะเข้าใจมัน ศาสตร์ของภาษาจึงถูกสร้างขึ้นอย่างกว้างขวางสำหรับผู้ที่ต้องใช้ภาษาอาหรับ ดังนั้น พวกเขาจึงต้องคิดถึงเรื่องภาษานี้

การเขียนพจนานุกรมอันเป็นการรวบรวมและจำแนกถ้อยคำต่างๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิชาการที่เข้าไปในตลาดที่มีชาวเบดูอินเข้ามาอยู่บ่อยครั้ง

ไวยากรณ์ที่กล่าวถึงการใช้ภาษาอาหรับได้รับการอธิบายอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกโดยผู้ทีมิใช่ชาวอาหรับ คือซิบาเวห์ (Sibawayh-เสียชีวิต ค.ศ.793) งานในสมัยต่อมาทั้งหมดก็ได้มาจากงานเขียนของเขา แรงกระตุ้นเช่นเดียวกันทำให้นักวิชาการทั้งหลายรวบรวมและศึกษาบทกวีโบราณของชาวอาระเบีย

พวกเขาคงจะเปลี่ยนแปลงบทกวีเหล่านั้นไปบ้างในระหว่างที่รวบรวมเรียบเรียงบทกวีเหล่านั้น และในเวลาเดียวกันก็มีการต่อเติมรูปแบบที่เป็นหลักการของการแต่งบทกวีให้ซับซ้อนมากขึ้น

และสิ่งเหล่านี้คงต้องมีอิทธิพลอย่างมากต่อนักกวีในเวลาต่อมา