แมลงวันในไร่ส้ม / รัฐงัดมุขเดิม-เปิดสภา ถกปัญหาวิกฤต ม็อบเมิน-ลุยดาวกระจาย

แมลงวันในไร่ส้ม

รัฐงัดมุขเดิม-เปิดสภา

ถกปัญหาวิกฤต

ม็อบเมิน-ลุยดาวกระจาย

 

การชุมนุมของกลุ่มเยาวชน-ประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร 2563” ซึ่งต่อมาตัดเหลือเพียงคำว่า “ราษฎร” รอบนี้ เริ่มจากวันที่ 14 ตุลาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

ไฮไลต์ของวันที่ 14 ตุลาคม คือการยกขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและตั้งเวทีอภิปราย แล้วประกาศสลายการชุมนุม นัดหมายพบกันในวันที่ 15 ตุลาคม ที่ราชประสงค์

รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลา 04 น.เศษ ของวันที่ 15 ตุลาคม

จากนั้นกำลังตำรวจเข้ายึดพื้นที่คืน แต่ผู้ชุมนุมในเวลานั้นเหลืออยู่ไม่มากนักจึงสลายตัวออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แกนนำจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวคือ นายอานนท์ นำภา และเพนกวิน หรือนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง และนายประสิทธิ์ อุธาโรจน์

เย็นวันรุ่งขึ้น 15 ตุลาคม ผู้ชุมนุมหลั่งไหลไปที่แยกราชประสงค์จำนวนมาก ส่วนมากเป็นเยาวชน-ประชาชน เป็นการแสดงพลังให้เห็นอีกครั้ง

วันรุ่งขึ้น 16 ตุลาคม ผู้ชุมนุมสับขาหลอก เพราะออกข่าวเหมือนกับจะไปชุมนุมที่ราชประสงค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจนำเอาแบริเออร์ไปวางสกัด แต่สุดท้ายผู้ชุมนุมไปที่แยกปทุมวัน โดยใช้เวลาไม่นาน ผู้ชุมนุมก็เต็มพื้นที่

ทางตำรวจใช้ ตชด.จาก จ.ตาก พร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนเดินเข้ายึดพื้นที่คืน โดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง 2 คัน ฉีดไล่ เหตุการณ์นี้ถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และไลฟ์สตรีมมิ่งของเฟซบุ๊ก ทำให้เห็นว่าผู้ชุมนุมมีเพียงสองมือเปล่า พยายามกางร่มต้านทานเพื่อชุมนุมในพื้นที่ แต่สู้แรงน้ำไม่ได้ สุดท้ายสลายตัวจากแยกปทุมวัน

การสลายม็อบรอบนี้ ทำให้รัฐบาลถูกประณามอย่างหนัก โดยชี้ว่า แม้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องสลายการชุมนุม เพราะไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง

และยิ่งทำให้มีผู้เข้าชุมนุมมากขึ้น

ในระหว่างการชุมนุมแต่ละวัน ปรากฏว่ามีแกนนำถูกควบคุมตัว ทำให้การชุมนุมในวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งเกิดขึ้นหลายจุดใน กทม.ที่เรียกว่าดาวกระจาย เป็นการชุมนุมแบบเป็นไปเอง ไม่มีแกนนำ ไม่มีการตั้งเวที โดยมีจุดใหญ่ๆ คือ ห้าแยกลาดพร้าว วงเวียนใหญ่ และแยกบางนา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถานีรถไฟฟ้า

มีการแจกจ่ายหมวกกันน็อกและแว่นตา เตรียมรับมือกับรถฉีดน้ำอย่างเต็มที่

วันที่ 18 ตุลาคม ยังคงมีการชุมนุมแบบดาวกระจาย โดยจุดใหญ่คืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และแยกอโศก

วันที่ 19 ตุลาคม ดาวกระจาย โดยมีจุดใหญ่ ได้แก่ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, แยก ม.เกษตรศาสตร์ และสถานี MRT กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี ขณะที่ในต่างจังหวัดก็มีการชุมนุมในหลายจังหวัด

 

การปรากฏของม็อบต่อเนื่องกันหลายวัน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยมีเยาวชน-ประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก และมีลักษณะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลเริ่มหาทางผ่อนคลาย

และย้อนกลับไปที่เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่วิปรัฐบาลและวุฒิสภาให้ตั้งกรรมาธิการมาศึกษาก่อนรับหลักการ 30 วัน และขอขยายเวลาอีก 15 วัน และคาดว่าจะต้องลงมติหลังเปิดสมัยประชุม 1 พฤศจิกายน

เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ชุมนุมที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อเสนอใหม่จากพรรคการเมืองก็คือ เห็นว่าควรจะเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญทันที แม้ว่าสมัยประชุมสามัญจะเริ่มต้นในวันที่ 1 พฤศจิกายนก็ตาม

โดยให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเปิดการอภิปรายทั่วไป รับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาโดยไม่ลงมติ เพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกให้กับสถานการณ์ทางการเมือง และหลังจากได้รับฟังความคิดเห็นต่างๆ แล้ว ควรจะตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมาธิการไปรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ส.ว. และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม

วันที่ 19 ตุลาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมหารือระหว่างตัวแทนพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี มีมติให้มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในหนังสือเพื่อส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอให้ ครม.มีมติเห็นชอบตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสอภิปรายแสดงความคิดเห็นและชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และลดปัญหาข้อขัดแย้ง

วันที่ 20 ตุลาคม ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 เพื่อให้ทุกฝ่ายมีโอกาสอภิปรายแสดงความคิดเห็นและชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และลดปัญหาข้อขัดแย้ง ตามมาตรา 165

และมีกระแสข่าวว่า น่าจะมีการประชุมในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ โดยเลื่อนการประชุม ครม.ไปเป็นวันพุธที่ 28 ตุลาคม

 

การชุมนุมของม็อบราษฎรที่เกิดขึ้นเป็นรายวัน มีจำนวนผู้เข้าร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนมัธยม กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

โดยเฉพาะบรรดาผู้อาวุโส บางกลุ่มแสดงอาการข้องใจต่อการออกมาเคลื่อนไหวของนักเรียน ไม่เชื่อว่านักเรียนอายุน้อยๆ จะมีความคิดทางการเมืองแหลมคม ถึงขนาดออกมาวิจารณ์การเมืองและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตา เพราะนักเรียนในหลายโรงเรียนได้จัดกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย ชูสามนิ้วหน้าเสาธง ขณะที่โรงเรียนพยายามห้ามปราม จนเกิดปะทะกับครูอาจารย์ในหลายโรงเรียน

ที่น่าสนใจก็คือ การเคลื่อนไหวของเยาวชน-ประชาชนในครั้งนี้มุ่งเรียกร้องตรงไปยังรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาเลือกตั้ง หรือการให้นายกรัฐมนตรีลาออก

รัฐบาลมีท่าทีจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายใช้วิธียื้อเวลา สร้างขั้นตอนขึ้นมาทำให้เรื่องยืดยาวออกไป

ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเลิกสนใจ หันไปให้ความสำคัญกับการจัดชุมนุมดาวกระจายที่แพร่ขยายไปเรื่อยๆ

การเปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญอาจได้รับความสนใจจากประชาชนบางส่วน แต่สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่น้อย อาจเห็นว่าเป็นมุขซื้อเวลาแบบเดิมๆ

การเกิดขึ้นของม็อบ “ราษฎร” ถือว่าได้ยกระดับเปลี่ยนแปลงวิธีการเคลื่อนไหวที่ผิดแผกแตกต่างจากเดิมมากจริงๆ