ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์ / TESLA ‘วิสัยทัศน์’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

TESLA

‘วิสัยทัศน์’

กำกับการแสดง Michael Almereyda

นำแสดง Ethan Hawke Eve Hawson Kyle MacLachlan Jim Graffigan Rebecca Dayan

Donnie Kwshawarz

 

“นิโคลา เทสลา” เป็นนักประดิษฐ์ วิศวกรไฟฟ้า และวิศวกรเครื่องกลผู้มีวิสัยทัศน์ยิ่งใหญ่ก้าวไกลสู่ความเป็นไปได้มากมายของโลกอนาคต

เทสลาเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบียที่อพยพมาจากออสเตรียตั้งแต่ยังหนุ่ม และเริ่มทำงานในบริษัทของโทมัส เอดิสัน ผู้คิดค้นกระแสไฟฟ้าให้โลกใช้ ผลิตหลอดไฟสำหรับบ้านเรือนและส่องให้โลกทั้งใบสว่างระยิบระยับขึ้นในยามราตรี

ทำงานอยู่กับเอดิสันได้ไม่เท่าไร เทสลาก็ออกไปทำงานเป็นเอกเทศและตั้งบริษัทในชื่อของตัวเอง โดยผิดใจกับเอดิสัน ซึ่งเขาอ้างว่าไม่ยอมจ่ายค่ามันสมองในการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เขาเป็นเงินห้าหมื่นดอลลาร์

และเทสลาผงาดขึ้นเป็นคู่แข่งคนสำคัญของเอดิสันต่อมา เมื่อเขาคิดค้นกระแสไฟฟ้าสลับ (AC) ขณะที่ไฟฟ้าที่เอดิสันคิดขึ้นเป็นกระแสตรง (DC) ซึ่งมีปัญหาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการผลิตมากกว่าอย่างมหาศาล

ไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้เป็นกระแสสลับตามแบบของเทสลา

เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคที่ไฟฟ้าเพิ่งจะก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คน และพลิกวิถีชีวิตในหลายรูปหลายแบบไป รวมทั้งการประหารชีวิตนักโทษด้วยการชอร์ตไฟฟ้า แทนที่การแขวนคอ

และเอดิสันถูกเรียกตัวให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าเป็นครั้งแรก

 

หนังเป็นชีวประวัติของเทสลา ซึ่งเล่าด้วยวิธีการผิดเพี้ยนและหลุดสมัยพอควรโดยแอนน์ มอร์แกน (อีฟ ฮอว์สัน) ลูกสาวคนสวยของเจ.พี. มอร์แกน นักการเงินและนายธนาคารผู้มั่งคั่ง

แอนน์ดูจะมีใจมุ่งหวังในตัวชายหนุ่มผู้ทำท่าว่าจะมีอนาคตไกล แต่เทสลาก็ไม่ได้แต่งงานกับใครตลอดชีวิต ได้แต่ทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์พันลึกต่างๆ ที่เกิดจากวิสัยทัศน์ที่เขามองเห็นโลกและจักรวาล

หนังเริ่มด้วยฉากการพูดคุยระหว่างแอนน์กับเทสลาในบ้านอันอัครฐานของเธอ ซึ่งมีคนรับใช้รายล้อมคอยเสิร์ฟน้ำชา และนักดนตรีบรรเลงเพลงขับกล่อม ฉากนี้ทุกคนสวมรองเท้าโรลเลอร์สเก๊ต ลื่นไหลไปมาบนล้อที่หมุนไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้เหยียบพื้นอย่างมั่นคงนัก

นี่คือตัวอย่างของการเล่าเรื่องแบบผิดยุคและไม่เป็นไปตามขนบอย่างหนึ่ง อีกตัวอย่างคือแอนน์ใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กท่ามกลางบรรยากาศย้อนยุคในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และบอกว่าถ้ากูเกิลค้นหาชื่อของเทสลา จะปรากฏผลลัพธ์จำนวนเพียงครึ่งเดียวของชื่อของโทมัส เอดิสัน และมีรูปถ่ายมัวๆ เพียงไม่กี่รูปของตัวเขาเท่านั้น

ลักษณะการนำเสนอยังใช้หลายสิ่งหลายอย่างที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงของยุคสมัย เช่น ฉากหลังของตัวละครบางฉากเป็นภาพวาดแบบเหมือนจริง แต่ก็ยังพอดูออกว่าไม่ใช่ทิวทัศน์จริง

 

เล่าๆ เรื่องไปแล้ว ผู้เล่าก็บอกว่าเรื่องตอนนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นแบบนั้นหรอก เช่น ตอนที่เทสลาท้าทายเอดิสันที่ติดหนี้เขาอยู่ก้อนโต ด้วยการเอาไอศกรีมโคนที่กำลังกินอยู่ป้ายไปที่เสื้อชุดโก้ของเอดิสัน และเอดิสันก็โต้ตอบด้วยการทำอย่างเดียวกัน

อัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่สองคนกำลังเผชิญหน้ากันเหมือนเด็กที่หมดปัญญาจะสู้กันด้วยวิธีของอารยชน จนต้องหาเรื่องแกล้งกันซึ่งๆ หน้า

นอกจากนั้น หนังยังเน้นที่การใช้บทพูดเล่าเรื่องอย่างน่าสังเกต ตอนแรกที่ดูผู้เขียนนึกตงิดๆ อยู่ว่าคล้ายจะเป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากละครเวทีซะละมัง แต่ก็ไม่ใช่หรอกค่ะ นี่เป็นหนังที่มีลักษณะของละครเวที (theatrical) อยู่มาก

แถมท้ายที่สุดมีฉากหลุดเรื่องซึ่งสรุปเรื่องราวทั้งหมดอยู่ในตอนที่อีธาน ฮอว์ก ในรูปลักษณ์ย้อนยุคของนิโคลา เทสลา จับไมโครโฟนแบบคนที่เพิ่งขึ้นเวทีไป และร้องออกมาเป็นเพลงในทำนองคาราโอเกะ เป็นเพลงชื่อ Everybody Wants to Rule the World ซึ่งเคยเป็นเพลงฮิตของวง Tears for Fears อยู่ในทศวรรษ 1980

แอนน์เปรยขึ้นในลักษณะของการวิจารณ์เทสลาว่า “อุดมคติเดินไปเคียงคู่กับทุนนิยมไม่ได้หรอก” เทสลาเป็นนักอุดมคติ และความฝันของเขาพาเขาเตลิดไปไกลอยู่บ่อยๆ ซึ่งทำให้เขาใช้เงินเกินตัวไปกับโปรเจ็กต์ซึ่งขยายต่อไปเรื่อยๆ

เขาไม่ใช่นักธุรกิจ ซึ่งทำให้เขายอมฉีกสัญญากับจอร์จ เวสติ้งเฮาส์ แห่งบริษัทเวสติ้งเฮาส์อิเล็กทริกที่กำลังซวดเซ โดยไม่ไยดีกับเงินจำนวนมหาศาลที่เขาจะต้องได้รับเป็นค่าสิทธิบัตร

และทำโปรเจ็กต์สำคัญให้เจ.พี. มอร์แกน ไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการสื่อสารไร้สายเชื่อมต่อกับทุกหนทุกแห่งทั่วโลก เนื่องจากเขานึกฝันจะขยายโครงการออกไปนอกโลกจนถึงดาวอังคาร เป็นต้น

นวัตกรรมของนิโคลา เทสลา ยังมีอีกมากมาย เช่น เครื่องกลเหนี่ยวนำไฟฟ้า การทดลองแบบเอ็กซเรย์ รีโมตคอนโทรล ไฟนีออน ฯลฯ

 

ในหนังของคริสโตเฟอร์ โนแลน เรื่อง The Prestige (Hugh Jackman, Christian Bale) ซึ่งเป็นเรื่องของนักมายากลคู่แข่งที่ชิงกันสร้างกลที่จะสร้างความตื่นตะลึงแก่ชาวโลก ซึ่งเป็นมากกว่าภาพลวงตา มีตัวละครชื่อ เทสลา (เดวิด โบวี่) เป็นนักประดิษฐ์ที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์ที่จะย้ายวัตถุจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ในพริบตา

และยังมีหนังอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวโยงกับเรื่องราวของเทสลา เท่าที่นึกออกก็คือ เมื่อไม่นานมานี้มีหนังชื่อ The Current War ซึ่งเป็นชื่อซึ่งมีความหมายตรงตัวเลย คือการต่อสู้ชิงชัยในสมรภูมิด้านกระแสไฟฟ้า หนังเรื่องนี้มีนิโคลัส โฮลต์ เล่นเป็นเทสลาอัจฉริยะผู้ไม่ชอบสุงสิงกับใคร

ย้อนกลับไปถึงผลงานเรื่องก่อนของผู้กำกับฯ ไมเคิล อัลเมเรย์ดา ที่ยังจำได้ดี คือ Hamlet (2000) ซึ่งมีอีธาน ฮอว์ก เล่นเป็นแฮมเล็ตในยุคสมัยใหม่ ที่ไม่ใช่เจ้าชายแห่งเดนมาร์กเหมือนในบทละครดั้งเดิมของเช็กสเปียร์ แต่เป็นนักศึกษาการภาพยนตร์ที่ถูกเรียกตัวกลับมายังอาณาจักรบริษัทของพ่อที่เพิ่งตายอย่างเป็นปริศนา

ส่วนในเรื่องของ Tesla แม้จะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่นำเสนออย่างน่าสนใจพอควร แต่ก็ไม่ใช่หนังที่จับใจนัก

อาจเป็นเพราะเรื่องราวชีวิตของนิโคลา เทสลา นั้นอาจน่าสนใจน้อยกว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เขามอบเป็นมรดกไว้แก่โลก