‘จองเปรียง’ พิธีบูชาไฟ สมัยอยุธยา ชักโคม และลดชุด | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ชักโคมขึ้นยอดเสาที่บ้านพราหมณ์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดร วาดสมัย ร.3 บนผนังหลังพระประธานโบสถ์วัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ (ลายเส้นคัดลอกโดย ธัชชัย ยอดพิชัย นิตยสารศิลปวัฒนธรรม)

“จองเปรียง” เป็นพิธีบูชาไฟถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา เมื่อสมัยอยุธยาทำโดยชักโคมและลดชุด แล้วกำหนดให้มีในเดือน 12 (ราวตุลาคม-พฤศจิกายน) ทั้งนี้ ได้ต้นแบบจาก “ทิวาลี” พิธีบูชาไฟของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย

กฎมณเฑียรบาล สมัยอยุธยาตอนต้น ระบุว่าเดือน 12 มีพิธี “จองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำ” โดยทั่วไปเข้าใจว่าเป็นพิธีเดียวกันทั้งหมด

ครั้นศึกษาตรวจสอบใหม่จึงพบว่าเป็นพิธีมี 2 กิจกรรมในคราวเดียวกัน ได้แก่ (1.) จองเปรียงลดชุด ซึ่งทำบนบก (ไม่ลงน้ำ) และ (2.) ลอยโคมลงน้ำ หมายถึง ลอยโคมทำลงน้ำ (ไม่บนบก)

คราวนี้เป็นเรื่องจองเปรียงลดชุด ส่วนลอยโคมลงน้ำเป็นคราวหน้า

 

จองเปรียงและลดชุด

“จองเปรียงลดชุด” ในกฎมณเฑียรบาล มีกิจกรรม 2 อย่าง ได้แก่ จองเปรียงอย่างหนึ่ง กับลดชุดอีกอย่างหนึ่ง

จองเปรียง หมายถึง โคมมีชุดดวงไฟได้จากจุดเผาน้ำมันเนย แล้วชักด้วยสายรอกยกโคมไฟขึ้นแขวนยอดเสา

[จองเปรียง หมายถึง ดวงไฟตามประทีปสว่างไสวที่ได้จากการจุดไฟเผาน้ำมันเนย จอง มาจากคำเขมรว่า “จง” (อ่าน จอง) แปลว่า ผูก, โยง ในที่นี้หมายถึงดูแลประคับประคองให้มีแสงสว่าง เช่น เลี้ยงไฟไม่ให้ดับ ตรงกับ “ตาม” ในคำว่า “ตามไฟ” (ผู้รู้ภาษามอญว่าจอง แปลว่า เผา) เปรียง มาจากคำเขมรว่า “เปฺรง” (อ่านว่า เปรง) แปลว่า น้ำมัน ในที่นี้หมายถึงน้ำมันเนยที่ได้จากนมเปรี้ยว (จากน้ำนมของวัว, ควาย) ผสมน้ำแล้วเจียวให้แตกมัน (ในอินเดียเรียก ฆี)]

ลดชุด หมายถึง เครื่องจองเปรียงลดขนาดเล็กลง เพื่อจัดวางเรียงเป็นแถวเป็นแนวเรียก “ตามไฟ” ในช่องที่เจาะไว้ตามผนังกำแพงเมือง-กำแพงวัง

[คำว่า “ลดชุด” คืออะไร? หมายถึงอะไร? ยังหาไม่พบนิยามหรือคำอธิบายตรงๆ ในแง่ศัพท์ ลดชุด หมายถึง เครื่องจองเปรียงลดขนาดลง (คำว่า “ลด” หมายถึง ทำให้น้อยลง ส่วน “ชุด” หมายถึง ของที่คุมเข้าเป็นสำรับ) ชวนสันนิษฐานว่าลดชุด หมายถึงลดขนาดจองเปรียงซึ่งเป็นชุดจุดโคมดวงไฟให้เล็กลงเพื่อจัดวางตามช่องที่เจาะไว้เรียก “ตามไฟ” บนผนังกำแพงเมืองและกำแพงวัง ทั้งนี้ตามที่พบคำบอกเล่าของลาลูแบร์เมื่อต้องเดินทางน้ำด้วยเรือหลวงไปเฝ้าพระนารายณ์ ซึ่งประทับอยู่เมืองละโว้ (ลพบุรี) ว่า ช่วงเทศกาลเดือน 12 มีตามไฟดวงประทีปสว่างไสวตามกำแพงเมืองและกำแพงวัง (ซึ่งน่าจะมีอย่างเดียวกันในเกาะเมืองอยุธยา) ดังนี้ “ครั้งแรกที่เราไปถึงเมืองละโว้นั้นเป็นเวลากลางคืน พอดีกับคราวตามประทีปนั้น และเราได้เห็นกำแพงเมืองตามประทีปโคมไฟสว่างไสวรายเรียงอยู่เป็นระยะๆ แต่ภายในพระบรมมหาราชวังนั้นยังงดงามยิ่งขึ้นไปอีก ในกำแพงแก้วที่ล้อมพระราชฐานนั้นมีซุ้มช่องกุฏิ 3 แถวโดยรอบ แต่ละช่องมีประทีปดวงหนึ่งตามไฟไว้”

(จากหนังสือ จดหมายเหตุลาลูแบร์ฯ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 215-216)]

 

ของหลวง-ของราษฎร์

จองเปรียงเป็นพิธีชักโคม มีทั้งของหลวงและของราษฎร์พร้อมกันทั่วพระนคร

โคมชักเหล่านั้นแขวนบนปลายไม้ตลอดฤดูชักโคมจองเปรียง โดยไม่ปลดลงลอยน้ำ เพราะขณะมีชักโคมก็มีลอยโคมเต็มท้องน้ำไปด้วยคราวเดียวกัน (หลักฐานยืนยันนี้อยู่ในจดหมายเหตุของทูตลังกา)

ของหลวง พบในกฎมณเฑียรบาลระบุว่ามีตั้งระทาดอกไม้ 4 ระทา หนังใหญ่ 2 โรง บนพื้นที่ 2 แห่ง ที่ท้องพระเมรุกับที่วัดพุทไธศวรรย์

(1.) ท้องพระเมรุ พื้นที่ “ผีบรรพชน” สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพบุรพกษัตริยาธิราช อยู่นอกกำแพงวังหลวงอยุธยาด้านทิศใต้ (ปัจจุบันอยู่หน้าวิหารพระมงคลบพิตร) และ

(2.) วัดพุทไธศวรรย์ พื้นที่ “ผีบรรพชน” เพราะเดิมเป็นที่ตั้ง “เวียงเหล็ก” ของพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเป็นวีรบุรุษในตำนาน เสมือน “เทพบิดร” ของกษัตริย์อยุธยาวงศ์สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) อยู่นอกเกาะเมืองด้านทิศใต้

ของราษฎร์ พบหลักฐานเป็นเอกสารและภาพจิตรกรรม ดังนี้

  1. แต่งโคมจุดไฟจากน้ำมันเนย แล้วชักโคมด้วยรอกขึ้นยอดเสาตามชุมชนบนบกและริมแม่น้ำลำคลองในพระนคร บรรดาหญิงชายบ้างก็ล่องเรือร่วมกันร้องรำทำเพลงเฉลิมฉลองสนุกสนานลั่นกลางพระนคร มีบอกในโคลงทวาทศมาส (โคลงดั้น) แต่งสมัยอยุธยาตอนต้น
  2. บันทึกของพระสงฆ์ลังกาเข้าไปในพระนครศรีอยุธยา อยู่ในหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพพรรณนาถึงพิธีชักโคมถูกแปลงเป็นพุทธ แล้วมีทำไว้ตามวัดริมแม่น้ำลำคลองรอบเกาะเมืองอยุธยา พบหลักฐานในจดหมายเหตุของทูตลังกาที่เดินทางถึงอยุธยาในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ว่า “ตามบรรดาวัดริมฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 ฟาก ทุกวัดต่างปักไม้ไผ่ลำยาวขึ้นเป็นเสา โน้มปลายไม้ลงมาผูกเชือกชักโคมต่างๆ”
  3. จิตรกรรมฝาผนัง สมัย ร.1 ในโบสถ์วัดสุวรรณาราม (ริมคลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ) เป็นหลักฐานว่าพิธีจองเปรียงสืบเนื่องถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แล้วเลิกไปสมัย ร.6 (ราวหลัง พ.ศ.2467)

 

พราหมณ์ถูกแปลงเป็นพุทธปนผี

จองเปรียงแต่เดิมเป็นพิธีพราหมณ์ในอินเดีย เรียก “ทิวาลี” แล้วบ้านเมืองในอุษาคเนย์รับมาดัดแปลงเป็นพิธีพุทธปนผี

“ทิวาลี” (ทีปาลี, ทีปาวลี) พิธีพราหมณ์บูชาไฟถวายพระวิษณุในอินเดีย เพื่อเฉลิมฉลองเริ่มฤดูเก็บเกี่ยว เป็นงานตามประทีปโคมไฟเป็นแถวเป็นแนวในคืนพระจันทร์เต็มดวงใกล้หมู่ดาวกฤติกา (ดาวลูกไก่) กลางเดือน 12 ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

แต่บางท้องถิ่นอาจอ้างว่าบูชาพระลักษมี (ชายาพระวิษณุ), บูชาพระกฤษณะ, บูชาพระราม หรือบูชามหาเทพองค์อื่นๆ อีกก็ได้ ส่วนรัฐเบงกอลอยู่ทางตะวันออกของอินเดีย งานทิวาลีมีชักโคมไฟกับจุดดอกไม้ไฟ (ชักโคมไฟ ขึ้นยอดเสาสูงๆ เรียงรายกลางย่านชุมชน หรือกลางหมู่บ้าน จุดดอกไม้ไฟ)

[“ทิวาลี” พิธีบูชาพระวิษณุ จากคำบอกเล่าเบื้องต้นของคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ส่วนข้อมูลประเพณีพิธีกรรมมีโดยพิสดารได้จากหนังสือ คนกับพระเจ้า ของ ผศ.ดร.พรหมศักดิ์ เจิมสวัสดิ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักพิมพ์โคมทอง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2523 หน้า 153-156]

จองเปรียงลดชุดเป็นพิธีมีก่อนสมัยอยุธยา ดังนั้นราชสำนักอยุธยาสืบเนื่องพิธีนี้จากบ้านเมืองดั้งเดิม เช่น เมืองพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชา เป็นรัฐก่อนสมัยอยุธยา มีพิธีจองเปรียงเดือน 12 ฉลองสิ้นฤดูกาลเก่า เริ่มฤดูกาลใหม่ (ปัจจุบันเรียกส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่) มีพรรณนาไว้โดยสรุปว่าหน้าพระราชวังหลวงของเมืองพระนครหลวงปลูกร้านใหญ่แล้วมีตามประทีปโคมไฟและดอกไม้ไฟ ครั้นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จถึงลานพิธี บรรดาพนักงานจุดดอกไม้ไฟและประทัด (ในหนังสือ บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ ของ โจวต้ากวาน แปลโดย เฉลิม ยงบุญเกิด สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2543 หน้า 25-26)

จองเปรียง ถูกดัดแปลงเป็นพิธีพุทธปนผีตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงสมัยอยุธยาตอนต้นจึงพบในกฎมณเฑียรบาลว่าทำพิธีในทุ่งพระเมรุกลางพระนคร กับที่วัดพุทไธศวรรย์ นอกกำแพงพระนคร

ชักโคมในพิธีจองเปรียงทำเพื่ออะไรในทางพุทธศาสนา? ไม่พบคำอธิบายสมัยอยุธยา แต่พบร่องรอยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในหนังสือเรื่องนางนพมาศ (แต่งสมัย ร.3) ว่าชักโคมบูชาพระมหาเกศธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

สมัยอยุธยาตอนต้นพิธีชักโคม “จองเปรียง” น่าจะมีความหมายเกี่ยวข้องหมดทั้งผี, พราหมณ์, พุทธ ซึ่งจับได้จากกฎมณเฑียรบาลพรรณนาโดยสรุปว่าเป็นพิธีมีที่ท้องพระเมรุ กับวัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ “ผีบรรพชน” ของกรุงศรีอยุธยา