E-DUANG : สถานการณ์ เคลื่อนไหว 14 ตุลาคม สถานการณ์ เคลื่อนไหว 21 ตุลาคม

ไม่ว่าปฏิบัติการคุกคามโดยการส่งเจ้าหน้าที่ติดตาม ประกบ แสดงตัวต่อเป้าหมาย ไม่ว่าปฏิบัติการจับกุม คุมขังเป้าหมาย

วัตถุประสงค์ก็เพื่อสร้างความหวาดกลัว และจำกัด กำจัดพื้นที่ในการเคลื่อนไหว

ยุทธศาสตร์สูงสุดก็เพื่อให้ยุติการเคลื่อนไหว ยุติการชุมนุม

คำถามก็คือ นับแต่มีการคุกคามการเคลื่อนไหวอย่างเด่นชัดและต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ยุทธวิธีนี้สามารถบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่วางหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจับกุมบุคคลซึ่งคิดและประเมินว่ามีบทบาทและดำรงอยู่ในสถานะอันเป็น”แกนนำ”

ไม่ว่าจะเป็น นายอานนท์ นำพา ไม่ว่าจะเป็น นายภาณุพงศ์ จาดนอก ไม่ว่าจะเป็น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์  ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ปภัสยา วัฒนสิทธิจิรกุล เป็นต้น

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วการเคลื่อนไหวสามารถยุติและหมด บทบาทลงหรือไม่

 

คำตอบเด่นชัดเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะนับแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม เป็นต้นมา

ประเดิมด้วยการเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมในวันเดียวกันและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคม

นับจากวันที่ 15 ตุลาคมเป็นต้นมา นายอานนท์ นำพา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกจับกุมไปแล้ว ตามมาด้วย น.ส.ปภัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

แต่การชุมนุมในวันที่ 17 ตุลาคม ณ ห้าแยกลาดพร้าวและจุดอื่นๆก็ดำเนินต่อไป การชุมนุมในวันที่ 18 ตุลาคม วันที่ 19 ตุลาคม ก็ยังดำเนินต่อไป

ไม่เพียงในกรุงเทพมหานครหากในขอบเขตทั่วประเทศ

สะท้อนให้เห็นว่า มวลชนสามารถขับเคลื่อนการชุมนุมต่อไปได้บนพื้นฐานที่”ทุกคนคือแกนนำ”

 

เมื่อมีการเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมายังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลได้ในวันที่ 14 ตุลาคม สถานการณ์เดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นอีกในวันที่ 21 ตุลาคม โดยมาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ทั้งยังยื่นคำขาดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก

นี่ย่อมเป็นการเคลื่อนไหวโดย”ราษฎร”ที่ทุกคนอยู่ในสถานะแห่ง”แกนนำ”ในทางเป็นจริง

นี่ย่อมเป็นประดิษฐ์กรรมใหม่ นวัตกรรมใหม่ในทางการเมือง