สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย Ep.14 จากปี 2531-2534

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“คณะนายทหารไทยมีภาพลักษณ์ของความเป็นนายทหารอนุรักษนิยมที่ยึดมั่นอยู่กับผลประโยชน์ของสถาบันทหาร โดยเฉพาะผลประโยชน์ของกลุ่มตนภายในกองทัพ”

Robert Pinkney (1990)

หลังจากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2531 ยุติลง และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธที่จะยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง

การปฏิเสธเช่นนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยตรง และกลายเป็นประตูที่เปิดให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างไม่คาดคิด

เพราะเนื่องจากการเมืองไทยนับตั้งแต่การล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และนำไปสู่การยึดอำนาจในวันดังกล่าวนั้น ส่งผลให้การเมืองอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำทหารอย่างชัดเจน แต่รูปแบบยุครัฐบาล “กึ่งประชาธิปไตย” ในสมัย พล.อ.เปรมก็เป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากยุคเก่า

การขึ้นสู่อำนาจของ พล.อ.เปรมอาศัยอำนาจในกองทัพ โดยเฉพาะความสนับสนุนของผู้นำทหาร “กลุ่มยังเติร์ก” เป็นฐานหลัก

ในอีกด้านก็เป็นรัฐบาลที่อาศัยพรรคการเมืองเข้ามาเป็นฐานอำนาจด้วย

การผสมผสานของฐานอำนาจเช่นนี้มีส่วนช่วยโดยตรงต่อการดำรงสภาพของความเป็น “ระบอบพันทาง” ให้สามารถดำรงอยู่ได้นานในการเมืองไทย

จนเป็นดัง “ตำนานยุคเปรม” ที่ผู้นำทหารอยู่ในการเมืองไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถลงจากการเมืองได้อย่าง “สวยงาม”

ดังนั้น เมื่อยุคเปรมสิ้นสุดลง ผู้นำจากพรรคการเมืองจึงมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกหลังจากเหตุการณ์ปี 2519 จึงเป็นเสมือนกับ “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย” ยกขึ้นสู่อีกระดับหนึ่ง

จนเป็นดังความหวังว่า การเดินทางสู่ประชาธิปไตยของการเมืองไทยกำลังเดินไปสู่ความสำเร็จ…

แน่นอนว่า นักประชาธิปไตยย่อมต้องมีความฝันเสมอ!

การเมือง-การทหาร

การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นพลเอก) ในฐานะของหัวหน้าพรรคชาติไทย ดูจะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายอย่างมาก

เพราะไม่มีคาดคิดว่า พล.อ.เปรมจะยอมลงจากตำแหน่ง

เนื่องจากโดยปกติแล้ว ผู้นำทหารไทยมักจะพยายามที่อยู่ในอำนาจต่อไป มากกว่าจะยอมถอยออกจากอำนาจ

และเมื่อขึ้นสู่อำนาจแล้ว หนึ่งในโจทย์สำคัญที่นายกฯ ชาติชายเผชิญก็คือ การจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องตระหนักว่า เสถียรภาพของรัฐบาลในระยะเปลี่ยนผ่านมักจะเผชิญกับความท้าทายเสมอ

รัฐบาลเปรมอาจจะมีขีดความสามารถในการควบคุมกองทัพ ซึ่งด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะการมี “แรงสนับสนุนพิเศษ” ที่เอื้อให้ พล.อ.เปรมสามารถเผชิญกับผู้นำการรัฐประหารได้

แต่อีกด้านก็เป็นเพราะตัวนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำทหาร และบรรดาผู้ก่อการล้วนแต่มีสถานะเป็น “ลูกป๋า” มาก่อน

รัฐประหารของลูกป๋าจึงมีข้อจำกัดในตัวเองอีกแบบ (ภาพของทหารที่เป็นผู้ก่อการรัฐประหารที่ล้มเหลวเข้ากราบขอขมาต่อ พล.อ.เปรมเป็นคำยืนยันที่ดี และเป็นสิ่งที่เกิดในรัฐบาลอื่นได้ยาก หรืออาจเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดกับรัฐบาลพลเรือนอื่นๆ ได้เลย)

ผลจากความล้มเหลวของการยึดอำนาจทั้งสองครั้งในปี 2524 และในปี 2528 ทำให้พลังของ “กลุ่มยังเติร์ก” สิ้นสภาพไป และเปิดโอกาสให้ “กลุ่ม จปร.5” ขึ้นสู่การคุมอำนาจในกองทัพ

ฉะนั้น ช่วงปลายยุคเปรมจึงเป็นเสมือนกับ “การผลัดใบ” ของผู้กุมอำนาจทหาร

การหมดพลังของกลุ่มนายทหารระดับกลางทำให้อำนาจถอยกลับไปอยู่ในมือของผู้นำทหารระดับสูงอีกครั้ง

และสิ่งที่เกิดตามมาคือ ความพยายามในการควบคุมการเติบโตของนายทหารระดับกลาง

ขณะเดียวกันก็เห็นถึงความพยายามในการ “รวมอำนาจ” (คือเกิดอาการที่เรียกว่า “power consolidation” ในกองทัพ) เพราะการเกิดและการขยายตัวของนายทหารระดับกลางในการเมืองไทย เป็นผลจากสภาพที่เป็นการ “กระจายศูนย์อำนาจ” ภายในกองทัพหลังปี 2516 14 ตุลาฯ เปลี่ยนธรรมชาติของกองทัพ

การรวมศูนย์อำนาจในกองทัพของกลุ่ม จปร.5 ในยุคหลังการสิ้นสภาพของกลุ่มยังเติร์ก (จปร.7) นั้น ทำให้ปัญหาทหารกับการเมืองไทยกลับมาสู่สภาวะแบบเก่า ที่การเมืองจะอยู่กับผู้นำทหารระดับบน และผลประโยชน์ของผู้นำทหารระดับสูงถือว่าเป็นผลประโยชน์หลักเชิงสถาบันของกองทัพ (corporate interests of the military)

อีกทั้งในบริบทของทหารไทยในยุคนั้น ความเป็นกลุ่มการเมืองของทหาร (cliques) ถูกสร้างจากความสัมพันธ์ที่เกิดจากการเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกัน หรือที่มีความหมายถึง การผูกพันที่เกิดจากการเป็น “รุ่นทหาร” ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในแนวราบของการเป็นนักเรียนทหารในปีเดียวกันในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เช่น จปร.5 และ จปร.7 เป็นต้น (ในอนาคตจะเป็นการนับรุ่นของการเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ที่เริ่มด้วย ตท.1)

การกลับสู่การเมืองแบบเก่าที่ผู้นำทหารระดับสูงเป็นผู้คุมอำนาจทางการเมืองในกองทัพ พาโจทย์แบบเก่ากลับเข้ามาสู่การเมืองไทย

ผู้นำรัฐบาลจำต้องพึ่งพานายทหารเหล่านี้ ด้วยความหวังว่าจะเป็นหนทางของการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่รัฐบาล

ฉะนั้น สิ่งที่เห็นได้ในยุคนี้ก็คือ การเติบโตของนายทหาร จปร.5 และ พล.อ.ชาติชายเชื่อมั่นว่า การสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้นำทหารในรุ่นนี้จะเป็นดังการค้ำประกันการอยู่รอดของตัวรัฐบาลเอง

เช่น มีการจัดเวทีที่นายกฯ จะได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้นำทหารอย่างใกล้ชิด อย่างน้อยเป็นความหวังว่า เวทีเช่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการยึดอำนาจ และขณะเดียวกันตัวนายกฯ ควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมด้วย

การสร้างความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่เคยมีสูตรตายตัวถึงความสำเร็จ การออกแบบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นความท้าทายอย่างมาก

และบททดสอบนี้มีเพียงประการเดียวว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับรัฐบาลแล้ว ปัญหาจะต้องไม่จบลงด้วยการรัฐประหาร

ความสำเร็จ-ความล้มเหลว

รัฐบาลชาติชายประสบความสำเร็จอย่างมากในงานด้านต่างประเทศ แม้ทิศทางของรัฐบาลใหม่จะแตกต่างรัฐบาลเปรม ที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามในกัมพูชาอย่าง “หัวชนฝา”

แต่รัฐบาลชาติชายกลับหันทิศทางนโยบายไปทางตรงกันข้าม ด้วยการเปิดการเจรจามากกว่าจะใช้การเผชิญหน้ากับทั้งฝ่ายเวียดนามและฝ่ายกัมพูชา

การจัดตั้งคณะที่ปรึกษาในชื่อ “บ้านพิษณุโลก” มีส่วนอย่างมากในการนำเสนอทิศทางใหม่ด้วยการ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”

และความสำเร็จในงานด้านการต่างประเทศเช่นนี้ กลายเป็น “แบรนด์” ของนายกฯ ชาติชาย จนทุกวันนี้เมื่อกล่าวถึงรัฐบาลชาติชาย ทุกคนจะนึกถึงนโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลพวงจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ผนวกกับการสิ้นสุดของสงครามภายในที่เกิดตั้งแต่ช่วงปลายยุคเปรม และยังได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายเศรษฐกิจทุนนิยมของรัฐบาลชาติชาย ส่งผลอย่างมากกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

จนกล่าวกันว่าเศรษฐกิจในยุคนี้เฟื่องฟูอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ความนิยมในรัฐบาลพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งบุคลิกของตัวนายกฯ ที่มีท่าทีแบบสนุกสนานและเป็นกันเอง ด้วยคำอธิบายว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ หรือเป็นดังคำขวัญในยุคนั้นว่า “โนพร็อบเบล็ม” (no problem) ทำให้เกิดกระแส “ชาติชายฟีเวอร์” ที่ดันให้คะแนนนิยมของรัฐบาลภายในหนึ่งปีแรกของการบริหาร สูงขึ้นอย่างเด่นชัด

ในที่สุดรัฐบาลพลเรือนที่นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งชุดแรกหลังปี 2519 ก็เผชิญกับโจทย์ชุดเก่า ที่แม้รัฐบาลจะประสบความสําเร็จในทางเศรษฐกิจและการต่างประเทศก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่จะคุ้มครองสถานะของรัฐบาลได้

ประเด็นความขัดแย้งที่ปรากฏชัดในที่สาธารณะและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาคือ คำวิจารณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง (รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ที่กล่าวว่า คุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ (ภรรยาของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) เป็น “ตู้ทองเคลื่อนที่” ส่งผลให้ พล.อ.ชวลิตลาออกจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายน 2533 และก่อตั้ง “พรรคความหวังใหม่” ขึ้นในเวลาต่อมา

อาการปีนเกลียวระหว่างรัฐบาลกับผู้นำทหารเช่นนี้ ทำให้ข่าวลือเรื่องการรัฐประหารก่อตัวขึ้นอีกครั้ง

แม้หลายคนจะเชื่อว่ารัฐประหารที่ล้มเหลวถึงสองครั้งในยุคเปรม จะทำให้ผู้นำทหารเลิกคิดถึงการยึดอำนาจแล้ว

แต่หลายคนเริ่มไม่เชื่อเมื่อความขัดแย้งเริ่มบานปลาย ด้วยการที่ทหารเข้าควบคุม “รถโมบายยูนิต” ที่ถูกมองว่ารัฐบาลเตรียมการตอบโต้การรัฐประหาร รถนี้เป็นของ อสมท และอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมนตรีเฉลิม

กลิ่นรัฐประหารโชยไปทั่วทั้งกรุงเทพฯ

เมื่อความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้น รัฐบาลพยายามสร้างภาพว่ามีมวลชนเป็นเกราะคุ้มกัน ด้วยการเปิดเวทีโจมตีผู้นำทหารที่ทำเนียบรัฐบาล

ฝ่ายทหารตอบโต้ด้วยการออกคำสั่งห้ามชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล และเรียกร้องให้ปลด ร.ต.อ.เฉลิมออกจากรัฐบาล

แต่ก็พยายามลดความขัดแย้งด้วยการปรับ ร.ต.อ.เฉลิมไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ผู้นำทหารตีความว่า รัฐบาล “เล่นเกม” เพียงย้าย ร.ต.อ.เฉลิมจากกระทรวงหนึ่งไปอีกกระทรวงหนึ่ง และเท่ากับว่ารัฐบาลไม่สนใจข้อเรียกร้องของฝ่ายทหารที่ต้องการให้ปลดออกจากคณะรัฐมนตรี

แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็จำต้องปลดออก เพราะทนแรงกดดันของฝ่ายทหารไม่ได้

ซึ่งอาจเปรียบในทางทฤษฎีได้ว่า เป็นดังการ “แบล๊กเมล์” ของผู้นำทหารที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แต่ในความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงนั้น ต่างฝ่ายต่างเกิดความหวาดระแวง และมองอีกฝ่ายเป็นภัยคุกคามที่จะต้องกำจัดออกไป

แล้วการเตรียมการก็เริ่มขึ้น

จุดสุดท้าย

สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพเริ่มทรุดลง ข่าวลืออีกส่วนที่แพร่กระจายอย่างมากคือ รัฐบาลต้องการปลดผู้นำทหารที่มีท่าที “กระด้างกระเดื่อง” และอีกด้านก็มีการดึงพรรคปวงชนชาวไทยของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เข้าร่วมรัฐบาล

ซึ่งผู้นำทหารตีความโดยทันทีว่ารัฐบาลต้องการนำเอานายทหารที่อาวุโสกว่าเข้ามาเป็น “ผู้ควบคุมกองทัพ” และ พล.อ.อาทิตย์จะเป็นผู้ที่เข้ามาโยกย้ายนายทหารระดับสูงเหล่านี้ออกจากตำแหน่ง

แน่นอนว่าในความสัมพันธ์ที่ทรุดลงเช่นนี้ ข่าวลือเรื่องรัฐประหารของผู้นำ จปร.5 เป็นที่คาดการณ์ว่าคงจะเกิดในระยะเวลาไม่นานข้างหน้า

ผู้นำทหารมีความเชื่ออย่างมากว่า พล.อ.อาทิตย์จะเป็นผู้ออกคำสั่งปลด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก… แล้วกลไกของการรัฐประหารก็เริ่มขับเคลื่อน

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ผู้นำทหารตัดสินใจปฏิบัติการ “จี้” นายกรัฐมนตรี พล.อ.อาทิตย์และคณะที่รออยู่บนเครื่องซี-130 ที่เตรียมเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ ที่เชียงใหม่ ด้วยความเชื่อว่ารัฐบาลกำลังเตรียมนำรายชื่อโยกย้ายพวกตนขึ้นทูลเกล้าฯ…

ในที่สุดรัฐประหารก็หวนคืนกลับสู่การเมืองไทยอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ!